ผู้ใช้:Jassadakhon/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้าขจรศุภสวัสดิ์ นันทวัน
หม่อมเจ้าขจรศุภสวัสดิ์ นันทวัน

ประสูติ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๒๓

สิ้นชีพิตักษัย วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๔๙๖

พระประวัติ

หม่อมเจ้าขจรศุภสวัสดิ์ นันทวัน เป็นโอสรพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านันทวัน หม่อมเชยเป็นมารดา ประสูติที่วังท่าช้างวังหน้าฝ่ายพระราชวังบวร เมื่อวันจันทร์ขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๒ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ ตรงกับวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๒๓ มีน้องร่วมหม่อมมารดาอีก ๒ องค์ คือหม่อมเจ้าหญิงโอภาษจรัสพักตรพิมล ซึ่งยังมีพระชนม์อยู่ในเวลานี้ (ปี ๒๔๙๖) และหม่อมเจ้าภาคโสภณพูลพิพัฒน์ ซึ่งได้สิ้นชีพิตักษัยเสียเมื่อทรงพระเยาว์ เมื่อทรงพระเยาว์ได้ทรงรับการศึกษาเบื้องต้น ณ วังที่ประทับตามประเพณีเจ้านายสมัยก่อน ต่อมาได้ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก แต่ไม่จบหลักสูตรของโรงเรียน ได้ลาออกมารับราชการสนองพระเดชพระคุณเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๓๘ เวลานั้นมีพระชนม์ประมาณ ๑๖ พรรษา เมื่อทรงเริ่มเข้ารับราชการ เป็นเสมียน สังกัดกรมกองตระเวนกระทรวงนครบาล

วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๐ ย้ายไปเป็นเสมียนของเสนาดีกระทรวงนครบาล

วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๑ เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานผลประโยชน์ กรมสรรพากร กระทรวงนครบาล

วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๕ ย้ายไปเป็นเจ้าพนักงานผลประโยชน์กรุงเทพฯ

วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ เลื่อนขึ้นเป็นข้าหลวงรักษาราชการเมืองปทุมธานี

วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี

วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกรม กรมปลัดบัญชี กระทรวงมหาดไทย

วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ย้ายไปดำรงตำแหน่งปลัดกรมประชาบาล กระทรวงมหาดไทย

วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการ กองบุราภิบาลกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย

ในระหว่างรับราชการ ทรงบำเหน็จความชอบในราชการหลายครั้ง คือ

๑. เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๖ ขณะรับราชการตำแหน่งเจ้พนักงานผลประโยชน์กรุงเทพฯ ได้จัดการผูกปี้จีนจนเป็นที่เรียบร้อย ไม่มีเหตุการณ์วิวาทอย่างไร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย เป็นบำเหน็จความชอบ

๒. เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ ขณะรับราชการตำแหน่งข้าหลวงรักษาราชการเมืองปทุมธานี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นและประทับแรม ณ เมืองปทุมธานี ได้มีพระราชกระแสถามถึงวิธีจัดการปกครองเมือง หม่อมเจ้าขจรศุภสวัสดิ์นันทวัน ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาเข้าพระราชหฤทัยเป็นที่เรียบร้อย ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จัตุรถาภรณ์ช้างเผือกและพระราชทานดุม จ.ป.ร. ทองคำลงยา ๑ สำรับ เป็นบำเหน็จความชอบ

๓. เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๑ ได้ทำลายสำนักโจรผู้ร้ายที่จังหวัดธัญญะบุรี และจับตัวหัวหน้าโจรผู้ร้ายได้ส่งศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตริตาภรณ์มงกุฎไทย เป็นบำเหน็จความชอบ

๔. เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเข้มแข็งและปราบปรามโจรผู้ร้ายในจังหวัดนนทบุรีให้สงบราบคาบและเรียบร้อย ทั้งได้ช่วยเหลือจัดทำทำนบกั้นน้ำ อันเป็นประโยชน์แก่ชาวนา ทำให้การทำนาของชาวนาได้ผล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตริตาภรณ์ช้างเผือกเป็นบำเหน็จความชอบ ส่วนเงินเดือน เมื่อเข้ารับราชการ ทรงได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒๐ บาท แล้วได้เลื่อนขึ้นเป็นลำดับถึงเดือนละ ๕๒๐ บาท สำหรับยศเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้รับพระราชทานยศรองอำมาตย์เอก และหุ้มแพร

เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นอมาตย์ตรีและ

เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นอำมาตย์โท

นอกจากยศในทางพลเรือน ได้รับพระราชทานยศในฐานที่เป็นเสือป่า คือ

๑. เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๓ ได้รับพระราชทานยศเสือป่านายหมู่ตรี

๒. เมื่อเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๔๕๕ ได้เลื่อนยศขึ้นเป็นนายหมู่โท

๓. เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ ได้เลื่อนยศขึ้นเป็นนายหมู่เอก

๔. เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ ได้เลื่อนยศขึ้นเป็นนายหมวดโทเหล่าเสนา

๕. เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๑ ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปสังกัดกองบังคับการกรมพรานหลวง รักษาพระองค์ และได้รับพระราชทานยศเท่าเดิม

๖. วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศขึ้นเป็นนายหมวดเอก สังกัดกองบังคับการกรมเสือป่าพรานหลวง รักษาพระองค์


เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้รับพระราชทานเหรียญรัชฎาภิเษก

พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้รับพระราชทานเหรียญที่ระลึกในการเสด็จประพาสยุโรป

พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าฯ

พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้รับพระราชทานเหรียญทวีธาภิเษก (ทอง)

พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย

พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก

พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จัตุรถาภรณ์ตริตาภรณ์มงกุฎไทย

พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้รับพระราชทานเหรียญรัชมังคล (ทอง)

พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้รับพระราชทานเหรียญรัชมังคล (ทอง)

พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้รับพระราชทานเข็มพระชนมายุ (เงิน)

พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้รับพระราชทานเข็มไอยราพต (เงิน)

พ.ศ. ๒๓๕๔ ได้รับพระราชทานเหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๖ (ทอง)

พ.ศ.๒๔๕๕ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตริตาภรณ์ช้างเผือก

พ.ศ.๒๔๙๓ ได้รับพระราชทานเหรียญบรมราชาภิเษก (ทอง) รัชกาลที่ ๙

หม่อมเจ้าขจรศุภสวัสดิ์ นันทวัน ทรงรับราชการถึงสิ้น พ.ศ.๒๔๖๖ จึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เพื่อรับพระราชทานบำนาญ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๗ ส่วนกิจการส่วนพระองค์ได้ทรงสมรสกับนางสาวเกตุ ธิดาพระโทณวนิกประสิทธิ์ศักดิ์สมุทรเขต ปลัดเมืองสมุทรปราการ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ ต่อมาหม่อมเกตุถึงแก่กรรม ได้ทรงสมรสกับนางสาวถนอม โทณวนิก บุตรีนายเล็กเจ้าของโรงรับจำนำฮัวเส็ง ถนนพาหุรัตน์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ นอกนี้มีหม่อมอื่นอีกคือ หม่อมล้วน หม่อมผิว และหม่อมเพียร ทรงมีโอรสธิดาที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้นับเรียงตามลำดับอายุ คือ

1. ม.ร.ว. เกื้อกมล สวัสดิสรยุทธ ภรรยา พล.โท หลวงสวัสดิ์สรยุทธ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

2. ม.ร.ว. กอแก้ว นันทวัน ทั้งสองนี้หม่อมเกตุเป็นมารดา

3. ม.ร.ว. สุภาพัฒน์ พจนสัจ ภรรยานายพิชาญ พจนสัจ เลขานุการ กรมมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์ฯ หม่อมล้วนเป็นมารดา

4. ม.ร.ว. นวลขจร กมลยะบุตร ภรรยาหลวงอรรถกมลยบุตยานุวัตร ผู้อำนวยการกองอัยการ กรมอัยการ

5. ม.ร.ว. นัดดา นันทวัน

6. ม.ร.ว. จันทมาศ นันทวัน

7. ม.ร.ว. ศุภผล นันทวัน หม่อมผิวเป็นมารดา

8. ม.ร.ว. อนันต์ นันทวัน

9. ม.ร.ว. นันทนา นันทวัน

10. ม.ร.ว. โกมุทสวัสดิ์ หรือวีระ นันทวัน

หมายเลข ๔,๕,๖,๘,๙ และ ๑๐ หม่อมถนอมเย็นเป็นมารดา

11. ม.ร.ว. สุขพันธ์ นันทวัน

12. ม.ร.ว. จันทนขจร นันทวัน

13. ม.ร.ว. พรสวัสดิ์ นันทวัน

ทั้งสามนี้หม่อมเพียรเป็นมารดา

หม่อมเจ้าขจรศุภสวัสดิ์ นันทวัน ทรงมีพระนิสัยอ่อนโยนโอบอ้อมอารีแก่บุคคลทั่วไป ไม่ทรงถือพระองค์ เมื่อได้ทรงลาออกจากราชการแล้ว ทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างเงียบๆตลอดมาจนถึงพุทธศักราช ๒๔๙๖ ได้ประชวรด้วยพระโรคชรา แพทย์ได้ถวายการรักษาพยาบาลจนถึงวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๔๙๖ พระอาการได้กำเริบ และสิ้นชีพิตักษัยเมื่อเวลา ๗.๔๐ น. ของวันนั้น ณ วังที่ประทับเชิงสะพานเสี้ยว ถนนจักรพงส์ ด้วยพระอาการอันสงบ สิริรวมพระชนมายุ ๗๓ พรรษา ที่มา : พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าขจรศุภสวัสดิ์ นันทวัน ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๙๖ คัดลอกโดย รองศาสตราจารย์ ดร.หม่อมหลวงโอภาษจรัส นันทวัน (๒๕๖๓)

คำนำ

หม่อมราชวงศ์หญิงนวลขจร กมลยะบุตร ได้มอบฉันทะให้หลวงอรรถกมลยบุตรยานุวัตร ผู้สามี มาแจ้งความ ณ หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรว่า มีความประสงค์จะพิมพ์หนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าขจรศุภสวัสดิ์ นันทวัน ผู้เป็นพระบิดา และใคร่จะได้เรื่องที่เกี่ยวข้องด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะหม่อมเจ้าขจรศุภสวัสดิ์ นันทวัน ผู้สิ้นชีพิตักษัย เป็นโอรสในพระเจ้าราชวงศ์เธอพระองค์เจ้านันทวัน ผู้เป็นต้นตระกูล “นันทวัน” ซึ่งเป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าหน้าที่ได้เลือกเรื่องที่เกี่ยวข้องด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่ได้ค้นพบมีอยู่ทั้งสิ้นรวม ๕ เรื่อง คือ

1. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งหอสมุดแห่งชาติได้เคยพิมพ์รวมไว้ในหนังสือพระบวรราชประวัติและพระบวรราชนิพนธ์

2. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งหอสมุดแห่งชาติได้เคยพิมพ์รวมไว้ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๓ ว่าด้วยตำนานวังหน้า

3. ตำราปืนใหญ่

4. เพลงยาวและสักวา

5. พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงค่อนข้าราชการวังหน้า

หนังสือ ๓ เรื่องหลังเป็นฝีพระโอษฐ์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งหอสมุดแห่งชาติได้เคยตีพิมพ์ไว้แล้ว เจ้าภาพชอบใจเรื่อง “พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระราชนิพนธ์และทรงพิมพ์ไว้ จึงขออนุญาตินำเรื่องทั้งสองนี้ไปจัดพิมพ์รวมไว้เป็นหนังสือเล่มเดียวกัน เพื่อให้เป็นความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมศิลปากร เห็นชอบด้วยความดำริของเจ้าภาพ จึงอนุญาตให้จัดพิมพ์ได้ตามความประสงค์ ก็พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเป็นพระอนุชาธิราชแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๔ ร่วมพระราชชนนีเดียวกัน คือกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาโปรดปรานเป็นอันมาก ถึงกับเมื่อโปรดให้เป็นพระมหาอุปราช ณ พระบวรราชวัง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระเกียรติยศเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดินสมด้วยคำในเพลงยาวและสักวาที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงไว้ว่า “เราท่าองรองภูมินทร์นามปิ่นเกล้า คิดบทเกลาไว้เป็นกลอนสุนทรสนอง เป็นคติควรดำริขอเชิญตรอง ตามทำนองโบราณราชประเพณี” พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความรู้วิชาการทั้งทหารบก ทหารเรือ และวิชาการก่อสร้างและเครื่องกล ได้ทรงแต่งตำราปืนใหญ่ไว้เล่มหนึ่ง โดยเคยทรงบังคับบัญชาทหารปืนใหญ่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและทรงสร้างเครื่องเรือกลไฟขึ้นได้ในประเทศเป็นเครื่องแรก เมื่อเสด็จไปประทับที่วังหน้านั้น วังหน้ารกร้างหักพังมากถึงออกพระโอษฐ์ว่า “เออ อยู่ดีๆ ก็ให้มาเป็นสมภารวัดร้าง” จึงต้องทรงจัดการซ่อมแซมเป็นการใหญ่ นอกจากนี้มีเสียงเล่าลือกันว่าทรงพอพระทัยในวิชาไสยศาสตร์อาคมเวทมนต์คาถา บ้างว่าทรงหายพระองค์ได้ บ้างว่าเสด็จเหยียบเรือฝรั่งเอียง ฉะนั้นการที่เจ้าภาพได้จัดพิมพ์พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแจกเผยแพร่ เป็นวิทยาทาน จึงเป็นการสมควรยิ่ง กรมศิลปากรขอนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณานุปทาน ซึ่งเจ้าภาพได้บำเพ็ญเพื่ออุทิศผลถวายแด่ หม่อมเจ้าขจรศุภสวัสดิ์ นันทวัน เป็นการสนองคุณพระบิดาด้วยความกตัญญูกตเวที ขออำนาจแห่งกุศลทั้งหลายทั้งปวง จงสัมฤทธิผลบันดาลให้สำเร็จหิตสุขอิฐวิบุลมนุญผลแด่ หม่อมเจ้าขจรศุภสวัสดิ์ นันทวัน ผู้สิ้นชีพิตักษัยไปตามควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพทุกประการ เทอญ

กรมศิลปากร ๔ กรกฎาคม ๒๔๙๖