ผู้ใช้:Aomanimelife/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การปกครองท้องถิ่นญี่ปุ่น ความเป็นมาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้เสนอแนะรัฐบาลญี่ปุ่น ให้ปฏิรูประบบการบริหารราชการท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบบริหารระดับจังหวัด (Perfectures) เทศบาลนคร (Cities) เทศบาลเมือง (Town) และองค์การบริหารส่วนตำบล (Villages) ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2490 ได้ประกาศใช้กฎหมาย The Local Autonomy Law ซึ่งให้เสรีภาพในการปกครองตนเองแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น[1]

การบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

การบริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่นแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

  1. ส่วนที่มีอำนาจการตัดสินใจสั่งการนโยบาย และออกกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆเพื่อบังคับใช้ภายในท้องถิ่น เรียกว่า สภา เช่น สภาองค์การบริหารส่วนตำบล สภาเทศบาล สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป จำนวนสมาชิกเหล่านี้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารตนเองของท้องถิ่นกำหนดให้มีวาระการทำงาน 4 ปี
  2. ส่วนที่มีอำนาจบริหารงานตามนโยบายของสภาซึ่งประกอบด้วยข้าราชการท้องถิ่นการบริหารในส่วนนี้ยึดหลัก 2 ประการ คือ

-หลักการบริหารโดยหัวหน้าส่วนบริหาร -หลักการบริหารโดยองค์คณะบุคคล[2]

โครงสร้างองค์การการปกครองท้องถิ่น[แก้]

  1. องค์กรปกครองท้องถิ่นแบบสามัญแบ่งย่อยเป็น 2 กลุ่ม คือ

เทศบาล (Municipalities) จำแนกตามขนาด ได้แก่ - เทศบาลนคร เรียกว่า Shi (Cities) แบ่งเป็น เทศบาลนครประเภทพิเศษ (Designated Cities) มี 10 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลนครโอซากา เทศบาลนครนาโกยา เทศบาลนครเกียวโต เทศบาลนครโยโกฮามา เทศบาลนครโกเบ เทศบาลนครคิวชิวตอนเหนือ (คิตะคิวชิว) เทศบาลนครคาวาซากิ เทศบาลนครฟูคุโอกะ เทศบาลนครซัปโปโร และเทศบาลนครฮิโรชิมา คุณสมบัติที่สำคัญของเทศบาลนครประเภทพิเศษ คือ ต้องมีประชากรตั้งแต่ 500,000 คน ขึ้นไป และมีศักยภาพสูงกว่าเทศบาลนครปกติทั้งในด้านการเมือง และโครงสร้างอาชีพของประชากรอยู่ในประเทศญี่ปุ่นทั้งสิ้น 636 เทศบาลตามสถิติเมื่อ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2523 - เทศบาลเมือง เรียกว่า Cho (Town) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,994 เทศบาลตามสถิติเมื่อ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2523 - เทศบาลตำบล เรียกว่า Son (Villages) มีทั้งหมด 615 เทศบาลตามสถิติเมื่อ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2523 อื่นๆที่ไม่ใช่เทศบาลจำแนกเป็น 4 ประเภทได้แก่ - มหานครโตเกียว เรียกว่า To (Tokyo Metropolis) ซึ่งแบ่งเขตการปกครองในมหานครโตเกียวออกเป็นหลายเขต เรียกว่า Ku - เขตปกครองฮอกไกโด เรียกว่า Do เป็นเขตปกครองที่มีพื้นที่กว้างขวางมากครอบคลุมเกาะฮอกไกโดส่วนที่ไม่ใช่เทศบาลนครซัปโปโรทั้งหมด - เขตปกครองโอซาก้า และเกียวโต เรียกว่า Fu เป็นเขตปกครองที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดโอซากา และจังหวัดเกียวโตแต่ไม่รวมบริเวณที่เป็นเทศบาลนครโอซากา และเทศบาลนครเกียวโต - จังหวัดต่างๆ เรียกว่า Ken (Prefectures) มีทั้งหมด 43 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ในแต่ละจังหวัดซึ่งไม่รวมบริเวณที่เป็นเทศบาลนครเทศบาลเมืองเทศบาลตําบล หรือเขตปกครองพิเศษอื่นๆที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนั้นๆ


หน่วยงานพิเศษในท้องถิ่นของรัฐบาลกลาง (Special Local Public Entity) จำแนกเป็น 2 ประเภท คือ - เขตปกครองพิเศษ (Special Wards) มีทั้งสิ้น 23 เขตตามสถิติเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2523 - บรรษัทพัฒนาท้องถิ่น (Public Development Corporations) มีจำนวนทั้งสิ้น 16 แห่งตามสถิติเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2523[3]

บทบาทและหน้าที่ของการปกครองท้องถิ่น[แก้]

บทบาทและหน้าที่ของการปกครองท้องถิ่น กฎหมายกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจครอบคลุมกับบทบาทที่ตนรับผิดชอบเพื่อประกันว่าจะสามารถให้บริการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนตามความเหมาะสมของสถานการณ์ กฎหมายการปกครองตนเองของท้องถิ่นให้อำนาจท้องถิ่นทำหน้าที่ และบริการเฉพาะที่เป็นเหตุผลความจำเป็นในการมี และคงอยู่ของท้องถิ่นหน้าที่สำคัญมี 2 ประการ คือ

  1. หน้าที่ให้บริการแก่ชุมชน เช่น การจัดตั้ง และบริหารโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา โรงพยาบาล การสร้างบ้าน และถนนหนทาง การจัดหาน้ำ และการจัดระบบน้ำเสีย
  2. หน้าที่ดำเนินกิจกรรมที่จำเป็นทำให้ท้องถิ่นอยู่ได้ เช่น การออกเทศบัญญัติการจัดโครงสร้างองค์การการจัดการการเงิน และการเลือกตั้ง[4]

การบริหารงานบุคคล[แก้]

พนักงานของท้องถิ่นมีทั้งพนักงานพิเศษ ได้แก่ พนักงานที่มาจากการเลือกตั้ง (ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี สมาชิกสภาท้องถิ่น) จากการแต่งตั้ง (รองผู้ว่าราชการจังหวัด รองนายกเทศมนตรี คณะกรรมการศึกษา ที่ปรึกษา) และพนักงานทั่วไป (ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาระดับ กรม กอง แผนก และพนักงานปกติ) พนักงานทั่วไปแบ่งออกเป็น พนักงานธุรการ เช่น พนักงานขับรถ พนักงานประปา พนักงานที่จ้างโดยวิสาหกิจ ยามรักษาการณ์ พนักงานรับโทรศัพท์ และพนักงานที่ใช้แรงงานต่างๆ และพนักงานที่ไม่ใช่ธุรการ คือ พนักงานที่นอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว ผู้บริหารท้องถิ่น เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายกเทศมนตรีส่วนใหญ่เคยเป็น ข้าราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พนักงานระดับสูงของท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือนักธุรกิจท้องถิ่น สำหรับสมาชิกท้องถิ่นส่วนใหญ่มาจาก องค์การที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรป่าไม้ ประมง พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม รวมทั้งจากพรรคการเมือง หรือสหภาพการค้า ในเมืองใหญ่ประชาชนเลือกสมาชิกสภาที่มาจากพรรคการเมืองที่ตนชอบ แต่ในชนบทประชาชนเลือกจากตัวแทนของพื้นที่มากกว่าการเป็นตัวแทนพรรค[5]

ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น[แก้]

รัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และการทำงานเสริมกัน รัฐบาลกลางต้องเคารพความเป็นอิสระของท้องถิ่นแต่รัฐบาลกลางสามารถมีอิทธิพลต่อรัฐบาลท้องถิ่นได้ในบางเรื่องโดยการกำหนดกฎหมายที่วางมาตรการให้ปฏิบัติ การกำหนดให้ท้องถิ่นขออนุมัติบางเรื่อง การกระจายหน้าที่ของส่วนราชการไปท้องถิ่นดำเนินการ การให้เงินสนับสนุน การให้ความเห็นชอบการกู้ยืมของท้องถิ่น การแต่งตั้งข้าราชการไปประจำท้องถิ่น เป็นต้น รัฐบาลกลางสามารถแทรกแซงท้องถิ่นได้ 3 ประการ คือ

  1. การแทรกแซงโดยกฎหมายโดยรัฐสภาออกกฎหมายตราบใดที่ไม่ขัดกับหลักการปกครองตนเองตามที่รัฐธรรมนูญระบุ
  2. การแทรกแซงโดยศาลคดีความทั้งหลายที่เกี่ยวกับข้องกับองค์กรปกครองท้องถิ่นต้องผ่านการพิจารณาโดยศาล
  3. การแทรกแซงโดยฝ่ายบริหารเป็นรูปแบบการแทรกแซงที่บ่อยที่สุดโดยอาจเป็นการแทรกแซงกึ่งนิติบัญญัติ (มติคณะรัฐมนตรี คำสั่งคณะรัฐมนตรี) กึ่งตุลาการ (การอุทธรณ์โดยฝ่ายบริหาร) และที่สำคัญที่สุด คือ การแทรกแซงทางบริหาร ซึ่งอาจเป็นเรื่องไม่บังคับ (คำแนะนำ คำปรึกษาหารือ หมายแจ้ง) หรือ บังคับ (การอนุมัติ การตรวจสอบ) เป็นต้น[6]

การเงินและงบประมาณ[แก้]

ค่าใช้จ่ายของท้องถิ่นนับว่าสูง ค่าใช้จ่ายรวมของหน่วยการปกครองท้องถิ่นเกือบเท่ารัฐบาลกลาง แต่รัฐบาลกลางก็ได้โอนเงินให้ท้องถิ่นในรูปแบบการจัดสรรภาษีให้แก่ท้องถิ่น (Local Allocation) การโอนภาษีให้ท้องถิ่น (Local Transfer Tax) และการให้ความช่วยเหลือแก่ท้องถิ่น การจัดสรรงบประมาณแบ่งเป็น 2 แบบ คือ การจัดสรรในรูปแบบรายได้จากภาษี (Local Allocation tax grant) และการช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง (National Government Disbursement) การเก็บภาษีนั้น ส่วนกลางเก็บภาษีรายได้ (Income) ภาษีประกอบการ (Corporate) ภาษีการบริโภค (Consumption) ในขณะที่ท้องถิ่นเก็บภาษีการอยู่อาศัย (Residence) ภาษีการค้า (Enterprise) และภาษีอสังหาริมทรัพย์ (Fixed assets)ท้องถิ่นแต่ละแห่งมีอิสระในการใช้จ่ายภาษีที่ตนเก็บได้แต่ต้องทำตามเงื่อนไขในการใช้จ่ายเงินที่ได้รับจากรัฐบาลกลาง รัฐบาลกลางมีรายรับจากภาษีระดับชาติ ภาษีรายได้ ภาษีการประกอบการ (Corporation tax) ภาษียาสูบ ภาษีสุรา และอื่นๆ รวมถึงการออกพันธบัตร รัฐบาลท้องถิ่นมีรายรับจากภาษีท้องถิ่น ภาษีที่ได้รับโอนมา (Local transfer tax) ภาษีที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลกลาง (Local allocation tax) เงินช่วยเหลือ (Grants-in-aid) ส่วนรายจ่ายประกอบด้วย เงินเดือน ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการลงทุน การกู้ยืมเงินโอนจากบัญชีรัฐวิสาหกิจ และอื่นๆ[7]

  1. ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์,การปกครองท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น,พิมพ์ครั้งที่ 1,ถนนเจริญกรุง,บริษัท แอล เอส เพรส จำกัด,2542,ISBN 974-7285-18-5
  2. ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์,การปกครองท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น,พิมพ์ครั้งที่ 1,ถนนเจริญกรุง,บริษัท แอล เอส เพรส จำกัด,2542,ISBN 974-7285-18-5
  3. ฉันทนา จันทร์บรรจง,การศึกษาแนวทางการบริหารและการจัดการการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น,พิมพ์ครั้งที่ 1,บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน),2543,ISBN 974-241-045-3
  4. รองศาสตราจารย์ ดร. โกวิทย์ พวงงาม,มองมุมใหม่การบริหารท้องถิ่น : ประสบการณ์เรียนรู้จากต่างประเทศสู่ไทย,พิมพ์ครั้งที่ 1,ถนนบางแวก กรุงเทพ,สำนักพิมพ์ เสมาธรรม,2555,ISBN 978-616-305-343-5
  5. รองศาสตราจารย์ ดร. วิรัช วิรัชนิกาวรรณ,การบริหารเมืองหลวงและการบริหารท้องถิ่นเปรียบเทียบ : อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ไทย,พิมพ์ครั้งที่ 1,วังบูรพา กรุงเทพ,สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์,2541,ISBN 974-277-531-1
  6. ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์,การปกครองท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น,พิมพ์ครั้งที่ 1,ถนนเจริญกรุง,บริษัท แอล เอส เพรส จำกัด,2542,974-7285-18-5
  7. รองศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย,ระบบและรูปแบบการจัดการเก็บภาษีท้องถิ่น : ศึกษาเฉพาะกรณีประเทศญี่ปุ่น,พิมพ์ครั้งที่ 1,บริษัท จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์จำกัด,2548,ISBN 974-449-228-7