ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:พระพุทธศาสนามหายาน/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตำนานพระญวน(อนัมนิกายแห่งประเทศไทย) พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

       เรื่องที่พวกญวนมาอยู่ในประเทศสยามนี้จะเป็นมาอย่างไร ในสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีข้าพเจ้ายังไม่ได้สืบสวนขึ้นไปถึง เคยสืบแต่เรื่องพงศาวดารของพวกญวนที่อยู่ในกรุงเทพฯ นี้ ได้ความว่าเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๑๖  เกิดกบฏขึ้นที่เมืองเว้อันเป็นราชธานีของประเทศญวน  พวกกบฏชิงได้เมืองแล้วฆ่าฟันเจ้านายเสียเป็นอันมาก  พวกราชวงศ์ญวนที่รอดอยู่ได้พากันหนีพวกกบฏลงมาทางเมืองไซ่ง่อนหลายองค์ องเชียงซุนราชบุตรที่ ๔ ของเจ้าเมืองเว้มาอาศัยอยู่ที่เมืองฮาเตียน ซึ่งต่อแดนเขมรมณฑลบันทายมาศของเขมร  พวกกบฎยกกองทัพมาติดตาม เจ้าเมืองฮาเตียนเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ ก็อพยพครอบครัวพาองเชียงซุนเข้ามายังกรุงธนบุรี เมื่อราวปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙  พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯ ให้รับไว้แล้วพระราชทานที่ให้ญวนพวกองเชียงซุน ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกพระนครทางฝั่งตะวันออก คือตรงที่แถวถนนพาหุรัดทุกวันนี้  จึงเรียกกันว่าบ้านญวนมาจนสร้างถนนพาหุรัด  อยู่มาองเชียงซุนพยายามจะหนี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตเสีย  พวกองเชียงซุนเป็นญวนพวกแรกที่อพยพเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศนี้  เมื่อภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึกแล้ว

ต่อมาถึงชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อรัชกาลที่ ๑ มีราชนัดดาของเจ้าเมืองเว้อีกองค์หนึ่งชื่อเชียงสือ เดิมหนีพวกกบฏมาอาศัยอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน พวกญวนที่เมืองไซ่ง่อนนับถือถึงยกย่องให้ครองเมืองแต่รักษาเมืองต่อสู้ศัตรูไม่ไหว จึงหนีมาอาศัยอยู่ที่เกาะกระบือในแดนเขมร พระยาชลบุรีคุมเรือรบไทยไปลาดตระเวนทางทะเล ไปพบองเชียงสือ ๆ จึงพาครอบครัวโดยสารเรือพระยาชลบุรีเข้ามาขอพึ่งพระบารมีอยู่ ณ กรุงเทพฯ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๒๖ อันเป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณารับทำนุบำรุงและพระราชทานที่ให้ญวนพวกองเชียงสือตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออกที่ตำบลคอกกระบือ คือตรงที่ตั้งสถานทูตโปรตุเกศทุกวันนี้ พวกญวนที่นับถือองเชียงสือมีมาก ครั้นรู้ว่าองเชียงสือได้มาพึ่งพระบารมีเป็นหลักแหล่งอยู่ในกรุงเทพฯ ก็พากันอพยพครอบครัวติดตามเข้ามาอีกเนือง ๆ จำนวนญวนที่เข้ามาในคราวองเชียงสือเห็นจะมากด้วยกัน จึงปรากฏว่าองเชียงสือได้ควบคุมพวกญวนไปตามเสด็จในการทำสงครามกับพม่าหลายครั้ง องเชียงสืออยู่ในกรุงเทพฯ ๔ ปี ครั้นถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙ องเชียงสือเขียนหนังสือทูลลาวางไว้ที่บูชาแล้วลอบลงเรือหนีไปกับคนสนิท เนื้อความในหนังสือนั้นว่า ตั้งแต่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทำนุบำรุงเป็นอเนกประการ ถึงให้กองทัพเข้าไปช่วยตีเมืองไซ่ง่อนพระราชทานก็ครั้งหนึ่ง แต่การยังไม่สำเร็จเพราะกรุงเทพฯ ติดทำสงครามอยู่กับพม่า จะรอต่อไปก็เกรงว่าพรรคพวกทางเมืองญวนจะรวนเรไปเสีย ครั้นจะกราบถวายบังคมลาโดยเปิดเผยก็เกรงจะมีเหตุขัดข้องจึงได้หนีไป เพื่อจะได้คิดอ่านตีเอาเมืองไซ่ง่อนคืน ถ้าขัดข้องประการใดของพระบารมีเป็นที่พึ่งทรงอุดหนุนด้วย เมื่อได้เมืองแล้วจะมาเป็นข้าขอบขันธสีมาสืบไป องเชียงสือหนีไปพักอยู่ที่เกาะกูด เมื่อข่าวที่องเชียงสือหนีทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไม่ทรงถือโทษ แต่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงขัดเคืององเชียงสือ ในครั้งนั้นจึงโปรดให้ญวนพวกองเชียงสือย้ายขึ้นไปตั้งบ้านเรือนอยู่เสียที่บางโพ ยังมีเชื้อสายสืบมาจนทุกวันนี้ มีพวกญวนที่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยภายหลัง ครั้งองเชียงสือมาเมื่อในรัชกาลที่ ๓ อีก ๓ คราว คือเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๗๗ พระเจ้าแผ่นดินญวนมินมางประกาศห้ามมิให้พวกญวนถือศาสนาคริสตังและจับพวกญวนที่เข้ารีตทำโทษต่าง ๆ จึงมีพวกญวนเข้ารีตอพยพครอบครัวหนีภัยเข้ามาพึ่งพระบารมีอยู่ในประเทศนี้ มาอยู่ที่เมืองจันบุรีโดยมาก ที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ก็เห็นจะมีบ้าง ชะรอยจะมาอยู่ที่บ้านโปรตุเกศเข้ารีตซึ่งอพยพเข้ามาจากเมืองเขมร และโปรดฯ พระราชทานที่ให้อยู่ที่สามเสนนั้น ภายหลังจึงโปรดให้ญวนเข้ารีตไปอยู่ที่ตำบลนั้นต่อมาอีก ดังจะปรากฏต่อไปนี้ข้างหน้า ญวนอพยพอีกคราวหนึ่งเมื่อครั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ไปตีเมืองญวนเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ ได้ครัวญวนส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปลายปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๗๗ ครัวญวนที่เข้ามาคราวนี้เป็น ๒ พวก คือเป็นพวกถือพระพุทธศาสนาพวกหนึ่ง เป็นพวกถือศาสนาคริสตังพวกหนึ่ง พวกญวนที่ถือพระพุทธศาสนานั้นโปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี สำหรับรักษาป้อมเมืองใหม่ซึ่งทรงสร้างขึ้นที่ปากแพรก แต่พวกญวนที่ถือศาสนาคริสตังนั้นเห็นจะเป็นเพราะมีญวนเข้ารีตอยู่ที่สามเสนมาแต่ก่อนบ้างแล้ว จึงโปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลสามเสนในกรุงเทพฯ ติดต่อกับบ้านพวกคริสตังเชื้อโปรตุเกศ ซึ่งอพยพเข้ามาจากเมืองเขมร และโปรดฯ ให้ขึ้นอยู่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงฝึกหัดเป็นทหารปืนใหญ่ ญวน ๒ พวกที่กล่าวมานี้ ถึงรัชกาลที่ ๔ พวกญวนคริสตังย้ายสังกัดไปเป็นทหารปืนใหญ่ฝ่ายพระบวรราชวัง (คือญวนพวกพระยาบันฤาสิงหนาท) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าพวกญวนที่อยู่เมืองกาญจนบุรี โดยมากอยากจะมาอยู่ในกรุงเทพฯ เหมือนกับญวนพวกอื่น จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งได้โปรดฯ ให้ชุดใหม่นั้น แล้วให้จัดเป็นทหารปืนใหญ่ฝ่ายวังหลวงสืบมา ที่เมืองกาญจนบุรี ยังมีวัดญวนและมีชื่อตำบล เช่น เรียกว่า “ชุกยายญวน” ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ เชื้อสายพวกญวนที่ไม่อพยพเข้ามากรุงเทพฯ ยังคงอยู่ที่เมืองกาญจนบุรีก็เห็นจะมีบ้าง ครัวญวนที่อพยพเข้ามาครั้งหลังในรัชกาลที่ ๓ นั้น มาเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๘๓ มีเรื่องปรากฏในจดหมายเหตุว่า เวลานั้นกองทัพไทยกับเขมรกำลังรบพุ่งขับไล่กองทัพญวนที่เข้ามาตั้งอยู่ในแดนเขมร กองทัพญวนถูกล้อมอยู่หลายแห่ง เผอิญเกิดความไข้ขึ้นในค่ายญวน พวกญวนหนีความไข้ออกมาหาเขมรประมาณ ๑,๐๐๐ คนเศษ เจ้าพระยาบดินทรเดชาบอกส่งเข้ามากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ญวนพวกนี้ไปที่บางโพกับเชื้อสายญวนพวกองเชียงสือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเด็จสวรรคตในปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ โปรดฯ ให้ทำพิธีกงเต๊กที่ในพระบวรราชวังอีกครั้งหนึ่ง ต่อนั้นถึงงานพระศพกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศก็โปรดฯ ให้มีพิธีกงเต๊กจึงพวกญวนที่มาอยู่ในประเทศสยาม มีทั้งที่ถือพระพุทธศาสนาและที่ถือศาสนาคริสตัง พวกญวนที่ถือพระพุทธศาสนา มาตั้งภูมิลำเนาอยู่แห่งใดก็นิมนต์พระญวนมา สร้างวัดเป็นที่บำเพ็ญการกุศลของพวกญวนซึ่งอยู่ ณ ที่แห่งนั้น พวกญวนที่ถือศาสนาคริสตังได้อาศัยฝรั่งบาทหลวงเป็นผู้ควบคุมแต่ครั้งยังอยู่ในเมืองเขมร เมื่อมาอยู่ในประเทศสยามนี้ พวกฝรั่งบาทหลวงก็สร้างวัดและดูแลควบคุมพวกญวนคริสตังทำนองเดียวกัน จะกล่าวในตำนานนี้แต่ด้วยเรื่องวัดญวนและพระญวนในพระพุทธศาสนา ในบรรดาศาสนาไม่เลือกว่าศาสนาใด เมื่อท่านผู้ตั้งศาสนาล่วงลับไปแล้ว นานมาผู้ที่เลื่อมใสศาสนานั้นก็เกิดถือลัทธิต่างกัน เช่น ศาสนาคริสตังก็เกิดถือต่างกันเป็นลัทธิคริสต์ ลัทธิโรมันคาโธลิค และลัทธิโปรเตสตันต์ ศาสนาอิสลามก็เกิดถือต่างกันเป็นลัทธิสุหนี่และลัทธิเซียะ (คือแขกเจ้าเซ็น) พระพุทธศาสนาก็เกิดถือต่างกันเป็น ๒ ลัทธิมาตั้งแต่ชาวอินเดียยังถือพระพุทธศาสนากันอยู่แพร่หลาย ลัทธิเก่าซึ่งเกิดขึ้นในมคธราฐทางใต้ได้นามว่า ลัทธิ “หินยาน” ลัทธิใหม่ซึ่งเกิดขึ้นในคันธารราฐทางฝ่ายเหนือ ได้นามว่า ลัทธิ “มหายาน” เมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายไปยังนานาประเทศ พวกชาวอินเดียที่ถือลัทธิหินยาน เชิญพระพุทธศาสนามาทางทะเลเที่ยวสั่งสอนในลังกาทวีป และประเทศพม่ามอญไทยเขมร จึงถือพระพุทธศาสนาตามลัทธิหินยานมาจนทุกวันนี้ พวกชาวอินเดียที่ถือลัทธิมหายานเชิญพระพุทธศาสนาไปทางบกเที่ยวสั่งสอนในประเทศธิเบต ประเทศอาเซียตอนตอนกลางตลอดไปจนประเทศจีนและญี่ปุ่น ประเทศญวนรับลัทธิพระพุทธศาสนาอย่างมหายานมาจากจีน พวกญวนจึงบวชเรียนและประพฤติกิจในศาสนาผิดกับไทย เพราะฉะนั้นเมื่อพวกญวนมาสร้างวัดและมีพระญวนขึ้นในประเทศนี้ ชั้นเดิมก็มีผู้นับถือและอุดหนุนแต่พวกญวน แต่ในสมัยนั้นยังไม่มีวัดจีนในประเทศนี้ พวกจีนก็มักไปทำบุญที่วัดญวนด้วย เพราะลัทธิศาสนาของญวนกับจีนเหมือนกันและทำพิธีต่าง ๆ เช่น กงเต๊ก เป็นต้น อย่างเดียวกัน ส่วนไทยแม้ไม่สู้นับถือก็ไม่เกลียดชังพวกญวน เพราะเห็นว่านับถือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน วัดญวนที่มาสร้างขึ้นในประเทศนี้ ก็อนุโลมตามเรื่องที่พวกญวนเข้ามาอยู่ในประเทศสยาม คือ

   ญวนพวกที่มากับองค์เชียงซุนครั้งกรุงธนบุรีมาสร้างวัดขึ้นที่บ้านหม้อ ๒ วัด คือ

๑. วัดกามโล่ตื่อ (วัดทิพยวารีวิหาร)* ยังอยู่ที่หลังตลาดบ้านหม้อ ในพระนคร แต่เดี๋ยวนี้เป็นวัดพระจีนปกครอง ๒. วัดโห่ยคั้นตื่อ (วัดมงคลสมาคม) เดิมอยู่ที่บ้านญวนข้างหลังวังบูรพาภิรมย์ ครั้นจะตัดถนนพาหุรัดวัดนั้นกีดแนวถนน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้กระทำผาติกรรมอย่างวัดไทย คือพระราชทานที่ดินและให้สร้างวัดขึ้นใหม่แลก วัดเดิมย้ายไปตั้งที่ริมถนนแปลงนามในอำเภอสัมพันธวงศ์

   พระญวนในประเทศสยามชั้นแรกก็คงบวชเรียนมาจากเมืองญวน แต่เห็นจะมีเช่นนั้นเพียงในรัชกาลที่ ๑  ต่อนั้นมาเมืองญวนกับไทยเกิดเป็นอริกันมาตลอดรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓  ชาวประเทศทั้งสองฝ่ายมิได้ไปมาหากันอย่างปกติ  พระญวนในประเทศนี้ก็มีแต่บวชเรียนในประเทศนี้เอง  แต่ยังมีที่เป็นญวนนอกลงมาเพียงพระครูคณานัมสมาณาจารย์ (ฮึง)  และพระครูคณานัมสมาณาจารย์ (กร่าม)  ท่านทั้งสองนี้เมื่อยังเป็นเด็ก  ตามบิดามารดาเข้ามาในรัชกาลที่  ๓ แล้วมาบวชในกรุงเทพฯ นี้  ชั้นต่อมาเป็นญวนเกิดและบวชในประเทศนี้ทั้งนั้น ถึงรัชกาลที่ ๔  และรัชกาลที่ ๕ เมืองญวนกับไทยมิได้เป็นอริกัน  ปรากฏว่ามีพระญวนในประเทศนี้ได้พยายามไปสืบศาสนาในเมืองญวน  แต่การที่ไปไม่สะดวกด้วยเมืองญวนตกอยู่ในอำนาจฝรั่งเศส  พระญวนในประเทศสยามกับพระญวนในประเทศญวนก็มิได้ติดต่อกัน  ต่างฝ่ายต่างก็ถือคติตามประเทศที่ตนอยู่  พระญวนที่มาอยู่ในประเทศสยามมาแก้ไขคติหันมาตามพระสงฆ์ไทยหลายอย่าง  เป็นต้นว่ามาถือสิกขาบทวิกาลโภชน์ไม่กินข้าวเย็น ครองผ้าสีเหลืองแต่สีเดียว  ไม่ใช้ต่างสี  ไม่ใส่เกือกและถุงตีนเหมือนเช่นพระในเมืองจีน เมืองญวน  แต่ส่วนข้อวัตรปฏิบัติอย่างอื่นตลอดจนกิจพิธี คงทำตามแบบในเมืองญวนมาจนในรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯ  ให้มีสมณฐานันดรศักดิ์ และ โปรดฯ ให้นิมนต์มาทำพิธีกงเต๊กเป็นการหลวงบ่อย ๆ จึงแก้ไขเพิ่มเติมกิจพิธีคล้ายกับพระไทยยิ่งขึ้นอีกหลายอย่าง
       มูลเหตุที่พระญวนจะได้รับความยกย่องในราชการนั้น ได้ยินเล่ากันมาว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ ใคร่จะทรงทราบลัทธิของพระญวน จึงทรงสอบถามองฮึง (ซึ่งได้เป็นพระครูคณานัมสมณาจารย์องค์แรกเมื่อรัชกาลที่ ๕)  จึงได้ทรงคุ้นเคยชอบพระราชอัธยาศัยมาแต่ครั้งนั้น ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว องฮึงได้เป็นอธิการวัดญวนที่ตลาดน้อย  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ช่วยปฏิสังขรณ์ (ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงช่วยอีก  จึงเป็นเหตุให้พระราชทานนามวัดนั้นว่าวัดอุภัยราชบำรุง)  พระญวนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าแหนได้ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา  ข้อนี้ถึงเห็นได้ในงานเฉลิมพระชันษา พระญวนยังเข้าไปถวายธูปเทียนและกิมฮวยอั้งติ๋วอยู่ทุกปีจนบัดนี้  ส่วนพิธีกงเต๊กที่ได้ทำเป็นงานหลวงนั้น ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ทำเป็นครั้งแรกเมื่องานพระศพสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ ต่อนั้นมา เมื่อได้เข้ามาในระเบียบงานพระศพซึ่งเป็นการใหญ่

ถึงรัชกาลที่ ๕ ทำพิธีกงเต๊กในงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก ต่อนั้นก็มาทำในงานพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๒๓ และงานพระศพอื่นซึ่งเป็นงานใหญ่เป็นประเพณีสืบมา แต่การกงเต๊กที่ทำเมื่อครั้งพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ นั้น เป็นต้นประเพณีที่เกิดขึ้น และมีสืบมาจนทุกวันนี้ ๒ อย่าง คือ อย่างที่ ๑ วิธีทำบุญหน้าศพ ตามประเพณีจีนและญวนนั้น ญาติวงศ์ผู้มรณภาพย่อมทำบุญหน้าศพทุก ๆ วัน นับแต่วันมรณะไปจนครบ ๗ วัน เมื่อครบ ๗ วันแล้วแต่นั้น ทำบุญ ๗ วันครั้งหนึ่ง ไปอีก ๗ ครั้งครบ ๕๐ วัน แล้วหยุดงานพิธีไปจนถึง ๑๐๐ วัน (สันนิษฐานว่าเมื่อจะฝังหรือเผาศพ) ทำพิธีเป็นการใหญ่ครั้งสุดท้าย พิธีกงเต๊กในงานพระศพก็ทำเช่นนั้น เป็นต้นแบบที่ทำบุญหน้าศพซึ่งเรียกว่า สัปตมวาร ปัญญา สมวาร และ ศตมาหะ ที่ทำกันอยู่ด้วยไม่เกี่ยวข้องแก่กงเต๊กจนทุกวันนี้ อีกอย่างหนึ่งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภถึงความภักดีของพระญวนและพระจีนที่มาทำพิธีถวายในครั้งนั้น ทรงพระราชดำริว่าพวกญวนทั้งพระและคฤหัสถ์ซึ่งมีอยู่ในพระราชอาณาเขตในเวลานั้น ตกมาถึงชั้นนั้นเป็นญวนเกิดในพระราชอาณาเขต เป็นแต่เชื้อสายญวนที่เข้ามาแต่เมืองญวน เช่นเดียวกับพวกมอญ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ตั้งพระสงฆ์มอญ ให้มีสมณศักดิ์เหมือนอย่างพระสงฆ์ไทยฉันใด สมควรจะทรงตั้งพระสงฆ์ญวนให้มีสมณศักดิ์ขึ้นบ้าง แต่พระสงฆ์ญวนถือลัทธิมหายานจะเข้าทำกิจพิธีร่วมกับพระสงฆ์ไทยไม่ได้เหมือนอย่างพระมอญ จึงทรงพระราชดำริให้มีทำเนียบสมณศักดิ์สำหรับพระญวนขึ้นต่างหาก ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้มีสมณศักดิ์สำหรับพระจีนด้วยในคราวเดียวกัน และทรงเลือกสรรพระญวนที่เป็นคณาจารย์ตั้งเป็นตำแหน่งพระครู พระปลัด รองปลัด (เทียบด้วยสมุห์) ผู้ช่วย (เทียบด้วยใบฎีกา) ส่วนพระจีนนั้นหัวหน้าเป็นตำแหน่งพระอาจารย์ (เทียบด้วยพระครูวิปัสสนา) และมีฐานานุกรมเป็นปลัดและรองปลัดเช่นเดียวกันกับพระญวน พระราชทานสัญญาบัตรมีราชทินนามกับพัดยศซึ่งจำลองแบบพัดพระไทย แต่ทำให้เป็นขนาดย่อมลง *ชื่อวัดญวนที่เรียกอย่างไทย แต่งความตามชื่อภาษาญวน พระราชทานในรัชกาลที่ ๕ แทบทั้งนั้น ที่มา : หนังสือ บรรพชาอุปสมบทวิธีอนัมนิกาย โดย องสรภาณมธุรส (บ๋าวเอิง) เจ้าอาวาสวัดสมณานัมบริหาร แปลเป็นภาษาไทยโดย นายเสถียรโพธินันทะ, โรงพิมพ์สหวิทยพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๒