ผู้ใช้:Chezballoon/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง


ประเพณีการฟ้อนผีของชาวล้านนา คล้ายกับการลงผี(เข้าทรง)ผีเจ้าพ่อของท้องถิ่นอื่น นิยมเรียกกันว่า "ฟ้อนผีมด-ผีเม็ง" ประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง เป็นการฟ้อนรำเพื่อสังเวยผีบรรพบุรุษ ซึ่งชาวล้านนา(ชาวบ้านในท้องถิ่นภาคเหนือ)นับถือกัน เป็นพระเพณีเก่าแก่ที่สันนิษฐานกันว่ารับมาจากชาวมอญ เพราะคำว่า "เม็ง" ภาษาล้านนาหมายถึงชาวมอญ การแต่งกายของผู้เข้าร่วมพิธีก็จะคล้ายกับชาวมอญ ประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็งนี้ จะจัดกันภายในสายตระกูล ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา คนเราจะมีผีบรรพบุรุษ ซึ่งหมายถึงปีผู่ย่าตายายญาติผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตไปแล้ว คอยปกปักรักษาคุ้มครองลูกหลานในวงศ์ตระกูล ลูกหลานจะทำที่สถิตย์ของผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า "หอผี" ไว้ทางทิศหัวนอนของบ้านผู้เป็น"เก๊าผี" หมายถึงผู้หญิงที่เป็นใหญ่ที่สุดในวงศ์ตระกูล ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงเวลาอันสมควร ก็จะต้องจัดพิธีเพื่อสังเวยผีบรรพบุรุษ อาจจะจัดเป็นรอบทุกๆ2ปีหรือ3ปีแล้วแต่จะกำหนด

ช่วงเวลาในการจัดประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง

ประเพณีการฟ้อนผีนิยมทำในช่วงเดือน5เหนือ(เดือน3ของภาคกลาง)หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงย่างเข้าฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วและยังว่าง เหมาะที่ญาติพี่น้องจะมารวมตัวพบปะกันเพื่อช่วยกันจัดเตรียมงาน จึงถือโอกาสสังสรรค์เป็นงานรวมญาติของคนในสายตระกูลไปด้วยในตัว

พิธีกรรม

ก่อนวันงานจะมีการจัดเตรียม "ผาม" หรือ "ปะรำ" ขนาดผามแล้วแต่ตามจำนวนสมาชิกในตระกูลหรือจำนวนแขกที่เชิญ หลังคามุงด้วย ทางมะพร้าว หญ้าคา หรือใบตองตึง มีการตกแต่งประดับผามให้สวยงามโดยใช้ทางมะพร้าว ต้นกล้วย ขี้ผึ้ง หม้อน้ำ น้ำต้น มีผ้าขาวยาวถึงพื้นผูกตรงกลางผามสำหรับโหนเชิญผีเข้าทรง ด้านหน้าผาม จะทำเป็น ยกพื้นสำหรับวางเครื่องเซ่นต่างๆ ได้แก่ หัวหมูต้ม ไก่ต้มทั้งตัว เหล้า ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ขนม ผลไม้ เช่น กล้วย อ้อย มะพร้าว ถัดจากอาหารคาวหวานจะมีผ้าโสร่งผ้าโพกศีรษะ สีต่างๆ และเครื่องแต่งตัว สำหรับผู้ที่จะฟ้อนนุ่งทับลงไป

ประเพณีการฟ้อนผีจะจัด2วัน วันแรกเรียกว่า "วันข่าว" หรือ "ป่าวข่าว" เป็นการบอกให้ญาติพี่น้องในตระกูลเดียวกันไปร่วมชุมนุมกันที่บ้านงานหรือเตรียมงานก่อนจะถึงวันงาน ส่วนอีกวันเป็นวันจริง ที่มีการเชิญผีเข้าทรงและมีการฟ้อนสังเวย โดยหอผีแต่ละหอ หรือตระกูลผีแต่ละตระกูลจะจัดงานฟ้อนผีไม่ให้ซ้ำวันกับงานของตระกูลอื่น จะมีการเชิญคนทรงและผีตระกูลอื่นมาร่วมงานด้วย

ในวันงานจะเริ่มโดยมีการทำพิธีสักการบูชาผีบรรพบุรุษซึ่งอยู่บนแท่นบูชา ณ หอผีประจำบ้านก่อน ซึ่งจะนำโดยเก๊าผี มีการอธิษฐานขอให้ผีบรรพบุรุษคุ้มครองให้คนในตระกูลอยู่เย็นเป็นสุข ประกอบอาชีพ เจริญก้าวหน้า จากนั้นจะกล่าวเชิญผีไปยังผามที่ทำพิธีเพื่อเข้าคนทรงของตระกูล การเข้าทรงของผีมด ไม่ยุ่งยากเพราะพออธิษฐานเสร็จผีก็จะเข้า ส่วนผีเม็งนั้นต้องโหนผ้าขาวที่อยู่กลางผามแล้วหมุนตัว ไปรอบๆ ผีจึงจะเข้า ผีจะเข้าเก๊าผีก่อนเป็นคนแรก ต่อมาก็จะเข้าคนอื่นๆในตระกูล บางคนพอผีเข้าแล้วจะฟุบลงกับพื้น จะมีคนนำเครื่องบวงสรวงมีขันข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อยและมะพร้าวอ่อนมาให้ ผีจะรับไว้ จากนั้นจึงลุกไปที่เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัว และเลือกเสื้อผ้าที่ชอบสวมทับ จะมีการซักถามกันเล็กน้อย โดยมี ล่ามซึ่งเป็นคนที่ชอบพูดคุยซักถาม ถ้าเป็นคำตอบที่ถูกผีก็จะผงกหัว คำถามที่ใช้ เช่น เป็นใคร มาจากไหน มาด้วยวิธีใด เป็นต้น จากนั้นจะเป็นการฟ้อนสังเวย มีวงปี่พาทย์บรรเลง เป็นปี่พาทย์แบบพื้นเมืองล้านนาซึ่งมีจังหวะเร้าใจ มีการร้อง "ฮิ้วๆ" ประกอบการรำไปด้วยอย่างสนุกสนาน ผู้รำจะเป็นผู้หญิงส่วนใหญ่ทั้งคนแก่อายุเจ็ดสิบแปดสิบไปจนเด็กรุ่นสาวอายุสิบกว่า ถ้าเป็นผู้ชายรำจะรำดาบ พิธีกรรมจะเริ่มตั้งแต่เช้าไปจนเย็น จะมีการฟ้อนสังเวยไปเรื่อยๆ พอถึงเวลาพักเที่ยง จะหยุดพักรับประทานอาหาร จะมีการถวายอาหารให้ผีกินก่อน จากนั้นคนจึงกินต่อ เจ้าภาพจะถวายอาหารคาวหวานต่างๆ ที่เตรียมไว้ โดยจัดใส่ขันโตกเป็นชุดๆ จากนั้นจะมอบดาบ ให้คนทรงคนละอัน และจุดเทียนไขผูกปลายดาบ คนทรงจะรับดาบ ไปเวียนรอบๆ อาหารทุกจาน เมื่อครบแล้วถือว่าเสร็จพิธี ในการรับประทานอาหาร ผีมดจะรับประทานอาหารทุกชนิดทั้งอาหารคาวและหวาน ส่วนผีเม็งจะเลือก รับประทานเฉพาะอาหาร หวานและน้ำมะพร้าวเท่านั้น

หลังจากฟ้อนมาตลอดทั้งวันแล้วก็จะถึงเวลาส่งผี ดนตรีปี่พาทย์จะเงียบเสียงลง ร่างทรงจะเดินไปที่หอผี จะมีการขับจ้อยซอเป็นกลอนสดเสียงโหยหวน จะมีขันดอกไม้ธูปเทียนพร้อมอาวุธ เช่น ดาบ จะฟ้อนแบบโบราณเป็นจังหวะเนิบนาบอ่อนช้อยก่อนผีจะออกจะรับขันข้าวตอกดอกไม้ เสร็จแล้วจะ ล้มฟุบกับพื้น ถือว่าผีออก คนทรงก็เข้าสู่สภาพปกติ หลังจากเสร็จพิธีแล้ว ผู้คนในตระกูลก็จะช่วยกันรื้อผามทำความสะอาดสถานที่ และกินอาหารเย็นร่วมกัน

หน้าที่ของผู้เข้าร่วมพิธีกรรม

เนื่องจากเป็นงานที่จัดกันในวงศ์ตระกูล ลูกหลานแต่ละคนจะมีหน้าที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

1. ม้าขี่ บางครั้งเรียกว่า ที่นั่ง ของเจ้า หมายถึงผู้ทำหน้าที่เป็นคนทรงนั่นเอง ส่วนมาก ม้าขี่ จะเป็นเพศหญิง หน้าที่นี้จะเป็นหน้าที่ประจำถ้ามีความประสงค์จะเปลี่ยนต้องขออนุญาตจากผีเสียก่อน จะเปลี่ยนโดยพลการไม่ได้ 2. ควาญ คือ ผู้มีหน้าที่ปรนนิบัติเจ้าปู่เจ้าย่า มีหน้าที่ช่วยกันแต่งองค์ทรงเครื่อง จัดหาน้ำดื่ม น้ำมะพร้าว สุราหรือเครื่องดื่ม หมาก เมี่ยง บุหรี่ ฯลฯ ตามแต่เจ้าจะเรียกหา เวลาเจ้าจะไปงานฟ้อนที่ผามอื่น ๆ ควาญก็จะติดตามทำหน้าที่หิ้วข้าวของเครื่องใช้ เช่น เครื่องแต่งกาย ถุงย่าม กระเป๋าถือ ร่วมยา ฯลฯ 3. กำลัง หมายถึง พลังของวงศ์ตระกูลที่มีอยู่ในรูปของกำลังกาย หรือแรงงานจากผู้คน และกำลังทรัพย์ที่สามารถระดมได้จากตระกูลนั่นเอง คำว่า กำลัง มักใช้กับบรรดาลูกหลานเพศชาย ซึ่งทำหน้าที่ต่าง ๆ เป็นต้นว่า ปลูกสร้างผาม แบกขนอุปกรณ์ ประกอบอาหาร ยกสำรับ ตักน้ำ ผ่าฟืน ฯลฯ

ความสำคัญของประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง

1. ก่อให้เกิดการหลอมรวมทางเผ่าพันธุ์ของผู้คนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยการมีความคิดในการยกย่อง ให้เกียรติ และเห็นคุณค่าต่อผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในตระกูล เจ้าปู่ย่าจะมีความยินดีและชื่นชมในลูกสะใภ้และลูกเขยเป็นพิเศษ แม้จะต่างเผ่าพันธุ์กันก็ตาม ทั้งนี้โดยมีความเชื่อว่าสะใภ้หรือฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายแพร่พันธุ์และเป็นฝ่ายสืบทอดประเพณีสำหรับเขยที่เข้ามาก็เท่ากับเป็นการเพิ่ม กำลัง ในวงศ์ตระกูลให้แข็งแกร่งขึ้น หากมองในด้านการเมืองการปกครองแล้ว นับว่าเป็นการหลอมรวมเผ่าพันธุ์ที่ดีอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการซื้อผี หรือซื้อเข้าผี เช่น กลุ่มชนบางกลุ่มหรือบางตระกูล เมื่อเกิดศรัทธาเลื่อมใสผีปู่ย่าผามใดผามหนึ่งก็ขอซื้อ (ยกขันหรือบูชาครู) เพื่อขอเข้ามานับถือผีปู่ย่าด้วย พิจารณาอีกนัยหนึ่งก็คือ การขอเข้ามาร่วมอยู่ในเผ่าพันธุ์หรือสังคมนั่นเอง สภาพบ้านเมืองในสมัยโบราณนั้น การยอมให้คนอีกกลุ่มหนึ่งหรือเผ่าพันธุ์อื่นมาร่วมผีเดียวกับตน จึงเป็นนโยบายทางการเมืองในการเพิ่มกำลังผู้คนที่ลึกซึ้งยิ่งอย่างหนึ่ง

2. การมีส่วนทำให้สังคมเป็นเอกภาพ นอกจากภาพรวมที่ประเพณีฟ้อนผีได้หลอมรวมผู้คนให้เป็นพวกเดียวกัน นับถือผีเดียวกันแล้ว ยังเป็นประเพณีที่ส่งเสริมให้ผู้คนมาร่วมแรงร่วมใจทำงานร่วมกัน ก่อให้เกิดความรู้สึกในการเป็นส่วนหนึ่งของงาน มีความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจในความสำเร็จร่วมกัน ได้มาสังสรรค์ สนุกสนานร่วมกัน ประการสำคัญ คือ เป็นการสร้างความรู้สึกว่านับถือผีเดียวกัน หรือที่เรียกกันว่า เป็นผีเดียวกัน ซึ่งเป็นผลส่งให้เกิดความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นในวงศ์ตระกูลหรือชุมชน

3. เป็นศูนย์กลางของที่พึ่งทางใจ เป็นความหวังและความอบอุ่นอีกอย่างหนึ่งที่สามารถขอพึ่งพาเจ้าปู่ย่าได้ เช่น การทำนายทายทัก การเสกเป่า รดน้ำมนต์ต่าง ๆ

4. บทบาทความเชื่อผีปู่ย่าในการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางดนตรี การฟ้อนผีมด ผีเม็ง ที่เคร่งในขนบประเพณีนั้น จะห้ามใช้ดนตรีต่างวัฒนธรรมเข้ามาบรรเลงในผาม แม้แต่วงปี่พาทย์ ก็จะต้องใช้แบบแผนการบรรเลงแบบล้านนา หากเล่นผิดแบบแผน เช่น สำเนียงและสำนวนดนตรี ผิดจากที่คุ้นเคย ผีจะไม่เข้าหรือไม่สามารถทำการทรงได้ หรือทรงได้แล้ว อาจฟ้อนไม่ได้ เป็นต้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว ดนตรีประกอบการฟ้อนผีในเขตล้านนา จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเปลี่ยนแปลงขนบหรือแบบแผนในการดนตรีให้แปลกออกไปจากเดิม ดนตรีปี่พาทย์ล้านนา จึงมีรายละเอียดหลายอย่างที่แสดงถึงความเป็นดนตรีแบบโบราณไว้ได้

ข้อพึงปฏิบัติ-ข้อห้ามในพิธีกรรมการฟ้อนผีปู่ย่า

1. ในการสร้างผามต้องระมัดระวังในการผูกโครงหลังคา เรียงหัวไม้ท้ายไม้ให้ไปในทางเดียวกัน 2. การประกอบอาหารสำหรับเลี้ยงผี ห้ามหยิบเครื่องปรุงต่าง ๆ มากิน แม้แต่การปรุงรสก็ห้ามชิม 3. ต้องแสดงถึงความเป็นผู้มีสัมมาคารวะต่อเจ้าปู่ย่าทั้งหลาย แม้ในความเป็นจริงของโลกมนุษย์ ม้าขี่ ที่เป็นร่างทรงของเจ้าปู่ย่าอาจเป็นภรรยา พี่ น้อง ลูกหลาน หรือเพื่อนก็ตาม ห้ามทำเล่นหัว ล้อเล่น หรือแสดงกิริยาไม่เป็นการเคารพ 4.บุคคลภายนอกเมื่อต้องการเข้าไปชม ควรขออนุญาตเจ้าของงานหรือญาติพี่น้องเสียก่อน 5.อุปกรณ์เครื่องใช้ในการสร้างผามเมื่อนำมาปลูกสร้างแล้ว จะเป็นของเจ้าปู่ย่า หากต้องการนำมาใช้เพื่อสร้างผามอีก หรือต้องการเอาไปทำประโยชน์ต้องขออนุญาตเจ้าปู่ย่าเสียก่อน