ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Fahkram/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประวัติ หลวงศรีสุพรรณราช (แสวง ศรีสุพรรณราช)

[1]

นามเดิมของคุณพ่อ คือ “แสวง จันทนมณี” เป็นบุตรนายจันทรและนางเชย จันทนมณี กำเนิดเมื่อวันอังคารที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๔ ตรงกับปีเถาะ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๒ ณ ตำบลบ้านมหาไชย จังหวัดสมุทรสาคร คุณพ่อมีพี่น้องทั้งหมด ๔ คน คือ ๑.คุณลุงฉิม ๒.คุณป้าเจียม ๓.คุณป้าก๊ก ๔.คุณหลวงศรีสุพรรณราช

  บรรดาพี่น้องทุกคนนั้น ได้ถึงแก่กรรมก่อนคุณพ่อไปทั้งหมดแล้ว ชีวิตในเยาว์วัยของคุณพ่อเป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้กับความยากลำบากมาด้วยตนเองแต่เล็กแต่น้อย เมื่ออายุประมาณ ๑๓ ปี คือใน พ.ศ. ๒๔๔๘ คุณพ่อมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพ ฯ ในขณะนั้นได้บวชเป็นสามเณร ด้วย และเรียนอยู่กับท่านเจ้าคุณวิเชียรธรรมคุณาจารยที่วัดโมฬีโลก (ชาวบ้านเรียกว่าวัดท้ายตลาด) จนกระทั่งสำเร็จหลักสูตรชั้นประโยคประถมบริบูรณ์ (อย่างเก่า) จากนั้นได้บวชเป็นพระภิกษุเมื่ออายุครบบวช ที่วัดใหม่คล้ายนิมิตร ปากคลองมหาไชย จังหวัดสมุทรสาคร โดยที่มารดาของคุณพ่อเป็นผู้อุปการะพระธรรมยุติที่นิมนต์มาอยู่ เมื่อลาสิกขาบทแล้ว ได้เข้ามารับราชการในกรุงเทพ ฯ ที่กรมจำนวน กระทรวงการคลัง เริ่มต้นด้วยตำแหน่งเสมียนโท เป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ในปีต่อมาเมื่อตำแหน่งเสมียนตรีว่างลงจึงกลับมาดำรงตำแหน่งเสมียนตรี ๑ ปี แล้วจึงเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งเสมียนโท ๖ ปี ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นนายตรวจชั้น ๒ ของกรมตรวจเงินแผ่นดิน 

ขณะทำงานในตำแหน่งเสมียนนั้น คุณพ่อมีความขยัน หมั่นเพียร สนใจ และฝึกฝนตนเองอยู่เสมอที่จะเพิ่มพูนวิชาความรู้ ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป จึงได้ใช้เวลากลางคืนซึ่งว่างจากกิจการงาน อุสาหะเรียนวิชาภาษาต่างประเทศเพิ่มเติมที่ “สามัคยาจารย์สมาคม” จนได้สำเร็จภาษาอังกฤษชั้น ๕ ประกอบกับความซื่อสัตย์สุจริต ความละเอียดถี่ถ่วนและความตั้งใจดีมีมานะพยายามในการประกอบกิจงานในหน้าที่ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรเกล้า ฯ ให้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ขึ้นโดยลำดับทุกปีจนกระทั่งให้เป็นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ และรับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งนี้เรื่อยมาจนกระทั่งได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ เพื่อประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม

  ขณะที่รับราชการอยู่นั้นได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ตามลำดับดังนี้

วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้รับพระราชทานยศ เป็น รองอำมาตย์ตรี วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้รับพระราชทานยศ เป็น รองอำมาตย์โท วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้รับพระราชทานยศ เป็น รองอำมาตย์เอก วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้รับพระราชทานยศ เป็น อำมาตย์ตรี วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น ขุนศรีสุพรรณราช วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น หลวงศรีสุพรรณราช

  เครื่องราชอิสสริยาภรณ์และเกียรติยศที่ได้รับ

วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้รับพระราชทานเบญจมาภรณ์ มงกุฎไทย (บ.ม.) วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้รับพระราชทานเบญจมาภรณ์ ช้างเผือก (บ.ช.) วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้รับพระราชทานจตุรถาภรณ์ มงกุฎไทย (จ.ม.) วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้รับพระราชทานจตุรถาภรณ์ ช้างเผือก (จ.ช.) วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้รับพระราชทานตริตาภรณ์ มงกุฎไทย (ต.ม.) วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้รับพระราชทานเหรียญจักรพรรดิ์มาลา (ร.จ.พ.) วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้รับพระราชทานตริตาภรณ์ ช้างเผือก (ต.ช.)

  ในระยะหนึ่งของการปกครองแบบประชาธิปไตยนี้ ได้มีการยกเลิกบรรดาศักดิ์ เพื่อเป็นการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในยุคนั้น คุณพ่อจึงได้ขอใช้บรรดาศักดิ์เป็นนามสกุล และได้รับการอนุมัติ จึงได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น “ศรีสุพรรณราช” มาจนทุกวันนี้ แม้ในระยะหลังจะได้มีการใช้ราชทินนามใหม่อีกก็ตาม
  คุณพ่อเป็นผู้ที่มีความสนใจ ขวนขวายในกิจกรรมทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านเกษตรกรรม ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้เป็นผู้ริเริ่มร้านค้าขายเครื่องมือและเครื่องใช้ในการกสิกรรมขึ้นเป็นร้านแรก ใช้ชื่อว่า “ตราสตางค์” ซึ่งนักกสิกรรมสมัยนั้นรู้จักชื่อเป็นอย่างดี แต่ขณะนั้นทางราชการไม่อนุญาตให้ข้าราชการทำการค้าขาย คุณแม่คือ นางสำเภา ศรีสุพรรณราช จึงเป็นผู้ดำเนินกิจการทั้งปวง โดยมีคุณพ่อเป็นผู้ ให้คำแนะนำช่วยเหลือ

คุณพ่อรักงานทางด้านเกษตรกรรมนี้มาก แม้จะรับราชการทางด้านบัญชีก็ตาม ได้มีความใฝ่ฝันอยู่เสมอที่จะได้เป็นเจ้าของสวนหรือฟาร์มสักแห่งหนึ่ง เนื่องจากตำแหน่งหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ทำให้ต้องออกตรวจราชการต่างจังหวัดอยู่เสมอ และต้องอยู่แห่งละนานวัน จึงยังไม่มีโอกาสให้จับงานทางด้านกสิกรรมอย่างจริงจัง แม้กระนั้นด้วยใจรัก ก็ได้จับจองที่ดินที่ตำบลดงบัง จังหวัดปราจีนบุรีไว้ ตั้งแต่ครั้งการเดินทางยังยากลำบาก เพราะยังไม่มีรถไฟไปถึง ได้ลงทุนทำไร่ในที่ดินแห่งนั้นอยู่พักหนึ่ง แต่ไม่ประสพความสำเร็จแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะไม่มีเวลาที่จะไปควบคุมด้วยตนเอง และความรู้ทางด้านกสิกรรมมียังไม่เพียงพอ แต่คุณพ่อไม่เคยท้อถอยหรือหมดความมานะพยายาม กลับเป็นการกระตุ้นให้ศึกษาหาความรู้ทางด้านนี้เพิ่มขึ้น จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๘๙ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงแล้ว คุณพ่อได้กราบถวายบังคมลาจากราชการ เพื่อขอรับพระราชทานบำนาญ และในระยะนี้เองที่ท่านได้มีโอกาสอย่างเต็มที่ในการประกอบกิจทางด้านกสิกรรม คุณพ่อเคยปรารภ เสมอมาว่า “การทำกสิกรรมก็ทำให้มีการอยู่ดีกินดีได้เหมือนกัน ถ้าทำถูกวิธีและโอกาส” ในขณะนั้นเผอิญได้รับการชักชวนจากเพื่อนฝูงหลายท่าน ให้ไปทำไร่ที่จังหวัดจันทบุรี จึงได้เดินทางไปดูและตัดสินใจซื้อที่ดินที่นั่น ในระยะแรกได้ทำการปลูกอ้อยและทำน้ำตาลทรายอยู่สามปี มีการขาดทุนทุกปี เพราะราคาน้ำตาลลด เนื่องจากยังไม่มีการจำกัดการสั่งน้ำตาลเข้าในประเทศ และอีกประการหนึ่งมีทุนรอนไม่เพียงพอจะขยายงานใหญ่โตได้ จึงหันมาปลูกส้มเขียวหวานและยางพาราแทนเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นก็มีเงาะมังคุด และทุเรียนอยู่บ้าง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ และอีก ๕ ปีต่อมา ส้มก็ให้ผลแต่ไม่สมบูรณ์ เกิดอุปสรรคต่างๆหลายอย่าง คุณพ่อได้พยายามปรับปรุงแก้ไข โดยการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองจากตำราจากต่างประเทศบ้าง ขอความช่วยเหลือจากผู้ทรงคุณวุฒิฯและเชี่ยวชาญในด้านเกษตรกรรมบ้าง เป็นต้นว่า อาจารย์เริ่ม บูรณฤกษ์ อาจารย์อารี แก้วงาม และอีกหลายท่านที่ได้ให้คำช่วยเหลือแนะนำ จนส้มได้ผลเป็นที่พอใจ ผลประโยชน์ที่ได้มาทั้งหมดนั้นได้กลับทุ่มเทลงไปในการปรับปรุงสวนส้มให้เจริญยิ่งขึ้นทั้งสิ้น โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนตัวเลย คุณพ่อรักและฝังจิตใจอยู่กับไร่ที่จันทบุรีอย่างจริงจัง จนกระทั่งเคยปรารภกับลูกว่า ถ้าหากท่านหาชีวิตไม่แล้ว ก็ขอให้ฝังร่างของท่านไว้ที่สวนจันทบุรีนี้ พร้อมทั้งได้กำหนดสถานที่ไว้อย่างเรียบร้อย

  โดยปกติคุณพ่อเป็นผู้มีร่างกายแข็งแรง อดทน และบึกบึน มีสุขภาพดีเสมอมา มีอุปนิสัยซื่อสัตย์โอบอ้อมอารี เป็นที่ชอบพอทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย ท่านเป็นผู้มีความยุติธรรมและมีใจบุญสุนทาน ในวันพระ ท่านไปฟังเทศน์และรับเวรวัด จัดหาภัตตาหารถวายพระในวันเข้าพรรษา โดยตลอดมา คุณพ่ออยู่ในศีลในธรรม และสามารถปฎิบัติจิตใจได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ท่านมีสุขภาพดีทั้งทางจิตใจและร่างกายเสมอมา จนกระทั่งประมาณ ๒๐ ปีมานี้ เริ่มมีอาการป่วยทางตาและได้ไปรับการรักษาที่ ร.พ.จุฬาลงกรณ์ จึงได้ทราบว่าเป็นโรคเบาหวานด้วย ซึ่งก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้ทำการรักษาทันทีและพยายามปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัดตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และสนใจค้นคว้าอ่านบทความของวงการแพทย์ที่มีเรื่องเกี่ยวกับโรงเบาหวาน เช่นจากข่างการแพทย์ เป็นต้น จนท่านมีความรู้ถึงสาเหตุการดำเนินขั้นต่อไปของโรค ตลอดจนกระทั่งวิธีปฎิบัติรักษาตน คุณพ่อมีความละเอียดถี่ถ้วน ช่างสังเกตุจดจำอาการ และระมัดระวังในเรื่องอาหารเป็นอย่างยิ่ง อาหารของคุณพ่อไม่มีอาหารจำพวกแป้งหรือข้าวเลย ได้ทนรับประทานถั่วเขียวแทนข้าวอยู่ตลอดมา พร้อมกับอาหารจำพวก เนื้อ และผัก โดยการปฎิบัติตนเช่นนี้ ทำให้ควบคุมอาการเบาหวานได้โดยไม่ต้องใช้ยาเป็นประจำ แต่อย่างไรก็ตาม โรคเอาหวานนั้นก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ เมื่อนานปีเข้าท่านก็ได้รับการทรมานเพิ่มขึ้นจากโรค “ต้อหิน” และ “ต้อกระจก”  ทำให้ตามองไม่เห็น แม้จะได้ทำการรักษาผ่าตัดก็ไม่เป็นผล คุณพ่อหมดโอกาสที่จะใช้สายตาตามปกติ เป็นเหตุให้ได้รับการทรมานทางด้านจิตใจเป็นอันมาก เพราะท่านเป็นผู้ชอบค้นคว้าในการอ่านและเขียนอยู่เป็นประนิจ แม้สายตาจะมองไม่เห็น อ่านหนังสื่อไม่ได้ท่านก็ไม่เคยละทิ้งความพยายามในการค้นคว้าปรับปรุงสวน ท่านใช้ให้ลูกๆอ่านตำราและเป็นผู้เขียนแทนท่าน (คุณพ่อมีสมุดไดอารี่ประจำตัวเสมอ บันทึกงานประจำวัน การทดลองปลูกพืชผลในไร่ และวันใดปรากฎผลดี หรือเสียควรแก้ไขอย่างไร จนกระทั่งอาการเจ็บไข้ได้ป่วย และได้รับยาขนานใดบ้างและสมุดเล่มนี้ท่านเรียกหาอยู่ทุกวัน ตราบจนกระทั่งพูดไม่ได้) 
     คุณพ่อเริ่มมีอาการป่วยด้วยไข้จับสั่นประมาณ ๕-๖ เดือนก่อนและได้รับการรักษาเป็นอย่างดีที่ร.พ.จันทบุรี จนอาการทุเลาและหายเป็นปกติอยู่ระยะหนึ่ง ต่อจากนั้นเริ่มมีอาการลิ้นชา ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แต่หลังจากได้รับการรักษาแล้วอาการทุเลาขึ้นแต่ก็ไม่หาย และแล้วกลับเป็นไข้ และกลืนอาหารไม่ได้ และในระยะนี้มีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรงถึงสองเรื่องซ้อนกัน จึงเป็นเหตุให้สุขภาพทางจิตใจและร่างกายทรุดโทรมลงอย่างมาก จึงได้เดินทางมาที่กรุงเทพฯ และเข้ารับการรักษาตัวที่ ร.พ.ศิริราช และได้รับการรักษาพยาบาลอย่างสุดความสามารถ แต่อาการได้ทรุดหนักลงตามลำดับ อาการลิ้นแข็ง กลืนอาหารไม่ได้ทวีมากขึ้น และสุดท้ายได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ หลังจากได้เข้ารักษาตัวใน ร.พ.รวมเป็นเวลา ๕๑ วัน  คุณพ่อได้จากไปสู่สุขคติ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่ามกลางพวกลูกๆ และเมีย รวมอายุคุณพ่อได้ ๗๔ ปี 
  แม้คุณแม่และพวกลูกๆ จะทราบได้ จากคำที่คุณพ่อเคยกล่าวอยู่เสมอว่า “ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงความตายได้ เมื่อมีการเกิดอุบัติขึ้นก็ต้องมีการสูญสลายตายจากเป็นของธรรมดา และต้องไม่หวั่นไหวต่อความตายที่จะมาถึง” ลูกๆพยายามจดจำไว้เสมอเพื่อทำจิตใจให้เข้มแข็ง แต่เมื่อความตายมาพรากคุณพ่อจากไปจริงๆ แล้วก็สุดจักหักห้ามความเศร้าโศรกเสียได้ ด้วยผลบุญและกุศลกรรมที่คุณพ่อได้ประกอบไว้เป็นอันมากนั้น จงดลบรรดาลให้วิญญาณไปสู่สุขคติแดนสวรรค์ หากจะต้องมีเวียนว่ายตายเกิดในกระแสร์สังสารวัฎฎแล้ว ขอให้คุณพ่อได้เป็นที่รักและบูชาของลูกๆ ในชาติหน้าสืบไปด้วยเถิด  จากลูกๆทุกคน
  1. ถอดความจาก หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์ตรี หลวงศรีสุพรรณราช ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๗ ถอดความและเรียบเรียงโดย รุจน์สกุล ศรีสุพรรณราช ( เหลน ) ๑๖ เดือน ๔ พ.ศ. ๒๕๖๑