ผู้ใช้:Aaa2.for.civil/หน้าทดลอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2[แก้]

กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2
ไฟล์:Aaa2.jpg.png
ประเทศไทย
รูปแบบกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน
กำลังรบสนับสนุนการรบ
สีหน่วยฟ้า - เหลือง
ผู้บังคับบัญชา
ผบ.ปตอ.2 ปัจจุบันพ.อ.ไพบูลย์ พุ่มพิเชฏฐ์

กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 เป็นหน่วยขึ้นตรงกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน มีที่ตั้งอยู่ที่ถนนทหาร แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ภายในกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน

ประวัติความเป็นมาของหน่วย[แก้]

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 กระทรวงกลาโหมได้พิจารณาสั่งซื้อปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ขนาดความกว้างปากลำกล้อง 40 มม. แบบอัตโนมัติ ติดตั้งบนรถสายพานหลังคาเปิด มีเกราะเหล็กรอบด้านจากบริษัท วิคเกอร์อาร์มสตรอง ประเทศอังกฤษ โดยสั่งผ่านบริษัทบาโรบราวน์ในประเทศไทย มาถึงประเทศไทยในเดือน สิงหาคม พ.ศ.2476  และขึ้นทะเบียนเป็นอาวุธประจำการ เป็นปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 ขนาด 40 มม. นับว่าเป็นต้นกำเนิดของปืนใหญ่แบบเคลื่อนที่ด้วยตัวเอง ซึ่งกำลังใช้อยู่ในประเทศมหาอำนาจในขณะนั้น ในตอนที่ได้รับ ปตอ.แบบ 76 มาใหม่ๆ ยังมิทันจะปรับปรุงจัดกำลังแต่ประการใด ก็ได้เกิดการกบฏขึ้น เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2476  โดยได้มีบุคคลคณะหนึ่งมี พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดชฯ เป็นหัวหน้ายกกำลังทหารหัวเมืองเข้ามายังจังหวัดพระนคร  เพื่อยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล โดยตั้งกองบัญชาการอยู่ที่กรมอากาศยานดอนเมือง ทางฝ่ายรัฐบาลได้ยกกำลังออกปราบปรามจนฝ่ายตรงข้ามล่าถอย และพ่ายแพ้ในที่สุด ในการกบฏคราวนั้น หน่วยทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ได้มีส่วนร่วมในการทำการปราบปรามด้วย เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว ในปี พ.ศ.2477 รัฐบาลได้สั่งซื้อ ปตอ.ขนาด 75 มม. จากสวีเดนเข้ามาอีก และเรียกชื่อว่า ปตอ.แบบ 77 เมื่อซื้อเข้ามาได้มากพอแล้วทางราชการจึงได้ตราพระราชบัญญัติ จัดตั้งกรมป้องกันต่อสู้อากาศยานขึ้น โดยมอบภารกิจในเรื่องการจัดการป้องกันภัยทางอากาศ ทำให้กรมป้องกันต่อสู้อากาศยานจึงถือกำเนิดขึ้น เมื่อเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา ประเทศไทยยอมร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับญี่ปุ่น รัฐบาลได้สั่งซื้อปืนต่อสู้รถถัง ขนาด 20 มม. มาดัดแปลงให้สามารถยิงเครื่องบินได้ จำนวน 25 กระบอก เรียกชื่อว่า “ปตอ.แบบ 85” และจัดตั้ง พัน ปตอ.ขึ้นอีก 2 กองพัน เป็น กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 และ กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 5 ต่อมาหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางราชการได้โอนการป้องกันฝ่ายพลเรือนให้กระทรวงมหาดไทย อาวุธปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ใช้อยู่ล้าสมัย ทางราชการจึงได้ยุบหน่วย ปตอ.ลงตามไปด้วย พัน.ปตอ. ที่ยุบได้แก่ พัน.ปตอ.แบบ 76 จำนวน 1 กองพัน และ พัน.ปตอ. แบบ 85 (ญี่ปุ่น) จำนวน 2 กองพัน และได้แปรสภาพจากกรมป้องกันต่อสู้อากาศยาน เป็น กรมต่อสู้อากาศยาน (กรม ตอ.) ในปี พ.ศ.2492

กรมสวนสนามร่วมในพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาน และสวนสนามต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในวันกองทัพไทย
กรมสวนสนามร่วมในพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาน และสวนสนามต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในวันกองทัพไทย

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2497 กองพลน้อยทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ได้มีการแปรสภาพตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม ทำให้มีหน่วยขึ้นตรง 2 หน่วย คือ กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 และ กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2  หลังจากนั้นกองทัพบก ได้มีการปรับการบังคับบัญชาและการจัดหน่วยอีกหลายครั้ง จนกระทั่งวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2528  โดยกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2  ประกอบด้วย กองบังคับการ และ กองร้อยกองบังคับการกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2, กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 รักษาพระองค์, กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2, กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4  

การปฏิบัติงานที่สำคัญ[แก้]

พ.ศ.2510  จัดกำลัง 1 ร้อย.ปตอ. ออกปฏิบัติการตามแผนธนูเพลิง ปฏิบัติการยิงต่อเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ไม่ปรากฏสัญชาติและคุ้มครองประชาชนที่อยู่ในเขตรับผิดชอบ ตามแนวลำน้ำโขง อ.มุกดาหาร, อ.ธาตุพนม  ตั้งแต่ 10 ก.ย.2510 ถึง 24 ต.ค.2510  ผลการปฏิบัติสามารถยับยั้ง และลดการลักลอบเข้ามาปฏิบัติการของเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ไม่ปรากฏสัญชาติลงได้อย่างดียิ่ง

พ.ศ.2514 การปฏิบัติการที่ อ.สหัสขันธ์  จ.กาฬสินธุ์ ตามอนุมัติผู้บัญชาการทหารบก โดยหน่วยเฉพาะกิจกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ได้เข้าปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. – 8 เม.ย.2514 ในพื้นที่ อ.สหัสขันธุ์ จ.กาฬสินธุ์

พ.ศ.2515 การปฏิบัติการตามแผนยุทธการภูขวาง หน่วยเฉพาะกิจกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ได้เข้าปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2515 – 30 เม.ย.2515  ในพื้นที่ อ.หล่มสัก  จ.เพชรบูรณ์ โดยมีเหตุการณ์สำคัญคือ

- วันที่ 15 เม.ย.2515 ฝ่ายเราได้ตั้งฐานอยู่บริเวณห้วยขมิ้น  โดยมีกำลัง 1 หมู่ ประกอบด้วย ปตอ.เอ็ม42 จำนวน 1 หน่วยยิง  และ ปตอ.เอ็ม16 จำนวน 1 หน่วยยิง ได้มีข้าศึกไม่ทราบจำนวนเข้ามาโจมตีโฉบฉวยที่ฐาน ฝ่ายเราได้ทำการตอบโต้จนกระทั่งข้าศึกได้ถอยหนีเข้าป่า

พ.ศ.2516 การปฏิบัติตามแผนยุทธการรามสูร หน่วยเฉพาะกิจกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ได้เข้าปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. – 23 มี.ค.2516 ในพื้นที่ อ.นาแก จ.นครพนม ซึ่งการปฏิบัติการครั้งนี้หน่วยเฉพาะกิจกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน  สามารถปฏิบัติภารกิจได้หลายภารกิจ คือ

1. แสดงแสนยานุภาพ

2. ลาดตระเวนหาข่าว

3. ตัดเส้นทางส่งกำลังบำรุงของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

4. ยิงที่หมายทางอากาศ (เฮลิคอปเตอร์และ เครื่องบินไม่ทราบฝ่าย)

การปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศ สนับสนุนกองทัพภาคที่ 1 โดยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 2 ครั้ง คือ

        ครั้งที่ 1 ได้เกิดเหตุการณ์ปะทะระหว่างทหารไทยกับทหารเวียดนาม  ซึ่งรุกล้ำเข้ามาทางบ้านโนนหมากมุ่น กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 รักษาพระองค์ได้รับมอบภารกิจให้ไปป้องกันฐานยิงของ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 201 กองร้อยที่ 2 ที่บ้านโคกสว่าง และในวันที่ 25 มิ.ย.2523  หน่วยจึงได้จัดอาวุธปืนใหญ่ต่อสู่อากาศยาน  จากบ้านตะแบกป่า บ้านแชร์ออ ทำการป้องกัน 4 หน่วยยิง  ประกอบด้วย ปตอ.40 มม.  จำนวน 2 หน่วยยิง และ  ปตอ.12.7 มม.  จำนวน 2 หน่วยยิง  ผลการปฏิบัติคือ  ข้าศึกได้รับความสูญเสียไปเป็นจำนวนมาก

        ครั้งที่ 2 กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 รักษาพระองค์ ได้รับภารกิจจากกองทัพภาคที่ 1 ให้ไปทำการยิงป้องปรามของฝ่ายตรงข้ามที่บินเข้ามาในทิศทางหลักเขตที่ 28 บริเวณช่องเขากิ่ว และเขาทิ้งกับ ในห้วงเวลาตั้งแต่ 1900 – 2100 หน่วยได้จัดอาวุธออกไป 4 หน่วยยิง  จากฐานตานี ไปเข้าที่รวมพลที่ฐานเอกราช ซึ่งเป็นหน่วยของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารที่ 1 รักษาพระองค์  และในวันที่ 16 ม.ค.2524  เวลา 2030  หน่วยได้ปฏิบัติภารกิจยิงต่อเครื่องบินข้าศึกที่บริเวณดังกล่าวได้อีก  ผลการปฏิบัติสามารถป้องปรามมิให้เครื่องบินข้าศึกมาบินที่บริเวณพื้นที่ดังกล่าวได้อีก 

การปฏิบัติภารกิจด้านการป้องก้ันและบรรเทาสาธาณภัย กรณีเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ พ.ศ. 2554 โดยกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบพื้นที่บรรเทาสาธารณภัย จังหวัดนนทบุรี ในขณะนั้น ทั้งด้านการป้องกัน ช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย ภารกิจในครั้งนั้นมีทหารกองประจำการของหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก ที่ครบกำหนดปลดประจำการ แต่สมัครใจอยู่ต่อ จำนวน 420 นาย ในขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ทำให้ได้รับความชื่นชมเป็นอย่างมาก กองทัพบกจึงได้มอบประกาศเกียรติคุณให้เพื่อเป็นการขอบคุณในความเสียสละของกำลังพลเหล่านั้น

     

หน่วยขึ้นตรง[แก้]

กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 มีหน่วยขึ้นตรง จำนวน 3 กองพัน คือ

  • กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 กรมทหารปืนใหญ่่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 รักษาพระองค์
  • กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 กรมทหารปืนใหญ่่ต่อสู้อากาศยานที่ 2
  • กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 กรมทหารปืนใหญ่่ต่อสู้อากาศยานที่ 2

วันสถาปนาหน่วย[แก้]

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2497 กองพลน้อยทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ได้มีการแปรสภาพตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม ทำให้มีหน่วยขึ้นตรง 2 หน่วย คือ กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 และ กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 ดังนั้นจึงกำหนดให้วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันสถาปนาหน่วย โดยยึดถือเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

รายนามผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน[แก้]

ลำดับที่ ยศ - ชื่อ สกุล ปีที่ดำรงตำแหน่ง
1. พ.อ.สัมฤทธิ์ แพทย์เจริญ พ.ศ. 2497 – 2505
2. พ.อ.สิทธิ   ศิลปสุขุม   พ.ศ. 2505 – 2513
3. พ.อ.ปวัฒนวงศ์ หุตะเสวี พ.ศ. 2513 – 2516
4. พ.อ.พูน ทรงศิลป์ พ.ศ. 2516 – 2522
5. พ.อ.บุลศักดิ์ โพธิเจริญ          พ.ศ. 2522 – 2524
6. พ.อ.การุญ  ฉายเหมือนวงศ์ พ.ศ. 2524 – 2525
7. พ.อ.ประเสริฐ                                                ชูหมื่นไวย   พ.ศ. 2525 – 2527
8. พ.อ.สำเภา ชูศรี   พ.ศ. 2527 – 2531
9. พ.อ.เถกิง มุ่งธัญญา พ.ศ. 2531 –2533
10. พ.อ.สุรเชษฐ์ ห่อประทุม พ.ศ. 2533 – 2535
11. พ.อ.สุรพันธ์ พุ่มแก้ว     พ.ศ. 2535 – 2539
12. พ.อ.ฦๅฤทธิ์ จุลกรังคะ พ.ศ. 2539 – 2542
13. พ.อ.ยุทธศิลป์ โดยชื่นงาม พ.ศ. 2542 – 2545
14. พ.อ.จิรเดช สิทธิประณีต พ.ศ. 2545 – 2546
15. พ.อ.มณฑล ไชยเสวี พ.ศ. 2546 – 2547
16. พ.อ.ทวีป กิ่งเกล้า พ.ศ. 2547 – 2548
17. พ.อ.โชติอนันต์ปรีชา ทรัพย์หิรัญ พ.ศ. 2548 – 2551
18. พ.อ.ศักดิ์ณรงค์ เอียงพยุง พ.ศ. 2551 – 2552
19. พ.อ.วิรัตน์ นาคจู พ.ศ. 2552 – 2553
20. พ.อ.วรวุฒิ วุฒิศิริ พ.ศ. 2553 – 2556
21. พ.อ.พัลลภ เฟื่องฟู พ.ศ. 2556 – 2558
22. พ.อ.เกรียงศักดิ์ เสนาะพิน พ.ศ.2558 – 2560
23. พ.อ.ไพบูลย์ พุ่มพิเชฏฐ์ พ.ศ. 2560  - ปัจจุบัน