ผู้ใช้:Anon Homsuwan/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระวินัยวงศาจารย์(หลวงปู่เปรื่อง ฐานังกโร) ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่เปรื่อง ฐานังกโร วัดสันติวัฒนา ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์

๏ อัตโนประวัติ “หลวงปู่เปรื่อง ฐานังกโร” หรือ “พระวินัยวงศาจารย์” เป็นพระเถระนักปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน ที่ชาวเมืองเพชรบูรณ์และพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปต่างเลื่อมใสศรัทธา ในฐานะผู้บำเพ็ญศาสนกิจเพื่อความจำเริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาตินานัปการ ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม ดำเนินตามรอยธรรมพระบูรพาจารย์สายกรรมฐาน

หลวงปู่เปรื่อง มีนามเดิมว่า เปรื่อง รูปน้อย เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๔ ตรงกับวันพุธ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะแม ณ บ้านเลขที่ ๓๓ หมู่ ๒ ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายเรือง และนางน้อย รูปน้อย ปัจจุบันหลวงปู่เปรื่อง อายุ ๘๖ ปี พรรษา ๖๕ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสันติวัฒนา ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ และที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอหล่มสัก-เขาค้อ (ธรรมยุต) จ.เพชรบูรณ์

๏ การศึกษาเบื้องต้นและการอุปสมบท ในช่วงวัยเยาว์ ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนบ้านหนองบัว จ.เพชรบูรณ์ จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ก่อนลาออกมาช่วยครอบครัวพ่อแม่ ทำไร่ ทำนา และทำสวน ย่างเข้าวัยหนุ่มฉกรรจ์ มีจิตใจฝักใฝ่และศรัทธาหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบกับที่ครอบครัวได้เข้าวัดฟังธรรมและรักษาศีลเป็นประจำ จึงได้ขออนุญาตบุพการีบวช ต่อมาท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดศรีบุญเรือง ต.หล่มสัก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๕ โดยมี พระครูสุธรรมคณี วัดสามัคคีวัฒนา ต.หล่มสัก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากอุปสมบทแล้ว ได้อยู่ทำวัตรปฏิบัติพระอุปัชฌาย์ และศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม จนกระทั่งสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก จึงได้รับหน้าที่ให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุ-สามเณร ภายในวัด และทำหน้าที่เป็นผู้สวดปาติโมกข์ ทุกปักขคณนา ตลอดทั้งปี ต่อมา พระอุปัชฌาย์ได้พาไปฝากเรียน พระปริยัติธรรมที่วัดศิลามงคล ต.หินฮาว อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ โดยมีพระอาจารย์มหาทองอินเป็นครูสอน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ สอบได้นักธรรมชั้นเอกและสอบเปรียญธรรม ๓ ด้วย ท่านสอบเปรียญธรรม ๓ อยู่ ๓ ปี แต่สอบไม่ผ่าน จึงหยุดเรียนและออกวิเวก ธุดงค์ ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ จึงลาพระอาจารย์ไปเทียววิเวก ธุดงค์ ในปีนั้นท่านไปจนถึงจังหวัดจันทบุรี แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ท่านจึงกลับมาจำพรรษาที่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้ออกวิเวกจาริก ไปทางจังหวัดเลย โดยครั้งแรกไปพักที่วัดศรีสุทธาวาส ๓ คืน มีผู้แนะนำให้ท่านไปที่วัดถ้ำผาปู่ และท่านก็ชอบใจมากเพราะเป็นสถานที่สงบ วัดถ้ำผาปู่สมัยนั้นมีหลวงปู่คำดีเป็นเจ้าอาวาส และหลวงปู่คำดีท่านเมตตารับพระเปรื่องไว้เป็นศิษย์ เมื่อออกพรรษาแล้วหลวงปู่คำดี ท่านประสงค์วิเวกจาริก ไปที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ และท่านก็ได้คัดเอาพระเปรื่องไปด้วย และปลีกวิเวกไปตามที่ต่างๆ จนกลับมาจำพรรษาที่วัดถ้ำผาปู่ และพระเปรื่อง ก็ได้อยู่กับหลวงปู่คำดี อีกหลายปี จนปี พ.ศ.๒๕๐๙ พระเปรื่องท่านจึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดสันติวัฒนา อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมาและท่านได้พัฒนาวัดสันติวัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้


๏ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสันติวัฒนา พ.ศ.๒๕๑๐ เมื่อญาติโยม อุบาสก และอุบาสิกา ร่วมกันสร้างวัดขึ้นใหม่ คือ วัดสันติวัฒนา ที่บ้านสักหลง ชาวบ้านได้นิมนต์ให้ท่านมาอยู่จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส

๏ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๑๔ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ (ธรรมยุต) พ.ศ.๒๕๑๘ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะอำเภอหล่มเก่า-อำเภอน้ำหนาว (ธรรมยุต) จ.เพชรบูรณ์ พ.ศ.๒๕๔๑ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอหล่มสัก และอำเภอเขาค้อ (ธรรมยุต) จ.เพชรบูรณ์

๏ การปฏิบัติศาสนกิจ เนื่องจากท่านเป็นพระที่มีความรอบรู้ในเรื่องนวกรรม จึงได้ร่วมชักชวนญาติโยมตำบลสักหลง ทำการก่อสร้างศาลาการเปรียญ อุโบสถ กุฏิกัมมัฏฐาน ปรับภูมิทัศน์ภายในวัดให้มีความร่มรื่น ด้วยการปลูกต้นไม้ และนำพันธุ์ไม้หายากมาปลูก ทำให้ภายในวัดมีความร่มรื่นเย็นสบาย จนได้รับเกียรติคุณจากกรมการศาสนา ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างติดต่อกันหลายปี เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาบวช ได้ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม หลวงพ่อเปรื่องได้กำหนดให้พระภิกษุ-สามเณรต้องลงอุโบสถ ทำวัตรเช้า วัตรเย็น ทุกวัน และฟังพระสวดปาติโมกข์ ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ยังอบรมให้พระภิกษุ-สามเณร ยึดมั่นปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์และกฎมหาเถรสมาคม ฝึกปฏิบัติตามหลักธุดงควัตร ยึดหลักสันโดษ มักน้อยในปัจจัย ๔ ไม่ยึดติดในอดิเรกลาภ จึงทำให้พระภิกษุ-สามเณร ที่จำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ ไม่เคยมีอธิกรณ์ใดๆ ให้เกิดความเสื่อมเสีย

๏ งานด้านการศึกษาสงฆ์ หลวงปู่เปรื่องได้ส่งเสริมให้พระภิกษุ-สามเณรภายในวัด ได้รับการศึกษาด้านพระปริยัติธรรม แต่ละปีจึงมีพระภิกษุ-สามเณรสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี โท และเอก ปีละหลายรูป รวมทั้ง ยังจัดส่งพระภิกษุ-สามเณรในวัด ไปศึกษาด้านกัมมัฏฐาน ณ สำนักวัดป่าต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงหลักธรรมของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

๏ ลำดับสมณศักดิ์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ หลวงปู่เปรื่อง ได้รับพระราชทานสถาปนาเลื่อน และตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระวินัยวงศาจารย์”

๏ เป็นพระสายปฏิบัติที่เคร่งครัด หลวงปู่เปรื่อง เป็นพระสายปฏิบัติที่เคร่งครัด ได้ให้การศึกษาอบรมญาติโยม และประชาชนทั่วไป ด้วยการเน้นเรื่องของการปฏิบัติตน การฝึกทำสมาธิ เพื่อสร้างฐานทางสติให้มีความมั่นคง ไม่วอกแวก และมีสติ ภายในวัดจึงมีกุฏิกัมมัฏฐาน ไว้เพื่อให้ญาติโยมที่ชอบความสงบเข้ามาปฏิบัติธรรม ทำสมาธิ และปฏิบัติกัมมัฏฐาน ได้ทุกวัน สุดแต่ใครจะมีเวลา แต่ละวันจึงมีญาติโยมที่เลื่อมใส เดินทางมาเคารพกราบไหว้ พร้อมกับทำนุบำรุงศาสนสถานและถาวรวัตถุอย่างพร้อมสรรพ อย่างไรก็ตาม ด้วยวัย ๘๖ ปี สังขารของหลวงพ่อจึงร่วงโรยไปตามกาลเวลา เวลาใดที่ปลอดญาติโยม ท่านมักจะเข้าฌานวิปัสสนากรรมฐาน แต่หากมีญาติโยมมาหา ท่านก็จะเมตตาลูกศิษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่แบ่งชั้น วรรณะ