ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Engineer6/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เกียรติประวัติและผลงาน กองพันทหารช่างที่ ๖ กองพลทหารราบที่ ๖

*******************************************

กองพันทหารช่างที่ ๖...เป็นหน่วยที่มุ่งมั่นในการพิทักษ์รักษาเอกราช ผลประโยชน์ของชาติ เพื่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน โดยการการปฏิบัติงานช่างทั่วไปเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพการรบของกองพลทหารราบที่ ๖ ในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดยโสธร และ จังหวัดร้อยเอ็ด

กองพันทหารช่างที่ ๖ ได้จัดตั้งหน่วยขึ้นตามคำสั่ง กองทัพบกเฉพาะที่ ๕๓/๒๓ ลงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๓ และได้ถือวันที่ ๔ เมษายน ของทุกปีเป็นวันสถาปนาหน่วย ที่ตั้งหน่วยปัจจุบันอยู่ที่ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตำบล โพธิ์สัย อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ได้เปิดที่บังคับการ เพื่อปฏิบัติงานจริงเมื่อ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๓ ทั้งนี้เพราะได้รับการบรรจุกำลังพลงวดแรกที่สามารถปฏิบัติงานได้เมื่อ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๓ และจนกระทั่งในเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๒๖ พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานธงชัยเฉลิมพลโดยมี พันโทมนตรี อยู่พงษ์พิทักษ์ เป็นผู้รับพระราชทานธง ซึ่งเป็นผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ ๖ ท่านแรก จนถึงปัจจุบันมีผู้บังคับกองพันจำนวน ๑๑ ท่าน ได้แก่  พ.ท.มนตรี อยู่พงษ์พิทักษ์, พ.ท.คงศักดิ์ รวมทรัพย์, พ.ท.บุญยืน จั่นนาค,พ.ท.ไชยพร รัตแพทย์, พ.ท.ปฏิกรณ์ เอี่ยมลออ, พ.ท.สุรยุทธ  รัตนจารุ, พ.ท. สาธิต  จตุวงศ์, พ.ท. ชัยปณต นารินรักษ์, พ.ท. วีระพล   พุ่มจิตร, พ.ท. สามภพ ประมาณพล , พ.ท. ภาสกร  ปลอดในเมือง และ พ.ท.มาโนช  โคตรเพชร

ที่ตั้งหน่วยในปัจจุบัน

- บก.พัน , ร้อย.บก.และ บริการ ช.พัน.๖  ,ช.พัน.๖ ร้อย.๓ และ ช.พัน.๖ ร้อย.๔  อยู่ ณ ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ต.โพธิ์สัย  อ.ศรีสมเด็จ  จ.ร้อยเอ็ด

- ช.พัน.๖ ร้อย.๑ อยู่ ณ ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

- ช.พัน.๖ ร้อย.๒ อยู่ ณ ค่ายสุรธรรมพิทักษ์  อ.เมือง จ.นครราชสีมา

เกียรติประวัติที่สำคัญจากการปฏิบัติราชการสนามในการป้องกันประเทศ

              กองพันทหารช่างที่ ๖ มีเกียรติประวัติในอดีตในสนับสนุนการรบในหลายสมรภูมิ ซึ่งโดยหน่วยจัดกำลังพล อาวุธ และยุทโธปกรณ์ สนับสนุนการปฏิบัติงานให้แก่ กกล.สุรนารี ในเขตรับผิดชอบอีสานใต้ ตามแผนป้องกันประเทศโดยการจัดกำลังพลเเละยุทโธปกรณ์เข้าร่วมผลักดันกองกำลังฝ่ายตรงข้าม ตามเเผนยุทธการ อันได้แก่

              แผนยุทธการ D๘ ยุทธการ D๘/๒ ยุทธการ D๘/๓ พื้นที่ช่องบก อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

              เเผนยุทธการพิฆาสไพรี ไพรรีพินาศ พิทักษ์ปฐพี บริเวณเนิน ๕๓๘ ช่องโอบก อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์

              แผนยุทธการ D๙ กับ แผนยุทธการ เผด็จศึก พื้นที่ช่องบก อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

ทั้งในเหตุการณ์พื้นที่เสี่ยงอันตราย เช่น ช่องพริก อ.บัวเชด จว.ส.ร. ช่องปลิง อ.กาบเชิง จว.ส.ร. ช่องอานม้า อ.น้ำยืน จว.อ.บ., เนิน ๖๑๐ บริเวณช่องกระบาลกระใบ อ.ขุนหาญ จว.ศ.ก., เส้นทางช่องพระพะลัย บริเวณเนิน ๖๔๒ อ. ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งในเหตุการณ์นี้ จ.ส.อ.เจริญ พรหมบุรมย์ พลขับรถตักบรรทุก ได้ดำเนินการเปิดเส้นทางได้ขับฝ่ากระสุนปืนใหญ่และทุ่นระเบิดอยู่หนาแน่น ได้อย่างปลอดภัยและกล้าหาญเสี่ยงต่อการสูญเสียเป็นอย่างยิ่ง จากพฤติกรรมดังกล่าว ทก.พล.ร.๖ พิจารณาแล้วจึงขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เพื่อเป็นเกียรติแก่ จ.ส.อ.เจริญ   พรหมบุรมย์  และวงศ์ตระกูลสืบไป

        และเกียรติประวัติสนับสนุนการรบสำคัญล่าสุดได้แก่ การป้องกันอธิปไตยบริเวณชายแดน ไทยกัมพูชา กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว

ซึ่งในการควบคุมบังคับบัญชาและอำนวยการโดยใช้นามหน่วย ได้แก่ ชุดควบคุมทหารช่าง กองกำลังสุรนารี, กองพันทหารช่าง กองกำลังสุรนารี,หน่วยทหารช่าง กองกำลังสุรนารี, หมวดทหารช่าง กองกำลังสุรนารี, ชุดทหารช่าง กองกำลังสุรนารี และปัจจุบันเป็น หน่วยทหารช่าง กองกำลังสุรนารี

จากปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับงานช่าง อันได้แก่ การสร้างเครื่องกีดขวาง การวางฉากขัดขวาง การเจาะช่องตรวจค้นทุ่นระเบิด ทำลายเครื่องกีดขวางของฝ่ายตรงข้าม พร้อมกับพัฒนาพื้นที่และสร้างเส้นทางเพื่อความมั่นคง จากการปฏิบัติงานช่างดังกล่าวทำให้เป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชา รวมทั้งหน่วยทหารต่างๆในกองทัพภาคที่ ๒ คือ การเปิดเส้นทางโดยการเจาะช่องผ่านสนามทุ่นระเบิด ทำลายเครื่องกีดขวางของฝ่ายตรงข้าม เปรียบเสมือนหัวหอกนำหน่วยดำเนินกลยุทธ์ ให้สามารถขับไล่ผลักดันกองกำลังต่างชาติ  ที่รุกล้ำอธิปไตยของชาติ  ให้ออกจากเขตประเทศไป และยึดพื้นที่คืนได้สำเร็จแม้จะเสี่ยงอันตรายต่อการยิงของฝ่ายตรงข้าม   การปฏิบัติแต่ละครั้งย่อมมีอันตราย  แม้จะเสียชีวิตหรือพิการทุพพลภาพ ก็ไม่ทำให้กำลังพลของหน่วยหวั่นไหวหรือย่อท้อแต่ประการใด  กลับมีขวัญและกำลังใจที่จะรุกรบอย่างดีเยี่ยม ปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถโดยคำนึงความปลอดภัยของชาติเป็นหลักและสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบ ทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีตลอดมา

ผลงานที่สำคัญในอดีตถึงปัจจุบัน

การพิทักษ์และเทิดทูลสถาบัน

              กำลังพลและครอบครัวของกองพันทหารช่างที่ ๖ มีความสำนึกคุณต่อสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ด้วยการพิทักษ์และเทิดทูลสถาบัน อันได้แก่

        -  งานที่ภาคภูมิใจเริ่มแรก กองพันทหารช่างที่ ๖ ดำเนินการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นสถานที่สำคัญสำหรับเคารพสักการะ อีกทั้งเป็นศูนย์รวมจิตใจของบรรดาข้าราชการทหาร และครอบครัว ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป เริ่มงานก่อสร้างตั้งแต่ ต้นปี พ.ศ.๒๕๓๙

         -  นำกำลังพลและครอบครัว ได้ร่วมพิธีเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชมน์พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์

         -  พร้อมทั้งให้กำลังพลและครอบครัว จัดทำโครงการเกษตรอินทรีผสมผสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการดำเนินชีวิตในครัวเรือน

- จัดชุดตรวจค้นทุ่นระเบิดสนับสนุนภารกิจถวายความปลอดภัยพระบรมวงศานุวงศ์ในการเสด็จฯในพื้นที่รับผิดชอบ

         -  จัดกำลังพลในกระทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพลและสวนสนาม เนื่องในวันกองทัพไทยของทุกปี เพื่อให้ทหารทุกคนต่างน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชาของพม่า    

          -กำลังพลและครอบครัวแสดงตนเป็นพุทธมามกะพระศาสนาเนื่องในวันสำคัญ และทำนุบำรุงพระศาสนา ในการสร้างวัดและปรับปรุงซ่อมบำรุงวัดอย่างต่อเนื่อง

งานป้องกันประเทศและความมั่นคงภายใน

การใช้กำลัง

        - กองพันทหารช่างที่ ๖ ได้จัดหน่วยทหารช่างสนามซึ่งประกอบด้วย ชุดทหารช่างสนาม  ชุดประปาสนาม     ชุดทหารช่างก่อสร้างกองกำลังสุรนารี   ปฏิบัติงานช่างสนับสนุนแผนป้องกันชายแดน ในพื้นที่อีสานตอนล่าง ได้แก่ก่อสร้างเส้นทางยุทธวิธีเพื่อใช้เป็นเส้นทางหลักในการส่งกำลังบำรุงและปฏิบัติทางยุทธวิธี  ตรวจค้นและทำลายทุ่นระเบิดในภูมิประเทศสำคัญ

        - จัดกำลังพลปฏิบัติภารกิจการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษธรรม  ในหน่วยตรวจค้นเเละทำลายทุ่นระเบิด หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ ๓ ซึ่งประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณี ในอนุสัญญาออตตาวา ว่าด้วย การห้ามใช้ ผลิต สะสม และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งกองพันทหารช่างที่ ๖ เริ่มปฏิบัติตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๔ จนถึงปัจจุบัน

        - จัดชุดตรวจค้นทุ่นระเบิดสนับสนุนชุดสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมระหว่างประเทศไทย-ลาว  และ ไทย-กัมพูชา            

การเตรียมกำลัง   

- เตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ให้มีความพร้อม ในการฝึกวงรอบประจำปี และต้องให้ได้ผ่านมาตรฐานการประเมินตามการประกันคุณภาพการฝึก ที่สำคัญให้กำลังพลมีรู้ความชำนาญในงานช่างและแผนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้สนับสนุนหน่วยดำเนินกลยุทธ์

ภารกิจสนับสนุนกองกำลังสหประชาชาติและความมั่นคงระหว่างประเทศ

        -  ปี พ.ศ. ๒๕๓๕  จัดกำลังพลเเละยุทโธปกรณ์ปฏิบัติราชการในกองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 สนับสนุนกองกำลังสหประชาชาติ ในประเทศกัมพูชา

        -  ปี พ.ศ. ๒๕๔๓  ร่วมปฏิบัติราชการในกองกำลังรักษาสันติภาพ ในติมอร์ตะวันออก

        -  ปี พ.ศ. ๒๕๔๘  ร่วมปฏิบัติราชการในกองร้อยผสมไทย บุรุนดี ณ ประเทศบุรุนดี

        -  ปี พ.ศ. ๒๕๕๓  ร่วมปฏิบัติราชการในกองร้อยทหารช่างกองกำลังเฉพาะกิจ 980 ไทยดาฟู ณ ประเทศซูดาน    

การพัฒนาประเทศ และ ช่วยเหลือประชาชน

              ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๐ จนถึงปัจจุบัน กองพันทหารช่างที่ ๖ มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนในการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนน้ำของประชาชน ซึ่งกองพันทหารช่างที่ ๖ ได้จัดกำลังพลและเครื่องมือช่าง เข้าดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการขุดลอกแหล่งน้ำที่ตื้นเขินไว้ เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและบรรเทาน้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมทั้งให้ความรู้ประชาชนในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งกองพันทหารช่างที่ ๖ ได้ดำเนินโครงการที่สำคัญ คือ โครงน้ำพระราชหฤทัยจากในหลวง หรือโครงการอีสานเขียว โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพัฒนาแหล่งน้ำในอีสานตอนล่าง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริขุดลอกหนองเลิงเปือย จังหวัดกาฬสินธุ์ และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของรัฐบาล เป็นต้น

สำหรับงานก่อสร้างโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ได้แก่ งานพัฒนาพื้นที่การเกษตรโดยขุดสระน้ำ และโครงการขยายผลทฤษฎีใหม่  งานปรับพื้นที่ถมดินและก่อสร้างถนนลูกรังภายในโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ และที่สำคัญในห้วงปัจจุบันปฏิบัติงานปรับปรุงซ่อมแซมที่ชำรุดในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ถือเป็นถนนในใจคน เพื่อสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ

กองพันทหารช่างที่ ๖ ได้ช่วยเหลือผู้ประสพภัยพิบัติภัยธรรมชาติ ทั้งภัยจากวาตภัย อุทกภัย และแล้ง อย่างรวดเร็วเป็นความหวังให้กับประชาชนในทุกโอกาส

งานก่อสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมในหน่วยทหาร    

ครั้นตั้งแต่ กองพันทหารช่างที่ ๖ ได้เคลื่อนย้ายกำลังพลและยุทโธปกรณ์ จากค่ายเฟรนด์ชิพ หรือ ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ เข้าพื้นที่ ตั้งค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ถือเป็นหน่วยแรกที่เข้าพื้นที่ ภารกิจแรกในงานก่อสร้าง

ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ บริษัท ช.ไชยภัทร ร่วมกับ ช.พัน.๖ เข้าดำเนินการสำรวจ และก่อสร้างอาคารถาวรในบางส่วน

ปี พ.ศ.๒๕๒๔ - ๒๕๒๕ ก่อสร้างระบบประปาภายในค่ายแล้วเสร็จ และอาคารสำนักงานบางส่วนแล้วเสร็จ เป็นอาคาร ร้อย.ม.(ลว.), อาคาร ร้อย.บก.ส.พัน.๖ และ อาคาร ร้อย.ลว.ไกล (เก่า) ซึ่งถือว่าเป็นอาคาร ๓ หลังแรกในค่ายฯ แล้วเสร็จ และในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั่นเอง ช.พัน.๖ ร้อย.๓ กับ ร้อย.บก.และ บร.ช.พัน.๖ ก็เคลื่อนย้ายกำลังพลและเครื่องมือเข้าพื้นที่ และดำเนินการก่อสร้างสำนักงาน อาคาร และบ้านพักของหน่วยอื่น ๆ

ปี ๒๕๒๖ - ๒๕๒๗ ช.พัน.๖ รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพลเมื่อ ๑๑ ก.ค.๒๖ แล้วก็เคลื่อนย้ายกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ทั้งหมดจากโคราชค่ายเฟรนด์ชิพ เข้าพื้นที่ค่ายฯ แล้วเสร็จใน ก.ค.๒๖ และดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงาน และบ้านพักต่าง ๆ เพิ่มเติม และเริ่มปรับพื้นที่ค่ายฯทั้งหมด หน่วยส่วนฐานต่าง ๆ เริ่มทยอยเคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่

        ปี ๒๕๒๗ - ๒๕๒๘ กำลังพล และยุทโธปกรณ์ บก.พล.ร.๖ และ ร้อย.นขต.พล.ร.๖ เคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่ จนครบในปัจจุบัน

       ในงานก่อสร้างและซ่อมแซมกองพันทหารช่างที่ ๖ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตามงบประมาณประจำปีที่ได้รับ ได้แก่ โครงการเสริมสร้างหน่วย งานซ่อมแซมอาคารสิ่งปลูกสร้างและการที่ดิน การปรับปรุงถนนภายในหน่วย การปรับปรุงโรงเลี้ยงโรงนอนและห้วงน้ำห้องส้วม และการจัดตั้ง พล.ม.๓

ทั้งนี้กองพันทหารช่างที่ ๖ ได้คำนึงถึงคุณภาพของงานก่อสร้างโดยยึดหลักมาตรฐานงานก่อสร้างของกรมการทหารช่างเป็นแนวทาง

การพัฒนาคุณภาพชีวิตกำลังพลและครอบครัว (สวัสดิการ,บริการ,สุขภาพ)

         กองพันทหารช่างที่ ๖ ให้ความสำคัญการในเรื่อง สวัสดิการ การพัฒนาศักยภาพกำลังพลเพื่อให้กำลังพลและครอบครัวให้ได้รับสิทธิที่พึงมีพึงได้ มีสวัสดิการช่วยเหลือให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และอำนวยความสะดวกให้กำลังพลดำรงชีพได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานให้กับข้าราชการซึ่งเป็นการพร้อมสร้างอำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตนที่ดี

ได้แก่ ศูนย์สวัสดิการกองพันทหารช่างที่ ๖ ซึ่งมีแหล่งสวัสดิการดังนี้คือ

             กลุ่มสวัสดิการร้านค้า ได้แก่ โรงผลิตน้ำดื่มเอ็นยิเนียร์ ร้านค้าสวัสดิการ ร้านบริการซักรีด ซึ่งบริการจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาด

             กลุ่มความรู้คู่อุดมการณ์ ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ห้องสมุดคอมพิวเตอร์ และพิพิธพันธ์กองพันทหารช่างที่ ๖

             กลุ่มรักสุขภาพ ได้แก่ ห้องเพาะกาย สนามเปตอง และ สนามกีฬาฟุตบอลหญ้าเทียมขนาดเล็กรวมทั้งสนามกีฬาทั้งหมดในพื้นที่กองพัน ส่งเสริมให้กำลังพลและครอบครัวมีสุขภาพที่ดี ห่างไกลยาเสพติด

อีกทั้งหน่วยได้ดำเนินตามนโยบายด้วยความห่วงใยของผู้บัญชาการทหารบกและประธานสมาคมแม่บ้านทหารบกซึ่งหน่วยได้ติดตามการช่วยเหลือให้มีผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ โครงการห่วงใยบุตรที่มีความต้องการพิเศษ, โครงการปันน้ำใจคู่สมรสและบุพการีที่ทุพพลภาพ โครงการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โครงการอาชีพเสริมและผลิตภัณฑ์แม่บ้าน โครงการศูนย์การเรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโครงการจัดการสิ่งแวดล้อมบริหารจัดการขยะ เป็นต้น

   และมีสวัสดิการที่ช่วยเหลือกำลังพลช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนโดยตรง ได้แก่ การมอบทุนการศึกษาเรียนดีให้บุตรประจำปี จัดการบริการรถรับส่งนักเรียน และ การมอบเงินช่วยเหลือการจัดงานศพ ของกำลังและครอบครัว

หน่วยได้จัดให้กำลังพลและครอบครัวทัศนศึกษานอกพื้นที่เป็นประจำเพื่อให้เพิ่มพูนประสบการณ์  และมีวิสัยทัศน์มากยิ่งขึ้น และยังส่งเสริมให้กำลังพลและครอบครัวมีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้นโดยจัดอาจารย์ภายนอกมาให้ความรู้ในห้วงเวลาว่างและเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเชียนอีกด้วย

              ความทันสมัย กองพันทหารช่างที่ ๖ ได้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานเห็นเพี่อมาใช้ให้เกิดความสะดวกในการเก็บข้อมูล และเกิดความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน ได้แก่อากาศยานไร้คนขับมาใช้ในการลาดตระเวนทางการช่าง การประชุมทางไกลระบบคอนเฟอร์เรน และตามนโยบายกองทัพบกให้นำระบบสารสนเทศในสายงานฝ่ายอำนวยการ (E - army)

   จากเกียรติประวัติและผลงานที่สำคัญ ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ กำลังพลและครอบครัวของกองพันทหารช่างที่ ๖ มีความรักศรัทธาและมีความภาคภูมิใจในหน่วยอย่างยิ่ง โดยทุกๆคนยึดมั่นในคติประจำหน่วยมาแนวเป็นความคิดและเจตจำนงอันแน่วแน่ว่า ในการปฏิบัติงานของหน่วยนั้นเราจะทำเพื่อ

เกียรติของทหารช่าง ศักดิ์ศรีของหน่วย หน้าที่ของแต่ละบุคคลที่ได้รับมอบหมาย และสามัคคีในหมู่คณะตลอดจนครอบครัว และจากนั้นเราใจไปสู่ความสำเร็จไปพร้อมกัน เพราะเราคือครอบครัว ช.พัน.๖