ปลาปอมปาดัวร์เฮคเคล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาปอมปาดัวร์เฮคเคล
สถานะการอนุรักษ์
Not evaluated (IUCN 3.1)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Cichlidae
สกุล: Symphysodon
สปีชีส์: S.  discus
ชื่อทวินาม
Symphysodon discus
Heckel, 1840
ชื่อพ้อง
  • Symphysodon discus willischwartzi W. E. Burgess, 1981

ปลาปอมปาดัวร์เฮคเคล (อังกฤษ: Heckel discus, Red discus; ชื่อวิทยาศาสตร์: Symphysodon discus) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)

จัดเป็นปลาปอมปาดัวร์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะโดดเด่นที่แตกต่างจากปลาปอมปาดัวร์ชนิดอื่น ๆ คือ กลางลำตัวมีแถบสีดำในแนวตั้งข้างลำตัว 9 แถบ โดยแถบที่ 5 บริเวณกลางลำตัวจะเป็นแถบหนาใหญ่เห็นชัดเจนที่สุด และแถบแรกที่พาดบริเวณดวงตาและแถบสุดท้าย คือ แถบที่ 9 บริเวณโคนหางจะมีสีดำเข้มเช่นเดียวกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า

ปลาปอมปาดัวร์เฮคเคล จะพบในแหล่งน้ำที่น้ำมีสีชา หรือที่เรียกว่า "Black Water" ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของน้ำประมาณ 3.8-4.8 ซึ่งนับว่ามีความเป็นกรดสูง และปลาปอมปาดัวร์เฮคเคลเมื่อเทียบกับปลาปอมปาดัวร์ชนิดอื่นอีก 2 ชนิดนั้นจะมีขนาดเล็กกว่า โดยทั่วไปพฤติกรรมในธรรมชาติมักรวมกลุ่มเป็นฝูงขนาดใหญ่เฉพาะปลาปอมปาดัวร์เฮคเคลด้วยกัน

นอกจากนี้แล้วในวงการปลาสวยงาม ปลาปอมปาดัวร์เฮคเคลยังสามารถแบ่งออกเป็นสายพันธุ์ย่อย ๆ ได้อีกจำนวนหนึ่งตามสีสรร และแหล่งน้ำที่พบ ได้แก่

  • นามูนดาบลูเฮคเคล (Nhamundá blue heckel) เป็นปลาปอมปาดัวร์เฮคเคลที่มีที่มาจากแม่น้ำนาบูนดา ส่วนใหญ่มักมีลวดลายบนตัวเป็นสีเขียวอมน้ำเงินเห็นชัดเจน โดยเฉพาะบางตัวจะมีสีเข้มมากจนถึงบริเวณใบหน้าและแก้มเป็นปื้นสีเขียวอมน้ำเงิน ซึ่งลักษณะอย่างนี้จะเรียกว่า "บลูมูนเฮคเคล" (Blue moon heckel) มีราคาซื้อขายที่สูง และหาได้ยากมาก
  • อูนินิเฮคเคล (Unini heckel) เป็นปลาปอมปาดัวร์เฮคเคลที่มีที่มาจากแม่น้ำอูนินิ

ซึ่งปลาปอมปาดัวร์เฮคเคลนั้น ได้ถูกนำมาผสมข้ามพันธุ์กับปลาปอมปาดัวร์สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จากปลาป่ามาแล้ว กลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีสีสันโดดเด่นกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ แต่ยังคงลายพาดบริเวณกลางลำตัวที่โดดเด่นไว้อยู่ ซึ่งปลาในลักษณะนี้ถูกเรียกว่า "ปลาปอมปาดัวร์เฮคเคลครอส" (Heckel cross) ในปัจจุบัน ปริมาณการผลิตที่มีลักษณะสวยงามพอจะจำหน่ายได้ก็ยังมีปริมาณไม่มากนัก ทำให้ปลาปอมปาดัวร์เฮคเคลครอสมีราคาซื้อขายที่แพงไม่แพ้ปลาป่าเลยทีเดียว[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. หน้า 96-121, Wild Discus ทำความรู้จักปอมฯ ป่า. "Wild Ambition" โดย เอกราช กลิ่นบุปผา/Jack @ Brilliant Discus, น.สพ.ฐิตินันท์ เศียรอักษร, กองบรรณาธิการ. นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 44 ปีที่ 4: กุมภาพันธ์ 2014

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Symphysodon discus ที่วิกิสปีชีส์