ผู้ใช้:ชัย ปากช่อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประวัติความเป็นมาศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

     ในปี พ.ศ. 2508 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับมอบไร่ "ธนะฟาร์ม" ซึ่งเดิมเป็นไร่ของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ จึงได้จัดตั้งเป็นสถานีฝึกนิสิตเกษตร ชื่อว่า " สถานีฝีกนิสิตเกษตรสุวรรณวาจกกสิกิจ" เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ปฐมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ดร.สุวรรณ เกษตรสุวรรณ เป็นหัวหน้าสถานีคนแรก และให้สังกัดอยู่กับคณะเกษตร

     ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 มูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ ได้ให้ความช่วยเหลือโครงการข้าวโพดและข้าวฟ่างในประเทศแถบเอเชีย (Inter-Asian Corn and Sorghum Program) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ร่วมมือกับกรมกสิกรรม (กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาข้าวโพดและข้าวฟ่างภายใต้ความช่วยเหลือของมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์โดยใช้พื้นที่ของสถานีฝึกนิสิตเกษตร สุวรรณวาจกกสิกิจแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติงาน ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งขึ้นเป็น ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2512 โดยสังกัดอยู่กับสำนักงานอธิการบดี มีนายอัญเชิญ ชมภูโพธิ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีฯ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติด้วย

     ในปี พ.ศ. 2522 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น ทั้งศูนย์วิจัยข้าวโพด และข้าวฟ่างแห่งชาติ และ สถานีฝึกนิสิตเกษตรสุวรรณวาจกกสิกิจได้โอนย้ายมาสังกัดสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ สถานีฝึกนิสิตเกษตรสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีวิจัยสุวรรณวาจกกสิกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น คือการวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตพืชไร่เศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็ยังคงงานฝึกนิสิตซึ่งเป็นภารกิจหลักไว้

     ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดตั้งสถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาด้านพืชศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเฉพาะทางขึ้น ทั้งศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ และ สถานีวิจัยสุวรรณวาจกกสิกิจ ก็ได้โอนย้ายมาสังกัดสถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ฯ


สภาพพื้นที่

     ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มีพื้นที่ทั้งหมด 2,589 ไร่ มีลักษณะเป็นที่ลาดเชิงเขาหินปูน สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 360 เมตร มีภูเขาปางอโศกพาดผ่านตามแนวทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก พื้นที่ด้านหน้าเขาปางอโศกติดกับถนนมิตรภาพ มีพื้นที่ 1,389 ไร่ เป็นแปลงทดลองวิจัยที่สามารถให้น้ำชลประทานได้ตลอดปี ซึ่งน้ำที่ใช้ในการชลประทานเป็นน้ำบาดาล ส่วนด้านหลังเขาใช้เป็นพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ และเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตเมล็ดพันธุ์ มีพื้นที่ 1,200 ไร่ ลักษณะดิน ดินในพื้นที่ของศูนย์วิจัยฯ เป็นดินชุดปากช่อง มีลักษณะเป็นดินเหนียวร่วนสีน้ำตาลแดง ระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรดด่าง (pH) ปานกลางถึงต่ำ มีธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และกำมะถันค่อนข้างต่ำ ลักษณะภูมิอากาศ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 14 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33 องศาเซลเซียส มีลมพัดจัดตลอดปี ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 85% ปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,000-1,200 มิลลิเมตรต่อปี ในแต่ละปีจะมีช่วงของฝนตกมาก (peak) 2 ช่วง


ปณิธาน

     “มีความเป็นเลิศทางวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพืชระดับนานาชาติ” ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และภารกิจหลักของสถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ฯ และนโยบายของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


พันธกิจ

     สนับสนุนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความมุ่งมั่นในการวิจัยค้นคว้าให้ได้องค์ความรู้ใหม่ทางด้านการเกษตรและนำมาปรับปรุงพัฒนาพันธ์พืชให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และความกินดีอยู่ดีของประชากรโลก


วัตถุประสงค์

     ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติมีวัตถุประสงค์หลัก 5 ประการ

     1) เพื่อดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง และพืชอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระบบการผลิตข้าวโพดและข้าวฟ่าง แบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม โดยการกำหนดนโยบายการผลิตงานวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการ และความรู้พื้นฐานในสาขาพืชศาสตร์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สู่ระดับนานาชาติ

     2) เพื่อฝึกงานนิสิต นักศึกษา ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ด้านข้าวโพด ข้าวฟ่าง และพืชไร่เศรษฐกิจ โดยกำหนดแผน และนโยบายการฝึกอบรมให้แก่นิสิตนักศึกษาให้สอดคล้องกับหลักสูตร เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์โดยการลงมือปฏิบัติ

     3) เพื่อให้บริการวิชาการแก่สังคม โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ เพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้และให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการกำหนดนโยบายการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งภายในและต่างประเทศ

     4) เพื่อให้บริการงานวิจัย ในทุกระดับเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด และได้ผลงานวิจัยใหม่ๆ ที่มีคุณภาพในระดับนานาชาติ โดยการกำหนดแผน และนโยบายการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน บุคลากรการวิจัย และอุปกรณ์การวิจัยเพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยต่างๆ ให้ดำเนินการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

     5) เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์และท่อนพันธุ์ เพื่อให้บริการแก่เกษตรกร บริษัทเอกชน และประชาชนทั่วไป โดยการกำหนดนโยบายการผลิตเมล็ดพันธุ์และท่อนพันธุ์ที่มีคุณภาพดี ให้บริการแก่เกษตรกร บริษัทเอกชน และประชาชนทั่วไป ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละปี รวมทั้งให้บริการปรับสภาพเมล็ดพันธุ์แก่องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน


สถานที่ตั้ง

ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ตั้งอยู่เลขที่ 298 บ้านปางอโศก ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ริมถนนมิตรภาพ หลักกิโลเมตรที่ 155 อยู่ในแนวเส้นรุ้งที่ 14.5 องศาเหนือ เส้นแวงที่ 101 องศาตะวันออก

ที่อยู่เพื่อติดต่อประสานงานคือ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ เลขที่ 298 ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30320

โทรศัพท์ 061 558 5280-1 โทรสาร 0-4436 1108 E-mail:raisuwan@ku.ac.th [[1]][1]

  1. "ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้างฟ่างแห่งชาติ". www.agr.ku.ac.th.