ผู้ใช้:พระปลัดขวัญชัย ลิขิตสกุลชัย/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ที่ตั้ง

วัดโพธินายก เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ที่ ข๒-๒๗๙ ตำบลนครนายก อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก บนเนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๒ งาน ๗๒ ตารางวา (จาก ๓ โฉนดตามเลขที่ ๓๓๕๒,๖๒๕๕,๕๔๒๘) ทางฝั่งขวาของแม่น้ำนครนายก และเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองริมถนนเสนาพินิจ ในเขตเทศบาลเมืองนครนายก

ประวัติวัดโพธินายก

ปีที่แรกสร้างวัดนั้น ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าคือ ปีพ.ศ.ใด ประวัติวัดที่พิมพ์ไว้ในหนังสือสวดมนต์ของวัดให้ข้อมูลจากการสันนิษฐานของนักโบราณคดีคือ วัดน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง ภายหลังพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้ใน พ.ศ.๒๑๑๒ ข้อสันนิษฐานนี้ได้มาจากการตีความหลักฐานคือ เสาหงส์ ๓ ต้น ซึ่งอยู่บริเวณท่าน้ำเดิมของวัด บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า เสาร์หงส์เป็นสัญลักษณ์ที่พม่าสร้างไว้เพื่อแสดงการแผ่อำนาจของตน ประวัดยังระบุว่าวัดโพธินายกเคยเป็นวัดหลวง ก่อนที่จะถูกยกเลิกไปใน พ.ศ. ๒๔๗๐ นอกจากนั้นอุโบสถยังเคยใช้ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยามาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุ ฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑ ปีครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒) ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗ ปีครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๗) ด้านข้อมูลทางศูนย์วัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้ข้อมูลแตกต่างออกไปว่า วัดโพธินายกสร้างใน พ.ศ. ๒๓๙๒ (ตรงกับปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว-รัชกาลที่ ๓ ปีครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) และได้รับพระราชทานวอสุงคามสีมา (เขตที่พระราชทานแก่สงฆ์สำหรับประกอบสังฆกรรม) ใน พ.ศ. ๒๔๐๔ (ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว-รัชกาลที่ ๔ ปีครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑) และอุโบสถสร้างใน พ.ศ. ๒๔๐๔ ส่วนวัดมีหลักฐานสำคัญของทางราชการซึ่งอาจบอกอายุของวัดได้คือ ใบพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. ๒๔๑๓ ซึ่งกล่าวถึงการพระราชทานวิสุงคามสีมาอุโบสถไว้ว่า หลังจากเจ้าอาวาสและประชาชนร่วมใจกันสร้างอุโบสถแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕ ปีครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๔๓) โปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมาใน พ.ศ. ๒๔๑๓ ซึ่งขนาดนั้น วัดมีพระอธิการหรือเจ้าอาวาสชื่อ “อิน” แม้ว่าใบพระราชทานวิสุงคามสีมานี้ไม่ได้ระบุว่า วัดสร้างขึ้นปีพ.ศ.ใด แต่เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า วัดโพธินายกมีอายุเก่าแก่มาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๖๐) อย่างน้อยที่สุด ๑๑๔ ปี ในใบพระราชทานวิสุงคามสีมาข้างต้น เรียกชื่อวัดว่า “วัดโพ” อย่างไรก็ดี ในเอกสารอื่นมีชื่อเรียกที่แตกต่างออกไป เช่น “วัดโพธิท้ายเมือง” “วัดโพธิ์ใต้เมือง” และ “วัดโพธิ์ใต้” สันนิษฐานว่า เพื่อให้ชื่อนั้นต่างไปจาก “วัดโพไซรย์” ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือขึ้นไปและอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำนครนายกเช่นเดียวกัน(ปัจจุบัน วัดโพธิ์ไทรอยู่ในเขต ตำบลบ้านใหญ่ อำเภอเมืองนครนายก) และยังมีหลักฐานอีกว่าใน พ.ศ. ๒๔๓๘ พระครูญาณ-นายก “วัดโพไซรย์” มีคำสั่งแต่งตั้งพระอาจารย์รอด เจ้าอาวาส “วัดโพท้ายเมือง” ให้มีฐานานุกรมเป็นพระใบฎีกา เข้าใจว่า ชื่อวัดว่า “วัดโพธิท้ายเมือง” หรือบางครั้งสะกดว่า “วัดโพธิ์ท้ายเมือง” นี้ น่าจะใช้เป็นทางการมาจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๗๓ พระธรรมธรอิ่ม รักษาการเจ้าอาวาสในขณะนั้น จึงขอเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดโพธิ์นายก” ซึ่งก็ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาแต่กรมการศาสนาให้เขียนว่า “วัดโพธินายก” อุโบสถวัดโพธินายกในปัจจุบัน เข้าใจว่าจะเป็นอุโบสถหลังที่ ๒ เมื่อแรกสร้างมีขนาดตามขนาที่ระบุไว้ในใบพระราชทานวิสุงคามสีมาคือ กว้าง ๑๗ เมตร ๕๐ เซนติเมตร และยาว ๒๕ เมตร ๗๕ เซนติเมตร หลังคาอุโบสถก่อนที่จะมีการซ่อมแซมใน พ.ศ. ๒๕๔๕ มีความงดงามมาก โดยเฉพาะลายปูนปั้นหน้าบัน เป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปกรสันนิษญานในเบื้องต้นว่า อาจเป็นฝีมือช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ ๓ ส่วนภายในอุโบสถมีปฏิมากรรมสำคัญคือ พระประธาน อายุมากกว่า ๓๐๐ ปี หรือตรงกับสมัยอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๓๑๐) พ่อเปลี่ยน มุสิกดิลก เล่าประวัติขององค์พระประธานไว้ในประวัติวัดที่อ้างมาแล้วข้างต้นว่าก่อนที่องค์พระจะถูกชะลอมาไว้ที่วัดโพธินายก นั้น เคยถูกทิ้งไว้ในวัดร้างนอกเมือง ที่ดอนยายขวัญ บ้านเกาะโพธิ์ ตำบลบ้านใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครายก วัดโพธินายกเคยทำหน้าที่สำคัญเกี่ยวข้องกับทางราชการคือ การจัดพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาสำหรับขุนนาง และข้าราชการดังได้กล่าวมาแล้ว แต่สำหรับประชาชน วัดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครนายก โดยเฉพาะคนตลาดวัดโพธิ์ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้วัด ได้ใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจต่าง ๆ เช่นอปสมบท ทำบุญ นอกจากนั้น วัดโพธินายกยังเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนแห่งแรก ๆ ในจังหวัดนครนายก ภายหลังจึงพัฒนาขึ้นเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดของนครนายก

       สำหรับกำเนิดของโรงเรียนเดิมที่วัดโพธินายก มีหลักฐานยืนยันว่า ใน พ.ศ. ๒๔๔๔ รัชกาลที่ ๕ มีพระราชกระแสอนุญาตให้จ่ายเงินพิเศษจำนวน ๗๒๖ บาท สำหรับสร้างโรงเรียนที่ “ วัดโพธิท้ายเมือง”เป็นอาคารเรียน ๑ หลัง ตามคำกราบบังคมทูลของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรี (พระวรวงษ์เธอพระองค์เจ้า-อลังการ) เข้าใจว่า โรงเรียนมีชื่อว่า “โรงเรียนนครพิทยาคม” (ในปีเดียวกันนี้มีการเรี่ยไรเงินสร้างโรงเรียนอุดมพิทยาคาร ที่วัดอุดมธานีด้วย) และใน พ.ศ. ๒๔๔๙พระครูสังฆรักษ์และพระวาศ ครูโรงเรียนได้บริจาดโต๊ะเก้าอี้สำหรับนักเรียน จำนวน ๓๐ ชุด
        ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๑ พระภิกษุวงศ์ ครูโรงเรียนได้ย้ายโรงเรียนไปวัดส้มป่อย ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำนครนายกฝั่งตรงข้าม แต่อีก ๓ ปี ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ – กรมขุนมรุพงศ์-สิริพัฒน์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรีพระองค์ใหม่ โปรดให้ย้ายโรงเรียนกลับไปยังวัดโพธิท้ายเมืองตามเดิม
        การพัฒนาโรงเรียนนครพิทยาคมเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดของนครนายกนั้น เริ่มจากพระเจ้า- บรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ทรงริเริ่มรับบริจาคจากประชาชนเพื่อสร้างโรงเรียนประจำจังหวัดใน พ.ศ. ๒๔๕๗ หลังจากโรงเรียนสร้างแล้วเสร็จ ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชพระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนนาครส่ำสงเคราะห์” อีกประมาณ ๕๐ ปี ต่อมา ในวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจึงได้รวมโรงเรียนนาครส่ำสงเคราะห์ กับ โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนครนายก เป็น “โรงเรียนนครนายกวิทยาคม” ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
        อุโบสถของวัดโพธินายกซึ่งเป็นอาคารที่มีอายุมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๕ ย่อมทรุดโทรมไปตามกาล การซ่อมแซมจึงมีขึ้นเป็นระยะ ๆ ครั้งล่าสุด พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นการซ่อมแซมครั้งใหญ่โดยช่างรับเหมาชาวบ้าน กอร์ปกับการเติบโตของเมืองนครนายก ทำให้อุโบสถและองค์พระประธาน ตลอดจนภูมิทัศน์โดยรอบเปลี่ยนแปลงไปจากแบบเดิมมาก นอกจากนี้ ความชื้นจากแม่น้ำและน้ำฝนและการกัดทำลาของปลวกก็เป็นตัวเร่งให้อุโบสถและพระประธานทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว ลดถอยความงดงามทางศิลปกรรมและความโดดเด่นของอุโบสถ ดังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
        เนื่องจากวัดโพธินายกมีประวัติความเป็นมายาวนาน อย่างช้าที่สุดตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือประมาณ ๑๕๐ ปีมาแล้วและมีอุโบสถและองค์พระประธานที่ทรงคุณค่าทางศิลปกรรม อีกทั้งเคยมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับงานทางราชการและการศึกษาของชาติจึงสมควรค่ายิ่งที่ประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะชาวนครนายก จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันบูรณะให้ฟื้นคืนสภาพงดงามโดดเด่นดังเดิมเพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติและภูมิปัญญาของคนไทยสำหรับชนรุ่นหลังสืบไป

ลำดับเจ้าอาวาส

๑. พระอาจารย์มี พ.ศ. ๒๓๖๕ - ๒๓๗๔

๒. พระอาจารย์รอด พ.ศ. ๒๓๗๕ - ๒๔๐๖

๓. หลวงปู่รอด (ใหญ่) พ.ศ. ๒๔๐๗ - ๒๔๓๗

๔. พระวินัยธรแหยม พ.ศ. ๒๔๓๘ -

๕. พระครูสาวกเมธาจารย์มาจากวัดดงตำบลบ้านใหญ่ รักษาการเจ้าอาวาสวัดโพธิ์

๖. พระทักษิณวรนายก (เสมอพระราชาคณะชั้นเทพ ) รักษาการเจ้าอาวาสวัดโพธินายก ถึง พ.ศ. ๒๕๐๙

๗. พระครโพธิธรรมานุยุต ดำรงค์ตำแหน่ง ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๑ ถึง ๑๐ มกราคม ๒๕๕๗

๘. พระครูปลัดโชคชัย กิตฺติคุโณ รักษาการเจ้าอาวาส ๑๘ มกราคม ๒๕๕๗ เจ้าอาวาส ๓๑ มกราคม ๒๕๕๘ ถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

หลักฐานชั้นตั้น

ที่ดิน, กรม โฉนดที่ดินเลขที่ ๓๓๕๒,๖๒๔๕ และ ๕๔๒๕ ต.ใหญ่ลาว อ.เมือง จ.นครายก

วัดโพธินายก. ใบประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมา, จ.ศ. ๑๒๓๒ (พ.ศ. ๒๔๑๓)

บทความและหนังสือ

"ประวัติวัดโพธินายก" ในสวดมนต์ชาวพุทธ โพธิธรรมนำสุข. กรุงเทพฯ: ป.สัมพันธ์พาชย์, ๒๕๕๐

นายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียน กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา. ประวัติศาสตร์เมืองนครนายก. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ ๒๕๓๙

"ประวัติโรงเรียนนครนายกวิทยาคม" ใน จักรพันธ์. สระบุรี: โรงพิมพ์ปากเพรียวการช่าง ๒๕๓๘

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครนายก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว, ๒๕๔๕

ศิลปกร, กรม. สาระสังเขปเอกสารจดหมายเหตุประวัติศาสตร์จังหวัดนครนายก (เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕-รัชกาลที่ ๗) กรุงเทพฯ: การปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย, ๒๕๓๓ (จัดพิมพ์เนื่องในวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี, ๒ เมษายน ๒๕๓๓)

เว็บไซด์

"วัดโพธินายก" ศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ที่มา http://www.m-culcture.in.th/album/31582

พิมพ์แจกในงานกฐินสามัคคี วัดโพธินายก วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ วัดโพธินายก ศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม