ผู้ใช้:ชัย ปากช่อง/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประวัติความเป็นมาศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ[แก้]
         ไร่สุวรรณฯ หรือศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดิมเป็นไร่ของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี ชื่อไร่ "ธนะฟาร์ม" โดยท่านได้มาซื้อไร่แห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2501 เพื่อบุกเบิกพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูกเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดข้างเคียง ให้มาศึกษาดูงานในการใช้เครื่องมือทุ่นแรงในการทำเกษตรกรรม เช่น รถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการไถพรวน เครื่องมือปลูก ตลอดจนเครื่องมือเก็บเกี่ยว เป็นต้น 
         ในปี พ.ศ. 2506 ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ถึงแก่อสัญกรรม ทรัพย์สินของท่านได้ตกทอดไปเป็นของทางราชการ รัฐบาลขณะนั้นได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาถึงการใช้ประโยชน์จากผืนดินแห่งนี้และเห็นควรจัดทำเป็นสถานศึกษาหรือสถานีทดลองเกษตร ในครานั้นศาสตราจารณ์พิเศษอินทรีจันทรสถิตย์ (หลวงอิงคศรีกสิการ) ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นเป็นโอกาสดีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ควรจะได้ขอจากรัฐบาลเพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาของชาติ จากนั้นคณะกรรมการก็ได้อนุมัติให้โอนไร่ธนะฟาร์มจากกรมธนารักษ์กระทรวงการคลัง มาเป็นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ. 2508 ที่ดินผืนนี้จึงเป็นที่ดินที่ทางราชการได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นสถานีทดลองเกี่ยวกับข้าวโพด และได้ตั้งชื่อฟาร์มนี้ว่า "ฟาร์มสุวรรณฯ" มีพื้นที่ 2,581 ไร่ จึงได้จัดตั้งเป็นสถานีฝึกนิสิตเกษตร ชื่อว่า "สถานีฝึกนิสิตเกษตรสุวรรณวาจกกสิกิจ" เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงสุวรรณ วาจกกสิกิจ อธิการบดีท่านแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ดร.สุวรรณ เกษตรสุวรรณ เป็นหัวหน้าสถานีคนแรก และให้สังกัดอยู่กับคณะเกษตร
         ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ได้ให้ความช่วยเหลือโครงการข้าวโพดและข้าวฟ่างในประเทศแถบเอเชีย (Inter - Asian Corn and Sorghum Program) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้ร่วมมือกับกรมกสิกรรม (กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาข้าวโพดและข้าวฟ่างภายใต้ความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ โดยใช้พื้นที่ของสถานีฝึกนิสิตเกษตรสุวรรณวาจกกสิกิจแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติงาน ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2512 โดยสังกัดอยู่กับสำนักงานอธิการบดี มีนายอัญเชิญ ชมภูโพธิ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีฯ ในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติด้วย
         ในปี พ.ศ. 2522 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น ทั้งสถานีฝึกนิสิตสุวรรณวาจกกสิกิจ และศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติได้โอนย้ายมาสังกัดสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถานีฝึกนิสิตสุวรรณวาจกกสิกิจได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีวิจัยสุวรรณวาจกกสิกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นคือการวิจัยเพื่อพัฒนาพืชไร่เศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็ยังคงงานฝึกนิสิตซึ่งเป็นภารกิจหลักไว้
         ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดตั้งสถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาด้านพืชศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเฉพาะทางขึ้น ทั้งสถานีวิจัยสุวรรณวาจกกสิกิจ และศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ จึงได้โอนย้ายมาสังกัดสถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ฯ และได้เปลี่ยนชื่อสถานีวิจัยสุวรรณวาจกกิสิกิจเป็น "สถานีวิจัยพืชไร่สุวรรณวาจกกสิกิจ"
         ปี พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ สถาบันวิจัยพืชไร่สุวรรณวาจกกสิกิจ และศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ได้โอนย้ายกลับมาสังกัดคณะเกษตร และให้ยุบเลิกสถานีวิจัยพืชไร่สุวรรณวาจกกสิกิจ ไปเป็นศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ

สภาพพื้นที่

         ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ตั้งอยู่เลขที่ 298 หมู่ 1 บ้านปางอโศก ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ประมาณ 3,071 ไร่ อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาปางอโศก ประมาณ 1,400 ไร่ และทิศใต้ของภูเขาปางอโศก ประมาณ 1,671 ไร่ ลักษณะพื้นที่เป็นที่ลาดเชิงเขาหินปูน สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 360 เมตร ลักษณะดินในพื้นที่ศูนย์วิจัยฯ เป็นดินชุดปากช่อง มีลักษณะเป็นดินเหนียวร่วนสีน้ำตาลแดง ระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรด-ด่างปานกลางถึงต่ำ มีธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และกำมะถัน ค่อนข้างต่ำ ลักษณะภูมิอากาศ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 30 องศาเซลเซียส มีลมพัดจัดตลอดปี ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 85% ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,000 - 1,200 มิลลิเมตรต่อปี

ปณิธาน

         "มีความเป็นเลิศทางการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพืชระดับนานาชาติ" ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ของสถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ฯ และนโยบายของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พันธกิจ

         สนับสนุนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความมุ่งมั่นในการวิจัยค้นคว้าให้ได้องค์ความรู้ใหม่ทางด้านการเกษตร และนำมาปรับปรุงพัฒนาพันธุ์พืชให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และความอยู่ดีกินดีของประชากรโลก

วัตถุประสงค์

         ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์หลัก 5 ประการ ได้แก่
         1. เพื่อดำเนินการวิจัยเกียวกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง และพืชไร่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระบบการผลิตข้าวโพดและข้าวฟ่างแบบครบวงจรเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและงานวิจัยของมหาวทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนำผลงานการวิจัยไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยการกำหนดนโยบายการผลิตงานวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการ และความรู้พื้นฐานในสาขาพืชศาสตร์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสู่ระดับนานาชาติ
         2. เพื่อการฝึกงานของนิสิต นักศึกษา ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านข้าวโพด ข้าวฟ่าง และพืชไร่เศรษฐกิจ โดยกำหนดแผนและนโยบายการฝึกอบรมให้แก่นิสิต นักศึกษา ให้สอดคล้องกับหลักสูตรเพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์โดยการปฏิบัติ
         3. เพื่อให้บริการวิชาการแก่สังคม โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ เพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้และให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการกำหนดนโยบายการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งภายในและต่างประเทศ
         4. เพ่ื่อให้บริการงานวิจัยในทุกระดับ เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด และได้ผลงานวิจัยใหม่ๆ ที่มีคุณภาพระดับนานาชาติ โดยการกำหนดแผนและนโยบายการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน บุคลากรการวิจัย และอุปกรณ์การวิจัยเพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยต่างๆ ให้ดำเนินการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
         5. เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ และท่อนพันธุ์ เพื่อให้บริการแก่เกษตรกร บริษัทเอกชน และประชาชนทั่วไป โดยการกำหนดนโยบายการผลิตเมล็ดพันธุ์และท่อนพันธุ์ ที่มีคุณภาพดีตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละปี รวมทั้งให้บริการปรับสภาพเมล็ดพันธุ์แก่องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

สถานที่ตั้ง

         ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เลขที่ 298 หมู่ 1 บ้านปางอโศก ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30320  โทรศัพท์. 061 558 5280-1 โทรสาร. 044 361 108

[1]

  1. ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,หนังสือที่ระลึก 50 ปี ไร่สุวรรณฯ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2558, หน้า 89-91.