ปลาหมอช้างเหยียบ
สำหรับปลาตะกรับอย่างอื่น ดูที่: ปลาตะกรับ
ปลาหมอช้างเหยียบ | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Anabantiformes |
วงศ์: | Pristolepididae |
สกุล: | Pristolepis |
สปีชีส์: | P. fasciata |
ชื่อทวินาม | |
Pristolepis fasciata (Bleeker, 1851) | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลาหมอช้างเหยียบ (อังกฤษ: Striped tiger leaffish, Banded leaffish, Malayan leaffish) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pristolepis fasciata ในวงศ์ปลาหมอช้างเหยียบ (Pristolepididae)
มีรูปร่างป้อม ลำตัวด้านข้างแบนพื้นลำตัวสีเขียวหรือสีน้ำตาลปนเหลือง มีเกล็ดแบบสากและขอบหยักปกคลุมทั่วตัวมีแถบสีดำพาดขวางลำตัวประมาณ 8-12 แถบ หัวเล็กจะงอยปากสั้นทู่ ปากเล็กยืดหดได้เล็กน้อย มีฟันซี่เล็ก ๆ เป็นแถวอยู่บนขากรรไกรบนและล่าง รูจมูกแยกจากกันอย่างเด่นชัดและอยู่ชิดกับตา ครีบหลังมีสองส่วนเชื่อมติดกันเป็นแนวยาว ส่วนหน้าเป็นด้านเดียวเป็นหนามแหลมคม ส่วนหลังเป็นครีบอ่อน ครีบก้นใหญ่มีก้านครีบแข็งและแหลมคม ครีบหางใหญ่ปลายหางมนกลม
มีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 5-10 เซนติเมตร พบได้ใหญ่ที่สุด 20 เซนติเมตร จัดเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในวงศ์นี้
เป็นปลาที่พบได้ทุกสภาพของแหล่งน้ำทั้งแหล่งน้ำนิ่งและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค รวมถึงในแหล่งที่เป็นน้ำกร่อยด้วย ในต่างประเทศพบได้ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีฤดูวางไข่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม ไข่มีลักษณะเม็ดกลมสีเหลืองเข้มเป็นไข่ลอย เป็นปลาที่กินสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่าเป็นอาหาร
นิยมตกกันเป็นเกมกีฬาและรับประทานเป็นอาหาร มีการเพาะเลี้ยงกันเป็นปลาเศรษฐกิจ [1]
ปลาหมอช้างเหยียบยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น ปลาหมอโค้ว, ปลาปาตอง, ปลาหมอน้ำ, ปลาตะกรับ, ปลากระตรับ, ปลาหน้านวล, ปลาก๋า หรือ ปลาอีก๋า เป็นต้น ในขณะที่ภาษาใต้เรียกว่า ปลาหมอโพรก[1][2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ชวลิต วิทยานนท์. คู่มือปลาน้ำจืด. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2547. 195 หน้า. หน้า 44. ISBN 9744841486
- ↑ [https://web.archive.org/web/20120717163219/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-41-search.asp เก็บถาวร 2012-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หมอช้างเหยียบ จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Pristolepis fasciatus (ไทย)