พระราชปุจฉา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ประชุมพระราชปุจฉา)

พระราชปุจฉาของพระมหากษัตริย์ถึงคณะสงฆ์ เป็นคำถามที่พระมหากษัตริย์ทรงมีถึงสมเด็จพระสังฆราช และพระราชคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย ให้ถวายวิสัชนาในข้ออรรถธรรมชึ่งทรงสงสัย มีมาแต่โบราณ ดังที่ปรากฏในพระสูตรว่า มีพระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์ ได้ไปทูลถามข้ออรรถธรรมแก่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า รวมทั้งเรื่องมิลินทปัญหา ที่พระเจ้ามิลินท์ทรงถามพระนาคเสน ด้วยข้ออรรถธรรมต่าง ๆ อย่างพิสดาร [1]

รายละเอียด[แก้]

ธรรมเนียมของการมีพระราชปุจฉานี้มีมาแต่โบราณ ปรากฏหลักฐานตามพระสูตรว่ามีพระมหากษัติรย์บางพระองค์ได้ทูลถามข้ออรรถธรรมแก่สมเด็จพระสมมาสัมพุทธเจ้า และมีหลักฐานในคัมภีร์ชั้นปกรณ์วิเสสปรากฏในคัมภีร์มิลินทปัญหา ที่พระเจ้ามิลินทร์ได้ซักถามพระนาคเสนเถระเกี่ยวกับหลักธรรมต่าง ๆ อย่างวิจิตรพิสดาร ในประเทศไทยมีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพระราชปุจฉาของพระมหากษัตริย์พระองค์ต่าง ๆ นับตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์มากถึง 63 เรื่อง มีทั้งส่วนที่เกี่ยวกับข้อธรรมล้วน ๆ และข้อปฏิบัติทางศาสนา และกิจทางโลกที่เกี่ยวเนื่องกับคำสอนของพุทธศาสนา [2]

ทั้งนี้ พระราชปุจฉาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับรัชกาลก่อน ๆ โดยมีพระราชปุจฉาเพียง 2 ข้อส่วนอีก 5 ข้อที่เหลือเป็นพระบรมราชาธิบายเกี่ยวเนื่องจากหลักปฏิบัติทางศาสนา อันเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรงผนวชมานานถึง 27 พรรษา นอกจากจะทรงเชี่ยวชาญในพระธรรมวินัยและหลักปฏิบัติทางศาสนาแล้ว ยังทรงเป็นผู้สถานาคณะธรรมยุติกนิกายอีกด้วย

ในประเพณีการมีพระราชปุจฉาทุกครั้ง ได้มีการจดข้อพระราชปุจฉา และคำพระราชาคณะถวายวิสัชนา รักษาไว้ในหอหลวง จึงได้มีหนังสือพระราชปุจฉาเป็นทำนองจดหมายเหตุ และเป็นตำราให้ศึกษา จึงมีสำเนากระจัดกระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ ต่อมาหอสมุดวชิรญาณได้รวบรวมและจัดพิมพ์ขึ้นเท่าที่สามารถรวบรวมได้ แบ่งออกเป็น 5 ภาค ด้วยกัน คือ

ภาคที่ 1 พระราชปุจฉาครั้งกรุงศรีอยุธยา มีพระราชปุจฉา 13 เรื่อง จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2464

ภาคที่ 2 พระราชปุจฉาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ตอนที่ 1 มีพระราชปุจฉา 16 เรื่อง จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2463 และพิมพ์ครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. 2466

ภาคที่ 3 พระราชปุจฉาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ตอนที่ 2 มีพระราชปุจฉา 23 เรื่อง จัดพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2464

ภาคที่ 4 พระราชปุจฉาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระราชปุจฉาฯ เรื่อง จัดพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2465

ภาคที่ 5 พระราชปุจฉาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ซึ่งมีอยู่ 7 เรื่อง และ 2 เรื่องตามลำดับ จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2465 และพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2475 [3]

ต่อมาได้พบพระราชปุจฉาใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงได้จัดพิมพ์เป็นภาค ปกิรณกะ และได้ย่อความพระราชปุจฉาทุกภาค รวมไว้ด้วย ได้จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2479 และครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2508 ในการพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2517 ได้รวมพระราชปุจฉาทั้ง 6 ภาคเข้าด้วยกัน และได้เพิ่มเติมพระราชปุจฉาที่ 3-4 และ 5 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งได้พบใหม่ไว้ด้วย [4]

พระราชปุจฉาเหล่านี้ ถือเป็นแบบอย่างแก่พระมหากษัตริยาธิราชในรัชกาลต่อ ๆ มาในการบำเพ็ญพระองค์เป็นองค์ศาสนูปถัมภก และเป็นแบบอย่างแก่พสกนิกรในการศึกษาและพิจารณาพระธรรมวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อยังประโยชน์สุขแก่ตน และเป็นแนวทางปการปฏิบัติให้ถึงพร้อมความสุขสวัสดีแก่ชีวิต สมดังที่ปรากฏในมงคลสูตรที่ระบุถึงมงคล 38 ทั้งประการ โดยหนึ่งในนั้นคือ การฟังธรรมตามกาล การสนทนาธรรมตามกาล และการทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน


เนื้อหา[แก้]

พระราชปุจฉาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[แก้]

พระราชปุจฉาที่ 1 ว่าด้วยการลาสิกขาบท

พระราชปุจฉาที่ 2 ว่าด้วยเรื่องพระภิกษุนินทาพระเจ้าแผ่นดิน

พระราชปุจฉาที่ 3 ว่าด้วยชาวอุดรกุรูมิได้เป็นทุกข์

พระราชปุจฉาที่ 4 ว่าด้วยเรื่องคนเชื่อกรรม

พระราชปุจฉาที่ 5 ว่าด้วยเรื่องแขกเมือง

พระราชปุจฉาที่ 6 ว่าด้วยความรู้ของพระโพธิสัตว์ในชาติก่อน

พระราชปุจฉาที่ 7 ว่าด้วยทศพลญาณ

พระราชปุจฉาที่ 8 ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม

พระราชปุจฉาที่ 9 ว่าด้วยเหตุที่พระพุทธศาสนา มาประดิษฐานในปัจจันตประเทศ

พระราชปุจฉาที่ 10 ว่าด้วยเหตุที่ห้ามมิให้บวชกะเทย

พระราชปุจฉาในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา[แก้]

พระราชปุจฉาว่าด้วยอัฏฐธรรมปัญหา

พระราชปุจฉาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ[แก้]

พระราชปุจฉาที่ 1 ว่าด้วยสังฆภัตร

พระราชปุจฉาที่ 2 ว่าด้วยการอุทิศเทวดาพลี

พระราชปุจฉาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[แก้]

พระราชปุจฉาที่ 1 ความว่า สิ่งซึ่งมีผู้อุทิศเป็นกัลปนาในอารามนั้น ๆ แต่กาลก่อนเป็นต้น ซึ่งบัดนี้ยับเยินสาปสูญแล้ว จะควรทำประการใด จึงไม่มีโทษ ?

พระราชปุจฉาที่ 2

ข้อ 1 ที่ว่าสรรพสัตว์ทั้งปวงที่เกิดมาในวัฏสงสาร ล้วนเป็นญาติกัน ก็ในศาสนาพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ที่ล่วงมาแล้ว ปรทัตตูปชีวีเปรตที่เป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารนั้น มิได้เป็นญาติกับคนที่เกิดในศาสนา พระเจ้าทั้ง 3 พระองค์นั้นบ้างหรือ จึงได้ทนทุกข์ทรมานรอพระเจ้าพิมพิสารอยู่ถึง 3 ชั่วพุทธันดร

ข้อ 2 อายุของปรทัตตูปชีวีเปรต อันเป็นเศษบาปจากนรก เหตุไรจึงยืนกว่าสัตว์ในมหาอเวจีนรก ?

ข้อ 3 อายุสัตว์ในอเวจีมหานรกนั้น กำหนดด้วยกัลป์แผ่นดินหรืออันตรกัลป์

ข้อ 4 พระปัจเจกโพธิและพระยาจักรพรรดิ์ จะเกิดขึ้นเมื่อสิ้นศาสนาพระเจ้าแห่งเราหรือไม่?

ข้อ 5 พระอินทร์และเทวดาองค์ใหม่ จะได้วิมานและบริวารขององค์เก่า หรือได้เป็นส่วนบุญของตนเอง?

พระราชปุจฉาที่ 3 ว่าด้วยมาฆมานพเป็นพระอินทร์ มีช้างเอราวรรณแลอื่น ๆ เกิดด้วยบุญ แต่เมื่อผู้อื่นได้เป็นพระอินทร์จะมีช้างเอราวรรณแลอื่น ๆ เหมือนมาฆมานพฤๅไม่

พระราชปุจฉาที่ 4

ข้อ 1 ว่าซึ่งกำหนดอายุสัตวในอเวจีมหานรกด้วยอันตรกัลป เปนด้วยเหตุใด

ข้อ 2 ว่าโทษปัญจานันตริยกรรมกับโทษกินของสงฆ์ เผาโรงทาน ข้างไหนจะหนักเบากว่ากัน

ข้อ 3 ว่าถ้ากัลปใดฉิบหายวันใด สัตวในอเวจีมหานรกพ้นทุกข์ในวันนั้น แลสัตวนรกนั้นพ้นทุกข์ไปทีเดียวฤๅ ฤๅกรรมให้ผลสืบไปในกัลปอื่นอีก

ข้อ 4 ว่าญาติพระยาพิมพิสาร ต้องทรมานในนรกช้านานถึง 92 แผ่นดิน ด้วยเหตุใด

พระราชปุจฉาที่ 5

ข้อ 1 ว่าพระบรมโพธิสัตวแห่งเรา เป็นพระเจ้าสมมุติวงศ์ฤๅเป็นพระอินทร์ ความเถียงกันอยู่

ข้อ 2 ว่ามาฆมานพ ซึ่งได้เป็นพระอินทร์นั้น ได้บำเพ็ญกุศลในภัทกัลป์นี้ ฤๅกัลป์อื่น

พระราชปุจฉาที่ 6

ข้อ 1 ว่ามีพระบาฬีว่า อสูรคิดถึงต้นปาริกชาติ จึงขึ้นไปทำสงครามกับพระอินทร์ดังนี้ เห็นเปนหนึ่งว่าต้นปาริกชาติเกิดอยู่ก่อนพระอินทร์

ข้อ 2 ว่าต้นปาริกชาติเกิดเพราะบุญของพระอินทร์ แล้วจะเอาเป็นไม้ประจำทวีปได้ฤๅ

ข้อ 3 ว่าเมื่อแรกตั้งปฐมกัลปหามีดาวดึงส์ไม่ ต่อพระอินทร์ชนะเนวาสิกแล้ว จึงได้ชื่อว่าดาวดึงส์ ถ้าดังนั้นเห็นว่าจักรวาฬอื่นไม่มีพระอินทร์ และเรื่องที่พระอินทร์วิวาทกับอสูรนั้น มีทุกขจักรวาฬหรือไม่

พระราชปุจฉาที่ 7 ว่าด้วยโทษที่ล่วงเกินในสงฆ์ จะมีวิธีลุกโทษอย่างใด

พระราชปุจฉาที่ 8 ว่าด้วยอานิสงส์ซึ่งยิ่งกว่ากันเป็นชั้น ๆ ตั้งแต่บุคลิกทาน จนถึงจำเริญพระไตรลักษณาญาณกับอานิสงส์บำรุงยกพระศาสนา ใครจะยากกว่ากัน

พระราชปุจฉาที่ 9

ข้อ 1 ว่าในจักรวาฬอื่นรักษาศีลหรือไม่ ถ้ารักษาศีล ผู้ใดสั่งสอน เมื่อมิรู้จักองค์แห่งศีล จะจัดเอาเป็นศีลได้ฤๅไม่

ข้อ 2 ว่านิยตมิจฉาทิษฐิประพฤติพอต้องเข้าในศีล 5 ศีล 8 จะจัดเอาเป็นศีลได้ฤๅไม่ ถ้าเปนศีลได้แล้วจะไปนรกฤๅไม่

พระราชปุจฉาที่ 10

ข้อ 1 ว่าด้วยอานิสงส์บุญแห่งสัมปัตตวิรัติศีล นิยตมิจฉาทิฐิปฏิบัติพอต้องเข้าแล้ว พลอยสิ้นสูญไปด้วย ฤๅจะให้ผลสืบไป

ข้อ 2 ว่าด้วยธรรมดาศีล แห่งประพุทธมารดานั้น เกิดด้วยบุญพระพุทธมารดา ฤๅเกิดด้วยอานุภาพบุญแห่งพระโพธิสัตว

ข้อ 3 ว่าด้วยนิยติมิจฉาทิฐิ จะพ้นจากสังสารทุกข์ได้ฤๅไม่

พระราชปุจฉาที่ 11 ว่าด้วยของสงฆ์ซึ่งโจรลักฤๅมีผู้ขุดร่อนได้ผู้ได้ของนั้นมาไม่รังเกียจ สงสัย นำมาใช้สรอยเอง ฤๅให้ปันผู้อื่น จะมีโทษฤๅไม่

พระราชปุจฉาที่ 12 ว่าด้วยท้าวสุทธาวาศมหาพรหม มาดูดอกบัวเป็นบุพนิมิตรถ้าแผ่นดินเปนสูญกัลปก็ดี อสงไขยกัลปก็ดี ท้าวสุทธาวาศมหาพรหมองค์ใด จะมาดูดอกบัวนั้นเล่า

พระราชปุจฉาที่ 13 ว่าด้วยพระพุทธโฆษาจารย์ถวายเทศนา เรื่องพระโพธิสัตว เสวยพระชาติเปนพระยากระต่าย เนื้อความไม่ต้องกับพระพุทธฎีกา

พระราชปุจฉาที่ 14 ว่าด้วยสาวกภูมิ เมื่อยังสร้างบารมี จะบังเกิดในจักรวาฬอื่นบ้างหรือไม่

พระราชปุจฉาที่ 15 ว่าด้วยผู้สมาทานศีล 5 แล้วไปประมาทขาดศีล กับผู้ที่ไม่ได้สมาทาน แลไปกระทำปาณาติบาต อทินนาทาน เปนต้น ใครจะมีโทษมากกว่ากัน แลผู้ที่ประมาทขาดศีล ฤๅลาศีล ฤๅมีศีลด่างพร้อย เหล่านี้ จะมีโทษประการใด

พระราชปุจฉาที่ 16 ว่าด้วยเมื่อพระพุทธศาสนา ครบ 5000 ปี แล้ว มีผู้ประทุษร้ายต่อเจดียฐาน คือพระพุทธรูปเปนต้น จะมีโทษฤๅไม่

พระราชปุจฉาที่ 17 ว่าด้วยปลาว่ายน้ำตามสำเภาฟังธรรม แลนกแขกเต้าซึ่งภาวนาอัฏฐิกรรมมัฏฐาน กลับชาติมาเปนมนุษย์ ได้สำเร็จมรรคผล

พระราชปุจฉาที่ 18 ว่าด้วยพระธรรมเจดีย์ถวายเทศนา ว่าด้วยเกิดในอขณะอสมัย ไม่ควรรักษาพรหมจรรย์

พระราชปุจฉาที่ 19

ข้อ 1 ว่าด้วยทรัพย์ซึ่งปรับไหมจากผู้ลักของสงฆ์ ทรัพย์นั้นจะควรทำประการใดจึงจะพ้นโทษ

ข้อ 2 ว่าด้วยสัตวนรกที่กำหนดอายุด้วยพุทธันดร ถ้าพุทธันดรยาวออกไป สัตว์นั้นจะมิต้องทนทุกข์มากไปฤๅ

พระราชปุจฉาที่ 20 ว่าด้วยนาคทั้งปวงกลัวมนต์อาลัมภายน์ แต่เจ้าสุทัสน์แลนางอัจจมุขีนั้นไม่กลัวฤๅ

พระราชปุจฉาที่ 21 ว่าด้วยเรื่องสึกภิกษุลาวเสียแล้วบวชใหม่ ปฤกษาว่ามีบรรพชาโทษเพราะอักขรวิบัตินั้น มีพระพุทธบัญญัติว่า อักขระภาษาอื่นผิดเพี้ยนไม่เป็นบรรพชาอุปสมบท ฤๅมีพระพุทธบัญญัติไว้ว่า เหตุที่จะเปนบรรพชาอุปสมบทได้กี่ประการ ไม่เปนบรรพชาอุปสมบทกี่ประการ

พระราชปุจฉาที่ 22

ข้อ 1 ว่าด้วยคนใบ้หนวกจะอุปสมบทได้ฤๅไม่

ข้อ 2 ว่าด้วยบุคคลกล่าวอักขระวิปลาศจะอุปสมบทได้ฤๅ ไม่

ข้อ 3 ว่าด้วยบุคคลกล่าวอักขระเสียงเบาดังเสียงกา จะสวดปาติโมกข์ รับไตรสรณาคมน์ บรรพชาควรฤๅไม่

ข้อ 4 ว่าด้วยคนพูดไม่ชัด จะดีกว่าคนใบ้ บอด หนวก ฤๅไม่ แลจะบรรพชาอุปสมบทได้ฤๅไม่

ข้อ 5 ว่าด้วยบุคคลกล่าวอักขระวิปลาศ แลเจ้านาคมีอาพาธ 5 ประการ แล้วกล่าวปฏิเสธว่าไม่มี จะมิเปนมุสาฤๅ จะอุปสมบทเปนภิกขุได้ฤๅไม่

ข้อ 6 จะสำคัญสิ่งไรจึงจะรู้ว่าอักขระบริบูรณ์

พระราชปุจฉาที่ 23 ว่าด้วยพระฯ โปรดแต่คนใบ้ บอด หนวก แลคนเป็นอันตรายิกธรรมดอกฤๅ แลคนที่ว่าอักขระวิปลาศนั้น โทษมีประการใดจึงไม่โปรด ถ้าดัดแปลงสั่งสอนมิได้ แล้วจะสวดญัตติให้เป็นภิกษุทีเดียวเหมือนคนใบ้ บอด หนวก นั้นจะได้ฤๅไม่

พระราชปุจฉาที่ 24

ข้อ 1 ว่าด้วยบุคคลรับพระไตรสรณาคมน์แลศีล 10 บวชเป็นสามเณร จะกำหนดเอาวาจาภาษาเปนประมาณฤๅ ๆ จะกำหนดเอาศรัทธาเจตนาเปนประมาณ ข้างไหนจะดีกว่ากัน

ข้อ 2 ว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาโปรดสัตว กำหนดเอาอักขระเปนประมาณ ฤๅกำหนดเอาจิตรศรัทธาเปนประมาณ

พระราชปุจฉาที่ 25

ข้อ 1 ในพระบาฬีว่า คนกระทำบาปในชาติก่อน ครั้นมาเกิดชาตินี้จึงบรรดาลให้กายวิปริตไปต่าง ๆ คือ มือด้วน เท้ากุด เป็นต้น ก็ผู้ที่มีศรัทธาจะบวชในศาสนา แต่มีกายวิปริต เช่นลิ้นคับปาก ไม่สามารถจะว่าอักขระให้ชัดได้ พระสงฆ์ไม่ยอมให้บวชนั้น จะว่าเพราะบาปอันใด

ข้อ 2 ว่าคนแก่ฟันหัก ก็คงจะว่าอักขระไม่ชัด เหตุไฉนจึงบรรพชาอุปสมบทไม่ได้

ข้อ 3 ว่าด้วยทารกซึ่งพอจะเปิบข้าวแลขับกาได้ ก็คงจะยังพูดไม่ชัด เหตุไฉนจึงว่าบรรพชาเป็นสามเณรได้

ข้อ 4 ว่าด้วยสามเณรภิกษุ ลาว เขมร จีน ญวณ ชาวเหนือ บรรดาที่ว่าอักขระไม่ชัด ว่าไม่เปนภิกษุสามเณรนั้น จะเรียกว่าเปนอันใด แลเธอเหล่านั้นจะมีโทษบาปกรรมอันใด

พระราชปุจฉาที่ 26 ว่าด้วยผู้ที่ไม่เปนอุปสัมบันแลปาราชิก บุคคลให้อุปสมบทกุลบุตรแลทำสังฆกรรมต่าง ๆ จะเป็นสังฆกรรมฤๅไม่

พระราชปุจฉาที่ 27 ว่าด้วยปาราชิกเปนคู่สวด บวชกุลบุตรเปนภิกษุได้แล้ว จะหัดสวดให้ถูกฐานกรณ์ไป ต้องการอะไร

พระราชปุจฉาที่ 28 ว่าด้วยผู้ร้ายลอกทองพระพุทธรูป จะบรรพชาอุปสมบทขึ้นหรือไม่

พระราชปุจฉาที่ 29 ว่าด้วยเศวตฉัตรมีกี่ชั้น

พระราชปุจฉาที่ 30 ว่าด้วยอานิสงส์ซึ่งถวายไตรจีวรนั้น จะได้ไตรจีวรลอยมาต่อเมื่อ ชาติที่จะได้พระนิพพาน ฤๅจะได้ในชาติที่ยังไม่ได้พระนิพพานบ้าง

พระราชปุจฉาที่ 31

ข้อ 1 ว่าด้วยพระอรหันต์บางพวก ที่ได้เป็นเอหิภิกษุ ทรงบาตรไตรจีวรเปนทิพก็มี ที่ไม่ได้ก็มี ที่แสวงหาไม่ได้ จนนิพพานก็มี ท่านทั้ง 3 จำพวกนี้ ได้ทำกุศลไว้แต่ปางก่อนอย่างไร

ข้อ 2 มีในพระบาฬีว่า ถ้าบุรุษถวายไตรจีวร อนาสงส์จะเปนเอหิภิกษุ ถ้าสตรีจะได้มหาลดาประสาธน์ แลในศาสนานี้ บางนางก็ได้มหาลดาประสาธน์ บางนางก็ไม่ได้ ส่วนนางที่ไม่ได้นั้น ไม่ได้ถวายไตรจีวรไว้แต่ก่อนฤๅ

ข้อ 3 ว่าด้วยนางภิกษุณี ได้เปนเอหิภิกษุณีมีบ้างฤๅไม่

ข้อ 4 ว่าด้วยนางภิกษุณี จะมีพรรษาถึงร้อยก็ดี ถึงเปนพระอรหันต์แล้วก็ดี ยังต้องไหว้ภิกษุที่บวชใหม่ เพราะเหตุไร

พระราชปุจฉาที่ 32 ว่าด้วยพระอัครสาวก และพระอสีติสาวก พระปกติสาวก สร้างพระบารมีมาจนสำเร็จพระอรหัตผล ช้าเร็จต่างกัน ตามกาลกำหนด พระกิริยาอารมณ์ก็เป็นปรกติ มิได้ปรากฏหยาบช้าประการใด แต่พระองคุลิมาลนั้นได้เปนยักษ์ เปนมาร เปนท้าวพระยา ก็ล้วนแต่ใจบาปหยาบช้าทำปาณาติบาตโดยมาก จนมาในปัจฉิมชาติ จะได้พระอรหัตในชาตินั้นแล้ว ก็ยังเปนโจรฆ่ามนุษย์เปนอันมาก ซึ่งว่าพระองคุลิมาลสร้างพระบารมีแสนกัลป์นั้น จะนับว่าสร้างบารมีอย่างไร

พระราชปุจฉาที่ 33

ข้อ 1 มีในพระบาฬีว่า พระโพธิสัตว์สร้างพระบารมีบำเพ็ญเบญจมหาบริจาคมีให้พระเศียรเป็นทานมากกว่าผลมะพร้าวในแผ่นดิน เปนต้น เมื่อค้นหาเรื่องในชาดกนิทาน ไฉนจึงมีน้อยนัก ไม่สมกับอุประมาไว้นั้น

ข้อ 2 ว่าด้วยพระเจ้าอชาตศัตรู กระทำปิตุฆาตแล้ว ไฉนยังจะได้ตรัสเปนพระปัจเจกโพธิเจ้าอีกเล่า

พระราชปุจฉาที่ 34 ว่าด้วย พระโพธิสัตว์ และสาวกสร้างบารมีแสนกัลป์นั้นกำหนดอย่างไร

พระราชปุจฉาที่ 35 ว่าเหตุไฉนจึงไม่นับพระพิมพาไว้ในพระพุทธสหจร แลเหตุไฉนจึงได้ยกว่า ยิ่งฝ่ายมหาอภิญญา เฉภาะมีแต่ 4 องค์ คือพระอรรคสาวกซ้าย พระอรรคสาวกขวา พระพิมพา พระพากุลเถระเท่านั้น แลเหตุไฉนจึงจัดพระบารมี พระพุทธบิดา, พระพุทธมารดา พระพุทธบุตรว่าแสนกัลป เหมือนพระอสีติสาวกและปกติสาวกเล่า

พระราชุจฉาที่ 36 ว่าด้วยช้างป่าเลไลยพูดภาษามนุษย์ไม่ได้ การฝึกพูดภาษามนุษย์ได้ จะต่างกันด้วยเหตุอันใด

พระราชปุจฉาที่ 37 ว่าด้วยพระปัจเจกพุทธเจ้า แลพระยาบรมจักรพรรดิ์ไม่เกิดในสูญกัลป์นั้น ด้วยเหตุไร

พระราชปุจฉาที่ 38 ว่าด้วยสัตว์ คือ นก ไก่ เป็ด ห่านตัวเมีย มิได้สัมผัสตัวผู้ มีฟองไข่ฟักไม่เป็นตัวด้วยเหตุอะไร ถ้าฆ่าฟองไข่นับจะเป็นปาณาติบาตฤๅไม่

พระราชปุจฉาที่ 39 ว่าด้วยพระราชประสงค์จะทรงฟังพระวินัยปิฎก จะควรฤๅไม่

พระราชปุจฉาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[แก้]

พระราชปุจฉาเรื่องพิธีวิสาขบูชา ความว่า สรรพการกุศล ซึ่งได้ทรงบำเพ็ญมาเป็นนิจการนั้น ยังไม่เต็มพระราชศรัทธา มีพระทัยปรารถนาจะใคร่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ให้มีผลวิเศษประเสริฐยิ่ง ที่ยังมิได้ทรงประทำเพื่อจะให้แปลกประหลาด จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลใดจึงจะควร

พระราชปุจฉาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[แก้]

พระราชปุจฉาที่ 1

ข้อ 1 ว่าด้วยการสร้างหอพระในพระราชวังจะควรฤๅไม่

ข้อ 2 ว่าด้วยการสร้างหอพระกับสร้างพระวิหาร จะมีผลเสมอกันฤๅต่างกัน

ข้อ 3 ว่าถ้าจะมีผู้เชิญพระไปไว้ยังพระวิหาร และเข้าอาไศรยอยู่ในหอพระฤๅรื้อหอพระไปปลูกเสียที่อื่น แล้วปลูกที่อาไศรยลงในที่นั้นจะมีโทษฤๅไม่

พระราชปุจฉาที่ 2

ข้อ 1 ว่าด้วยอากรค่าน้ำแลอากรสุราที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบัญญัติขึ้น จะเป็นโทษฤๅเป็นคุณ

ข้อ 2 ว่าพระเจ้าพิมพิสาร แลพระเจ้ามหานามจะปราบปรามโจรผู้ร้าย มิให้เกี่ยวข้องแก่ทศอกุศลกรรมบถ แลจะเรียกส่วยสาอากร ให้ปราศจากมิจฉาชีพนั้นจะวางอารมณ์ประการใด

ข้อ 3 ว่าด้วยท้าวเวสวรรณมหาราชเป็นพระโสดา จะลงทัณฑกรรมแก่บริวารที่หยาบช้า ด้วยกรรมกรณ์อันใด แลจะวางพระสติประการใด

พระราชปุจฉาที่ 3 ความว่า จะเอาทองพระพุทธรูปวัดมงคลบพิตรซึ่งหักพังอยู่นั้น กับทั้งทองเครื่องประดับสำหรับพระบาง มาหล่อเปนพระพุทธรูปขึ้นอิกองค์หนึ่ง จะควรฤๅไม่

พระราชปุจฉาที่ 4 ว่าด้วยสามัคคีรสจะมีคุณประการใด

พระราชปุจฉาที่ 5 ความว่า ฉันใดจะได้พระภิกษุสามเณรเปนบาเรียน ให้สมควรแก่พระราชศรัทธา

พระราชปุจฉาที่ 6

ข้อ 1 ว่าได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมามากแล้ว ยังมีพระราชกุศลอย่างใดที่พอจะทำได้ แต่ยังไม่ได้บำเพ็ญบ้าง

ข้อ 2 ว่าด้วยคนเข็ญใจมีทรัพย์อยู่เพียงกหาปณะหนึ่ง จะทำบุญสิ่งใดจึงจะให้ได้อานิสงส์ มากเท่ากับผู้มีทรัพย์ ทำตั้ง 100 และ 1,000 กหาปณะ

พระราชปุจฉาที่ 7

ข้อ 1 ว่าได้บำเพ็ญพระราชกุศลสิ่งใดไว้ จึงได้มาเสวยศิริราชสมบัติฉะนี้ แล้วไฉนจึงให้ได้เสวยปิยวิปโยคทุกข์เนือง ๆ

ข้อ 2 ว่าด้วยทรงพระปริวิตกถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และพระพันปีหลวง และพระบรมราชประยุรวงศานุวงศ์ แลข้าทูลละอองธุลีพระบาท แลพระราชพาหนะทั้งปวงว่า ยังไม่สมควรที่จะล่วงลับไป ไฉนจึงล่วงลับไป

ข้อ 3 ว่าได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลไว้เป็นอันมาก แลได้ทรงแผ่ส่วนพระราชกุศลนั้น แด่สมเด็จพระประยุรวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเปนต้น ไฉนพระราชกุศลนั้น จึงไม่ช่วยป้องกันไว้ได้

ข้อ 4 ว่าจะบำเพ็ญพระราชกุศลสิ่งใด จึงจะมีพระชนม์ยืนนาน แลพรักพร้อมด้วยพระราชโอรสราชธิดา แลพระประยุรวงศานุวงศ์ทั้งปวง

พระราชปุจฉาที่ 8 พระราชปรารถ เรื่องพระสงฆ์ไทยห่มผ้าอย่างมอญ

พระราชปุจฉา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[แก้]

พระราชปุจฉาที่ 1 ว่าด้วยทรัพย์มรดกของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จะเป็นของสงฆ์หรือไม่

พระราชปุจฉาที่ 2 ว่าด้วยเรื่องพัทธสีมา จะต้องมีพระบรมราชานุญาตหรือไม่

พระบรมราชาธิบายที่ 3 ว่าด้วยการในพระพุทธศาสนา

พระบรมราชาธิบายที่ 4 ว่าด้วยคำว่า ตถาคต อหํ มํ มมํ เม พระสงฆ์มาใช้ว่า อาตมาเสียหมด

พระบรมราชาธิบายที่ 5 ว่าพระภิกษุบางรูปเที่ยวฝากตัวให้กว้างขวาง ในกรมหาดไทย กลาโหม กรมท่า โดยหวังยศเมื่อสึกแล้ว

พระบรมราชาธิบายที่ 6 หนังสือโต้ตอบกับพะม่า

พระบรมราชาธิบายที่ 7 ว่าด้วยพระภาพโมลีถวายเทศนาใช้คำผิด

พระราชปุจฉา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[แก้]

พระราชาปุจฉาที่ 1 เรื่องแปลศัพท์พระนิพพาน

พระราชปุจฉาที่ 2 ว่าด้วยการก่อพระทรายและเรื่องเตภาติกชฎิล

พระราชปุจฉาที่ 3 ว่าด้วยเรื่องจตุโลกบาล

พระราชปุจฉาที่ 4 ว่าด้วยเรื่องปัญจอภิเษก

พระราชปุจฉาที่ 5 ว่าด้วยเรื่องศัพท์ "ณัฏฐ์"

พระราชปุจฉา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[แก้]

พระราชปุจฉาความว่ามีพระราชประสงค์ จะบำเพ็ญพระราชกุศล เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลพระราชทานไปให้ผู้ซึ่งมี อุปการคุณมาแต่หนหลัง อันล่วงลับไปสู่โลกแล้ว แต่ว่าผู้นั้น ๆ เป็นชนต่างชาติ มิได้อยู่ในพระพุทธศาสนา จะทำอย่างไรจึงจะให้ศรัทธาได้สำเร็จเป็นผลบุญแก่ผู้นั้น

พระราชปุจฉา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล[แก้]

พระราชปุจฉาว่าด้วยแนวทางการศึกษาพระพุทธศาสนา เพื่อเตรียมตัวและช่วยเหลือในการที่จะอุปสมบท

พระราชปุจฉาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[แก้]

เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปุจฉาเผดียงถามสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) และพระเถรานุเถระ ว่าด้วยเรื่องจะส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลีอย่างไรให้เข้าถึงพระไตรปิฏก[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประชุมพระราชปุจฉา ภาค 4 หน้า (1)
  2. ประสิทธ์ แสงทับ (บรรณาธิการ). (2550) หน้า ก - ฌ
  3. ประชุมพระราชปุจฉา ภาค 4 หน้า (3)
  4. ประชุมพระราชปุจฉา http://heritage.mod.go.th/ เก็บถาวร 2014-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. หนังสือหน่วยราชการในพระองค์ ๙๐๔ ที่ พว.0202.2/7240 ลงวันที่ 9 เมษายน 2564[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]

บรรณานุกรม[แก้]

  • ประสิทธ์ แสงทับ (บรรณาธิการ). (2550). ประชุมพระราชปุจฉา. กรมศิลปากร. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรี
  • หอสมุดวชิรญาณ. (2465). ประชุมพระราชปุจฉา ภาค 4. เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพท้าววนิดาวิจาริณี (เหม สุจริตกุล). กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒนากร
  • ประชุมพระราชปุจฉา (ย่อ) จากเว็บไซต์ http://heritage.mod.go.th/ เก็บถาวร 2014-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ดูเพิ่ม[แก้]

ประชุมพระราชปุจฉา ภาค 4 http://www.thapra.lib.su.ac.th/objects/rarebook/r2489/bq135%E0%B8%9B45_2465.pdf

ประชุมพระราชปุจฉา ฉบับย่อ http://heritage.mod.go.th/king/question/index.htm