ปลาแลมป์เพรย์ทะเล
ปลาแลมป์เพรย์ทะเล | |
---|---|
ภาพวาดของปลาแลมป์เพรย์ทะเลวัยอ่อน และปลาขนาดโตเต็มที่ | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้นใหญ่: | Agnatha |
ชั้น: | Petromyzontida |
อันดับ: | Petromyzontiformes |
วงศ์: | Petromyzontidae |
สกุล: | Petromyzon Linnaeus, 1758 |
สปีชีส์: | P. marinus |
ชื่อทวินาม | |
Petromyzon marinus Linnaeus, 1758 |
ปลาแลมป์เพรย์ทะเล หรือ ปลาแลมป์เพรย์ทะเลสาบ (อังกฤษ: Sea lamprey, Lake lamprey[2]; ชื่อวิทยาศาสตร์: Petromyzon marinus) ปลาชนิดหนึ่ง จำพวกปลาแลมป์เพรย์ หรือปลาปากกลม จัดเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Petromyzon[2]
ปลาแลมป์เพรย์ทะเล มีความยาวเต็มที่ได้ถึง 125 เซนติเมตร น้ำหนักได้ถึง 2.5 กิโลกรัม นับเป็นปลาแลมป์เพรย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีลำตัวยาวคล้ายปลาไหล ลำตัวเรียบลื่นไม่มีเกล็ด มีลักษณะเด่นคือ ปากเป็นวงกลมไม่มีขากรรไกรหรือกราม ภายในปากเต็มไปด้วยฟันคมขนาดเล็กจำนวนมาก เรียงเป็นแถวไปตามวงกลมของปาก ภายในปากมีอวัยวะพิเศษคล้ายท่อ ใช้สำหรับดูดเลือด มีสีลำตัวตั้งแต่สีฟ้าจนถึงสีดำเทา มีดวงตาขนาดเล็ก และมีซี่กรองเหงือกข้างละ 7 แถว
กระจายพันธุ์อยู่ตั้งแต่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน, ชายฝั่งแปซิฟิกของอเมริกาเหนือ, โนวาสโกเทีย, ตอนใต้ของเกาะกรีนแลนด์, ไอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร และสแกนดิเนเวีย รวมถึงเกรตเลคส์และแม่น้ำ หรือลำธารน้ำจืดต่าง ๆ กินอาหารโดยการดูดเลือดของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น ปลาขนาดใหญ่ชนิดต่าง ๆ ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม เช่น ปลาโบว์ฟิน, ปลาการ์, ปลาเทราต์, ปลาซัคเกอร์ โดยมักจะดูดบริเวณหลังครีบอกหรือใต้ท้อง รอยแผลจะปรากฏเป็นรอยช้ำแดงเป็นจั้ม ๆ ปลาที่ถูกดูดอาจถึงตายหรือบาดเจ็บสาหัส รวมกระทั่งมีรายงานว่าโจมตีดูดเลือดมนุษย์ที่ลงเล่นน้ำด้วย โดยแผลที่ถูกดูดจะปรากฏรอยฟันเป็นวงกลมเห็นชัดเจน และมีเลือดไหลซิบ ๆ[3]
ปลาแลมป์เพรย์ทะเล มีวงจรชีวิตปกติอาศัยอยู่ในทะเล แต่จะเดินทางเข้าสู่เขตน้ำจืดเป็นระยะทางไกลนับเป็นพัน ๆ กว่ากิโลเมตร เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ในลำธารน้ำที่ไหลเชี่ยว บางครั้งที่พบเขื่อนหรือที่กั้นที่เป็นที่สูง ก็จะพยายามคืบคลานขึ้นไป[3] ในช่วงนี้ปลาแลมป์เพรย์ทะเลจะไม่กินอาหารทั้งตัวผู้และตัวเมีย การผสมพันธุ์เป็นการปฏิสนธิภายนอก วางไข่ได้ครั้งละ 35,000-100,000 ฟอง โดยปลาตัวเมียจะขุดหลุมวางไข่ซึ่งมีความกว้างประมาณ 1 เมตร และลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ไข่จะฟักเป็นตัว หลังจากปลาพ่อแม่ตายไปแล้ว ปลาในวัยอ่อนจะยังไม่มีฟันและตาบอด ซึ่งมีลักษณะภายนอกแตกต่างจากปลาเต็มวัยพอสมควร และต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 ปีก่อนที่จะเติบโตจะเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นปลาเต็มวัย ซึ่งในระยะนี้ปลาวัยอ่อนจะเลี้ยงตัวเองในน้ำจืด[4]
ปลาแลมป์เพรย์ทะเล แม้จะมีรูปลักษณ์ที่น่าเกลียด แต่ก็นิยมนำมารับประทานเป็นอาหารทั้งสตูหรือพาย และมีอินเดียนแดงบางเผ่าที่นำมาย่างรมควัน รับประทานเป็นอาหารด้วย[3] ในกลางปี ค.ศ. 2013 ทางหน่วยงานสัตว์ป่าและสัตว์น้ำแห่งสหรัฐอเมริกาต้องวางยาฆ่าตัวอ่อนของปลาแลมป์เพรย์ทะเลในทะเลสาบมิชิแกน เพื่อป้องกันไม่ให้ขยายพันธุ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ชี้เป็นตัวการฆ่าปลาชนิดอื่น ๆ ด้วยการเป็นปรสิตสูบเลือดปลาอื่นจนตาย ซึ่งในรอบ 50 ปีที่ผ่านมานั้น ทางหน่วยงานนี้ก็ได้วางยาเพื่อกำจัดแบบนี้ทุก ๆ 3-5 ปี[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ จาก IUCN
- ↑ 2.0 2.1 จาก itis.gov
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Vampires of the Deep, "River Monsters" .สารคดีทางดิสคัฟเวอรี่แชนแนล ทางทรูวิชั่นส์: จันทร์ที่ 9 กันยายน 2556
- ↑ Sea Lampreys, Petromyzon marinus
- ↑ ข่าวเด่นเช้านี้, "เรื่องเล่าเช้านี้". รายการทางช่อง 3 โดย สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา และพิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ: วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2556
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Petromyzon marinus ที่วิกิสปีชีส์