ปลาไหลเผือกน้อย
ปลาไหลเผือกน้อย | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Magnoliopsida |
อันดับ: | Sapindales |
วงศ์: | Simaroubaceae |
สกุล: | Eurycoma |
สปีชีส์: | E. harmandiana |
ชื่อทวินาม | |
Eurycoma harmandiana |
ปลาไหลเผือกน้อย ชื่อวิทยาศาสตร์: Eurycoma harmandiana Pierre เป็นพืชในวงศ์ Simaroubaceae เป็นไม้พุ่ม มีรากแก้วขนาดใหญ่เพียงรากเดียว รากยาว สีขาวนวล รากที่มีอายุหลายปีจะมีความยาวมาก อาจยาวมากกว่า 2 เมตร ใบประกอบแบบขนนก โคนใบเบี้ยว เส้นกลางใบนูนเล็กน้อยด้านบน นูนเด่นชัดด้านล่าง ผิวใบเรียบเป็นมัน ดอกช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบขนานกับพื้นดิน ขนสั้นนุ่ม ไม่มีขนต่อม ดอกย่อยหลายดอก แยกเพศ สีแดงแกมม่วง กลีบดอกมีขนทั้งสองด้าน เกสรเพศผู้ 5 อัน ขนสั้นนุ่ม รังไข่ลดรูปในดอกเพศผู้ ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรรูปโล่ ริ้วประดับรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ร่วงง่าย หลอดกลีบเลี้ยงสั้น ผลสด ทรงรี ก้านผลสั้น เปลือกนอกบาง พบในลาวและกัมพูชา ในไทยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[1]
ปลาไหลเผือกน้อยมีฤทธิ์ทางสมุนไพรคล้ายปลาไหลเผือกใหญ่ ใช้เปลือกลำต้น แก้ไข้จับสั่น ไข้สันนิบาต ไข้ทรพิษ และแก้เบาพิการ ราก ใช้เป็นยาแก้ไข้ทุกชนิด ถ่ายพิษทุกชนิด แก้ลม แก้วัณโรค ถ่ายฝีในท้อง ขับเหงื่อ ขับพยาธิ แก้เจ็บคอ แก้กาฬโรค และรักษาความดันโลหิตสูง ถ่ายพิษเสมหะและโลหิต ใช้เป็นส่วนประกอบของยาสามราก ยาประสะเหมือดคน ยาจันทร์ลีลา ทางจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ราก ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ แก้ปวด แก้ไข้มาลาเรีย ช่วยบำรุงกำลัง ฝนกับน้ำทา แก้ฝีหนอง ฝนน้ำกิน มีรสเบื่อมา ใช้เลิกเหล้า นำรากมาผสมกับพญายา และพริกป่า ต้มน้ำกินแก้ไข้[2]
รากปลาไหลเผือกน้อยมีสารที่รสขมคือ eurycomalactone, eurycomanol และ eurycomanon ฆ่าเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรีย (Plasmodium falciparum) ในหลอดทดลอง เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งปอด เซลล์มะเร็งเต้านม มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ HIV ในหลอดทดลอง [3]