ป้อมแผลงไฟฟ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ป้อมแผลงไฟฟ้า
ประตูป้อมแผลงไฟฟ้า
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทป้อมปราการ
เมืองตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2357
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างก่ออิฐถือปูน

ป้อมแผลงไฟฟ้า เป็นป้อมปราการ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพระประแดง ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

ประวัติ[แก้]

ป้อมแผลงไฟฟ้าสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ พ.ศ. 2357 โดยสร้างขึ้นบนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันการรุกรานของข้าศึก พร้อมกับ ป้อมมหาสังหาร ป้อมราหูจร ป้อมปีศาจสิง ป้อมวิทยาคม ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงป้อมแผลงไฟฟ้า ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2436 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมและดัดแปลงเป็นป้อมทหารเรือ สำหรับกองโรงเรียนทหารเรือที่ 3[1] และในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้บูรณะซ่อมแซมอีกครั้ง

ต่อมา พ.ศ. 2514 เทศบาลเมืองพระประแดงได้ตกแต่งซ่อมแซมให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ได้นำปืนใหญ่ขึ้นมาตั้งบนกำแพงอยู่ตรงกลาง 1 กระบอก และมุมกำแพงด้านขวา 1 กระบอก แนวกำแพงด้านขวาและด้านซ้ายมีอุโมงค์ก่ออิฐถือปูน มีทางเดินถึงกันได้[2] ป้อมแผลงไฟฟ้าเป็นโบราณสถานที่รัฐบาลได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 59 วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2523

สถาปัตยกรรม[แก้]

ป้อมแผลงไฟฟ้า มีกำแพงล้อมรอบตัวป้อมทั้ง 4 ด้าน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ด้านทิศใต้ มีกำแพง 2 ชั้น ถมดินอัดแน่นระหว่างชั้นนอกและชั้นในเพื่อป้องกันกระสุนปืนที่ยิงตกลงมา[3] ป้อมและกำแพงก่ออิฐถือปูนตัวป้อมทรงสี่เหลี่ยมปาดมุม ทางด้านทิศเหนือมีกำแพงต่อออกไปล้อมพื้นที่ภายในป้อม มุมกำแพงเป็นมุมมน ด้านนอกฉาบปูนจับเป็นบัว ด้านในก่อลดระดับ ตรงกลางกำแพงด้านทิศเหนือมีซุ้มประตูทรงสี่เหลี่ยม ด้านบนมีตัวอักษรบอกชื่อป้อมและปีที่สร้าง เจาะช่องประตูเป็นช่องโค้ง กำแพงทางด้านทิศตะวันออกบริเวณมุมที่ต่อกับตัวป้อมมีแนวกำแพงก่อยื่นออกไป

บริเวณภายในป้อมมีกำแพงป้อมชั้นในตรงกลางกำแพงมีทางลาดขึ้นลงเป็นที่ชักลากปืนใหญ่ขึ้นไปบนกำแพงป้อมทางทิศใต้ ซึ่งมีดินถมอัดแน่นระหว่างกำแพงชั้นนอกและกำแพงชั้นใน มีปืนใหญ่ตั้งอยู่มุมกำแพงด้านซ้ายมือซึ่งมีอยู่เดิม

ประตูป้อมมี 3 ด้าน ด้านตะวันตกเฉียงเหนือด้านหน้าป้อม ซุ้มประตูยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ซุ้มประตูอยู่ทนสภาพชำรุด แต่ยังมีส่วนของเดิมอยู่บูรณะได้ ด้านทิศใต้ ประตูทางเข้าอยู่มุมกำแพง ไม่มีซุ้มประตู มีคานเสากลมอยู่ด้านบน และเสากลมติดกับด้านบน ทั้งขวาและซ้ายเป็นเสาประตูอยู่ในสภาพชำรุดแต่บูรณะได้[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ป้อมแผลงไฟฟ้า". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  2. "ประตูป้อมแผลงไฟฟ้า จ.สมุทรปราการ". ช่อง 7.
  3. "ป้อมแผลงไฟฟ้า". เทศบาลเมืองพระประแดง.
  4. "ป้อมแผลงไฟฟ้า". หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ.