ข้ามไปเนื้อหา

ปลาฉลามพยาบาลสีน้ำตาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาฉลามพยาบาลสีน้ำตาล
ขณะที่ว่ายขึ้นมาบนผิวน้ำ
ในเวลากลางวันจะนอนอยู่นิ่ง ๆ กับพื้นน้ำ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Chondrichthyes
ชั้นย่อย: Elasmobranchii
อันดับ: Orectolobiformes
วงศ์: Ginglymostomatidae
สกุล: Nebrius
Rüppell, 1837
สปีชีส์: N.  ferrugineus
ชื่อทวินาม
Nebrius ferrugineus
(Lesson, 1831)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง

สกุล:

  • Nebrodes Garman, 1913

ชนิด:

  • Ginglymostoma muelleri Günther, 1870
  • Ginglymostoma rueppellii Bleeker, 1852
  • Nebrius concolor Rüppell, 1837
  • Nebrius doldi Smith, 1953
  • Nebrodes concolor ogilbyi Whitley, 1934
  • Nebrodes macrurus Garman, 1913
  • Scyllium ferrugineum Lesson, 1831
  • Scymnus porosus Ehrenberg, 1871

ปลาฉลามพยาบาลสีน้ำตาล หรือ ปลาฉลามขี้เซาสีน้ำตาล (อังกฤษ: Tawny nurse shark, Nurse shark, Sleepy shark) เป็นปลาฉลามชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nebrius ferrugineus (นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า ปลาฉลามพยาบาล หรือ ปลาฉลามขี้เซา[1]) อยู่ในวงศ์ Ginglymostomatidae เป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Nebrius[2]

จัดเป็นปลาฉลามในอันดับ Orectolobiformes หรือปลาฉลามหน้าดินขนาดใหญ่ จะงอยปากยื่นยาว ตาเล็กมาก มีรูหายใจเล็ก ๆ อยู่หลังตา ครีบใหญ่ ปลายครีบแหลม ครีบอกโค้งยาว ครีบหางยาว มีครีบก้น ลำตัวสีน้ำตาลเข้มหรือสีเทาอมน้ำตาลอ่อน และอาจมีจุดกระสีดำเล็ก ๆ กระจายไปทั่ว ซึ่งในครั้งหนึ่งเคยสร้างความสับสนให้แก่แวดวงวิชาการว่ามี 2 ชนิดหรือไม่ แต่ในปัจจุบันได้จัดแบ่งออกมาเป็นอีกชนิด คือ ปลาฉลามพยาบาล (Ginglymostoma cirratum) ซึ่งเป็นปลาฉลามพยาบาลชนิดที่พบได้ในทวีปอเมริกา[3]

มีขากรรไกรที่แข็งแรง ในปากมีฟันที่แบนและงุ้มเข้าภายใน ใช้สำหรับงับอาหารซึ่งได้แก่ ปลาขนาดเล็กกว่าตามหน้าดินและสัตว์มีกระดองและมอลลัสคาต่าง ๆ รวมถึงหอยเม่นให้อยู่และกัดให้แตก โดยใช้อวัยวะที่คล้ายหนวดเป็นเครื่องนำทางและเป็นประสาทสัมผัส จะใช้วิธีการกินด้วยการดูดเข้าปาก

เป็นปลาที่อาศัยและหากินตามพื้นน้ำในความลึกไม่เกิน 70 เมตร ตามกองหินหรือแนวปะการังใต้น้ำ บางครั้งพบได้ใกล้ชายฝั่งหรือป่าชายเลน เนื่องจากเข้ามาหาอาหารกิน[4] ใช้เวลาหากินในเวลากลางคืน และนอนหลับตามโพรงถ้ำหรือกองหินในเวลากลางวัน เป็นปลาที่มักจะอยู่นิ่ง ๆ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก ซึ่งบางครั้งอาจพบรวมตัวกันได้นับสิบตัว[5]

จัดเป็นปลาหน้าดินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้แถบอินโด-แปซิฟิก เนื่องจากมีความยาวเกือบ 2 เมตร[1] โดยปกติเป็นปลาที่ไม่ทำอันตรายมนุษย์ จึงเป็นที่ชื่นชอบของนักดำน้ำที่จะถ่ายรูปเช่นเดียวกับ ปลาฉลามเสือดาว (Stegostoma fasciatum) แต่ก็สามารถทำร้ายมนุษย์ได้ หากไปรบกวนเข้าด้วยการกัดและดูดที่ทรงพลัง[4] ในน่านน้ำไทยจะพบได้มากที่ฝั่งทะเลอันดามัน[6][1]

เป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว โดยออกเป็นไข่ ซึ่งตัวอ่อนจะพัฒนาอยู่ในไข่ ออกลูกครั้งละประมาณ 2 ตัว ไม่เกิน 4 ตัว เนื่องจากมี 2 มดลูก โดยตัวอ่อนจะไม่ได้รับอาหารผ่านทางรก แต่จะได้รับอาหารจากถุงไข่แดงแทน ระยะเวลาในการเจริญเติบโตจนฟักเป็นประมาณ 6 เดือน ซึ่งเมื่อคลอดออกมาแล้ว ปลาฉลามพยาบาลสีน้ำตาลจะกัดกินกันเองจนเหลืออยู่เพียงตัวเดียวในมดลูกของแม่ เมื่อแรกเกิดมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และมีจุดกระดำกระจายไปทั่ว

เมื่อกลางปี พ.ศ. 2553 มีปลาฉลามพยาบาลสีน้ำตาลตกลูกในที่เลี้ยง (ไม่ใช่แหล่งน้ำธรรมชาติ) ที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ สงขลา จังหวัดสงขลา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและโลก[7] และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งอื่น ๆ ที่มีเลี้ยงนั้น ได้แก่ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุพรรณบุรี และภายในสวนสัตว์ดุสิต หรือ เขาดินวนา ในกรุงเทพมหานคร

ลูกปลาฉลามขี้เซาสีน้ำตาลตกลูกที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำสงขลาที่เดียวในโลก

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ดร.ชวลิต วิทยานนท์. คู่มือปลาทะเล. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2551. 192 หน้า. หน้า 98. ISBN 978-974-484-261-9
  2. Leonard J. V. Compagno (1984). Sharks of the World: An annotated and illustrated catalogue of shark species known to date. Food and Agriculture Organization of the United Nations. pp. 205–207, 555–61, 588.
  3. Goto, T. (2001). "Comparative Anatomy, Phylogeny and Cladistic Classification of the Order Orectolobiformes (Chondrichthyes, Elasmobranchii)". Memoirs of the Graduate School of Fisheries Science, Hokkaido University. 48 (1): 1–101. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-16. สืบค้นเมื่อ 2014-12-27.
  4. 4.0 4.1 Vacation Nightmares, "Dangerous Encounters". สารคดีทาง new)tv: ศุกร์ที่ 26 ธันวาคม 2557
  5. ฉลามขี้เซา....นักล่าแห่งรัตติกาล
  6. [https://web.archive.org/web/20110217005548/http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9540000020452 เก็บถาวร 2011-02-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ดำน้ำกับฝูงกระเบนปีศาจ / วินิจ รังผึ้ง จากผู้จัดการออนไลน์]
  7. [ลิงก์เสีย] ‘ฉลามขี้เซา’ตกลูกในอะควาเรียม จากไทยโพสต์

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]