ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Lemman105/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปราสาทเปือยน้อย บ้านหัวขัว ตำบลเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น ปราสาทเปือยน้อย ที่ตั้ง บ้านหัวขัว ตำบลเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น พิกัดแผนที่ แผนที่ระวาง 5540 I มาตราส่วน 1 : 50,000

                  พิมพ์ครั้งที่  1 -RTSD  ลำดับชุด  L  7017
                  พิกัดกริด  48  PTC  766565
                  เส้นรุ้ง  ๑๕  องศา  ๕๒  ลิปดา  ๔๒  ฟิลิปดา  เหนือ
                  เส้นแวง  ๑๐๒  องศา  ๕๔  ลิปดา  ๔๖  ฟิลิปดา  ตะวันออก

สิ่งสำคัญที่ขึ้นทะเบียน

                  ๑.ปราสาท  ๓  หลัง
                  ๒.บรรณาลัย
                  ๓.โคปุระ
                  ๔.กำแพงแก้ว
                  ๕.คูน้ำรูปเกือกม้า

ประวัติสังเขป

                   แต่เดิมเป็นโบราณสถานร้างที่ปรักหักพังอย่างมาก  มีชิ้นส่วนทับหลังและหน้าบันที่สลักลวดลายรูปบุคคลและพันธุ์พฤกษาตกหล่นกระจายอยู่  ในปี พ.ศ.๒๔๗๒  พระอาจารย์ปู  และนายน้อยจึงเป็นผู้นำในการสร้าง " วัดธาตุกู่ทอง " ในบริเวณใกล้ ๆ ปราสาท  ต่อมาภายหลังกรมศิลปากร  ได้ดำเนินการขุดแต่ง  บูรณะ  และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์  ให้สวยงามและแข็งแรงมั่นคงดังในสภาพปัจจุบัน

ลักษณะรูปแบบศิลปกรรม

                  ปราสาทเปือยน้อยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู  ประกอบด้วยกลุ่มปราสาทอิฐ  ๓  หลัง  ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ที่มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้มีอาคารบรรณาลัย  ๑  หลัง  มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบต่อเชื่อมกับโคปุระ  หรืออาคารประตูซุ้มทั้งด้านทิศตะวันออก  และทิศตะวันตก  และมีคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง  ถัดออกมาด้านหน้ามีชาลาที่ยกระดับสูงกว่าเบื้องล่าง  ถัดออกไปทางด้านทิศตะวันออก ( อีกฟากถนน ) มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่  เรียกว่า " สระวงษ์ "
                  จากการดำเนินงานขุดแต่งบูรณะได้พบองค์ประกอบโบราณสถานที่สำคัญหลายชิ้น  เช่น
                  ๑.จารึกที่เสากรอบประตูปราสาทประธาน ( ปราสาทหลังกลาง ) จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ  ภาษาสันสกฤต  ๔  บรรทัด  เนื้อหากล่าวถึง " นักบวชมุนีสุวันตยะและฤษีไวศัมปายนะ  และการจัดพิธีบูชายัญ "
                  ๒.แผ่นทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์  อยู่เหนือกรอบประตูด้านหน้าของปราสาทประธาน
                  ๓.แผ่นทับหลังรูปคชลักษมี  อยู่เหนือกรอบประตูด้านหลังของปราสาทบริวารองค์ทิศเหนือ
                  ๔.แผ่นทับหลังรูปเทพประทับนั่งถือพระขรรค์  ด้านหลังอาคารบรรณาลัย
                  ๕.หน้าบันรูปอุมามเหศวร ( รูปพระศิวะกับนางอุมาประทับนั่งบนหลังโคนนทิ  ที่ด้านหลังอาคารบรรณาลัย ) เป็นต้น

อายุสมัย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ รูปแบบศิลปะแบบบาปวน - นครวัด ในสมัยวัฒนธรรมเขมร

                  ศิลาจารึก  กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่  ๑๗

ประเภทโบราณสถาน

                  ศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์  หรือฮินดู

ลักษณะการใช้งานในปัจจุบัน

                  โบราณสถานเป็นที่เคารพสักการะของท้องถิ่น  และบุคคลทั่วไป  อำเภอเปือยน้อยจัดงานประจำปี  ในช่วนเทศกาลสงกรานต์

การดำเนินงาน

                  กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะด้วยวิธีอนัสติโลซิส  ระหว่างปี  พ.ศ.๒๕๓๔ – ๒๕๓๗

การขึ้นทะเบียน

                  ๑.กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ  ในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  ๕๒  วันที่  ๘  มีนาคม  ๒๔๗๘  ระบุว่า " กู่  หรือ  อาศรม  อำเภอพล  ตำบลเปือยน้อย "
                  ๒.กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ  ในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  ๕๘  วันที่  ๑๘  มีนาคม  ๒๔๘๔  ระบุว่า " ปรางค์ ( อยู่ที่บ้านหัวขวา ) อำเภอบ้านไผ่  ตำบลเปือยน้อย "
                  ๓.กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน  ในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  ๙๙  ตอนที่  ๑๗๒  วันที่  ๑๘  พฤศจิกายน  ๒๕๒๕  ระบุว่า " ตามที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถานกู่  หรือ  อาศรม ( อยู่ที่บ้านหัวขัว )  ตำบลเปือยน้อย  อำเภอพล  จังหวัดขอนแก่น  ปัจจุบัน  คือ  ปราสาทเปือยน้อย ( วัดธาตุกู่ทอง )  อยู่ในท้องที่กิ่งอำเภอเปือยน้อย  โดยมิได้กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน  จึงกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานกู่  หรืออาศรมอยู่ที่บ้านหัวขัว  หรือปราสาทเปือยน้อย ( วัดธาตุกู่ทอง ) ตำบลเปือยน้อย  กิ่งอำเภอเปือยน้อย  จังหวัดขอนแก่น  พื้นที่ประมาณ  ๘  ไร่  ๒  งาน  ๕๒  ตารางวา "

ที่มาของข้อมูล

                  ๑.ราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  ๕๒  วันที่  ๘  มีนาคม  ๒๔๗๘  หน้า  ๓๖๘๑
                  ๒.ราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  ๕๘  วันที่  ๑๘  มีนาคม  ๒๔๘๔  หน้า  ๕๘๖
                  ๓.ราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  ๙๙  ตอนที่  ๑๗๒  วันที่  ๑๘  พฤศจิกายน  ๒๕๒๕  ฉบับพิเศษ  หน้า  ๓๕
                  ๔.ศาสตราจารย์  หม่อมเจ้า  สุภัทรดิศ  ดิศกุล , ของดีในจังหวัดขอนแก่น , เอกสารอัดสำเนา , ๒๕๔๐.
                  ๕.อรุณศักดิ์  กิ่งมณี , ปราสาทเปือยน้อย , โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา , ๒๕๔๐.
                  ๖.สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่  ๗  ขอนแก่น , โบราณคดีอีสานบน , เอกสารอัดสำเนา , ๒๕๔๓.
                  ๗. สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่  ๗  ขอนแก่น , สมบัติศิลป์บนแผ่นดินอีสาน , ขอนแก่นการพิมพ์ , ๒๕๔๐.

หมายเหตุ ชื่อ เปือยน้อย เรียกตามชื่อพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่ขึ้นบริเวณปราสาท คือ ต้นเปือย หรือ ต้นตะแบกนั่นเอง