ผีโพง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ผีโพง เป็นผีตามความเชื่อพื้นบ้านทางภาคเหนือ ผู้ที่เป็นผีโพงเกิดจากเล่นไสยศาสตร์แล้วควบคุมวิชาในตัวเองไม่ได้ หรือปลูกว่านชนิดหนึ่ง เรียกว่าว่านผีโพง ซึ่งมีสีขาว รสฉุนร้อน เมื่อแก่จะมีธาตุปรอทลงกิน ทำให้เกิดแสงส่องสว่างแบบแมงคาเรือง

ผู้ที่เป็นผีโพง ในเวลากลางวันจะเป็นเหมือนผู้คนธรรมดา ๆ ทั่วไป แต่ตกกลางคืนจะกลายร่างเป็นผีโพง มีจุดเด่นคือ มีแสงสว่างหรือดวงไฟที่รูจมูก ออกหาของกิน ได้แก่ ของสกปรกคาว เช่น กบ, เขียด, ศพ หรือรกเด็กเกิดใหม่ เช่นเดียวกับผีกระสือ, ผีกระหัง หรือผีปอบ

โดยปกติแล้ว ผีโพงจะไม่ทำร้ายมนุษย์ แต่ถ้าหากถูกคุกคามก็จะจู่โจมทำร้ายได้เช่นกัน หากมีผู้ใดไปทำอะไรให้ผีโพงไม่พอใจ ผีโพงจะใช้ก้านกล้วยที่ตัดใบออกหมดหรือคานคาบของแม่ม่ายพุ่งข้ามหลังคาบ้านผู้นั้น ซึ่งครอบครัวของผู้ที่โดนขว้างจะพบกับภัยพิบัติต่าง ๆ นานา

ผีโพงจะตายได้ เมื่อมีผู้ไปพบปะกับผีโพงเข้าอย่างจัง และทักว่าผีโพงแท้จริงแล้วคือใคร หากผ่านพ้นมาได้หนึ่งวันแล้ว ผู้ที่เป็นผีโพงจะตาย

ผีโพงสามารถถ่ายทอดให้แก่กันได้ ด้วยพ่นน้ำลายใส่หน้าหรือมีใครไปกินน้ำลายของผีโพงเข้า[1] [2]

ที่ตำบลพลับพลา อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อ บ้านหนองผีหลอก อยู่ห่างจากตัวอำเภอโชคชัยประมาณ 5 กิโลเมตร สภาพส่วนใหญ่เป็นไร่มันสำปะหลังและนาข้าว เหตุที่ได้ชื่อนี้เนื่องจากคำร่ำลือที่มีมาแต่อดีตนับร้อยปีว่าที่แห่งนี้ ในอดีตมีสภาพเป็นหนองน้ำพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ติดกับทางเกวียน ในเวลาค่ำคืนมีผีโพงและผีโป่งออกมาจับกบเขียดกินเป็นอาหารบ่อย ๆ จนไม่มีผู้ใดกล้าผ่านไปในเวลากลางคืน แต่จนปัจจุบันนี้หมู่บ้านแห่งนี้ยังมิได้มีการยกฐานะเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. [https://web.archive.org/web/20120104171619/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-28-search.asp เก็บถาวร 2012-01-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โพง ก. ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]
  2. ผีโพง จากหลอน, ภาพยนตร์ไทย พ.ศ. 2546
  3. "ฮือฮา!! เปิดตำนาน "บ้านหนองผีหลอก" หลังแชร์ว่อน ร่ำลือผีโพง-ผีโป่งหลอกชาวบ้าน(คลิป)". ข่าวสด. September 1, 2016. สืบค้นเมื่อ September 2, 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]