บูษัยนา บินต์ ตัยมูร อาล ซะอีด
บูษัยนา บินต์ ตัยมูร อาล ซะอีด | |
---|---|
ประสูติ | 10 ตุลาคม พ.ศ. 2480 โคเบะ จักรวรรดิญี่ปุ่น |
พระบุตร | 1 พระองค์ |
ราชวงศ์ | อาลบูซะอีด |
พระบิดา | สุลต่านตัยมูร บิน ฟัยศ็อล |
พระมารดา | คิโยโกะ โอยามะ |
ศาสนา | อิสลามนิกายอิบาดี |
ซัยยิดา บูษัยนา บินต์ ตัยมูร อาล ซะอีด (อาหรับ: بثينة بنت تيمور آل سعيد; ประสูติ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2480) หรือ เซ็ตสึโกะ อารุ ซาอีโดะ (ญี่ปุ่น: 節子・アール・サイード)[1][2] เป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในสุลต่านตัยมูร บิน ฟัยศ็อล ประสูติแต่คิโยโกะ โอยามะ สตรีชาวญี่ปุ่น เป็นพระขนิษฐาต่างพระชนนีในสุลต่านซะอีด บิน ตัยมูร เป็นพระปิตุจฉาของสุลต่านกอบูส บิน ซะอีด และสุลต่านฮัยษัม บิน ฏอริก
พระประวัติ
[แก้]พระชนม์ชีพช่วงต้น
[แก้]พ.ศ. 2478 สุลต่านตัยมูร บิน ฟัยศ็อล สุลต่านแห่งโอมานซึ่งขณะนั้นทรงสละราชสมบัติไปแล้ว ได้เสด็จประพาสประเทศญี่ปุ่น และทรงพบกับคิโยโกะ โอยามะ (大山清子) สาวรุ่นชาวญี่ปุ่นวัย 19 ปี ที่โรงเต้นรำเมืองโคเบะ[1][2] จากนั้นพระองค์ก็นิวัตประเทศโอมานในระยะสั้น ก่อนเสด็จไปประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งเพื่อประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับคิโยโกะใน พ.ศ. 2479 และประทับที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นการถาวร[1][2] กระทั่ง พ.ศ. 2480 ทั้งสองมีพระราชธิดาด้วยกันหนึ่งพระองค์คือ บูษัยนา หรือพระนามในภาษาญี่ปุ่นว่า เซ็ตสึโกะ (節子)[1][2]
พระชนม์ชีพของบูษัยนาในวัยเยาว์กลับไม่ราบรื่นเมื่อพระชนนีป่วยเป็นวัณโรค คิโยโกะป่วยกระเสาะกระแสะต้องเข้าออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง[1][2] อดีตสุลต่านตัยมูรมีพระดำริว่าพระธิดาน้อยอาจจะติดโรคจากชนนีได้ ทรงส่งบูษัยนาไปอยู่กับยายในประเทศญี่ปุ่น ส่วนอดีตสุลต่านทรงแยกไปประทับที่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย เพียงลำพังพระองค์[1] กระทั่งคิโยโกะเสียชีวิตในพฤศจิกายน พ.ศ. 2482[1][2] อดีตสุลต่านเสด็จไปในพิธีปลงศพของพระชายาที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2483 พร้อมกับพาบูษัยนา พระธิดาน้อยเสด็จออกจากประเทศญี่ปุ่นด้วย[1][2]
นิวัตโอมาน
[แก้]หลังเสด็จออกจากประเทศญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2483 พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองการาจี ประเทศปากีสถานในระยะสั้น ก่อนเสด็จไปยังประทับที่กรุงมัสกัต ประเทศโอมาน โดยพระชนกมีรับสั่งให้ซัยยิดา ฟาฏิมะฮ์ บิน อาลี อาล ซะอีด พระชายาพระองค์แรก ผู้เป็นพระชนนีของสุลต่านซะอีด บิน ตัยมูร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ถวายการอภิบาลพระราชธิดาน้อย[2] สุลต่านตัยมูรทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่จะเลี้ยงกุมารีพระองค์นี้อย่างชาวโอมาน โดยตัดขาดจากความเป็นญี่ปุ่น และเมื่อบูษัยนาเจริญพระชันษาก็เสกสมรส มีพระโอรสพระองค์หนึ่ง[2]
ทว่าสุลต่านซะอีด บิน ตัยมูร ซึ่งเป็นสุลต่านแห่งโอมานและเป็นพระเชษฐาต่างพระชนนี ทรงจำสนมบูษัยนาอยู่แต่ในพระตำหนักภายในพระราชวังหลวงกรุงมัสกัต เช่นเดียวกันกับกอบูส บิน ซะอีด อาล ซะอีด ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระองค์เอง จนกระทั่งสุลต่านซะอีดถูกรัฐประหารถอดออกจากตำแหน่งสุลต่าน กอบูสจึงเสวยราชสมบัติแทนใน พ.ศ. 2513[3] จากนั้นสุลต่านกอบูสทรงยกเลิกการจำสนมของบูษัยนาในปีเดียวกัน บูษัยนาจึงมีโอกาสเสด็จกลับประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก เพื่อทรงเยี่ยมหลุมศพของพระชนนี[2]
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
[แก้]สถานีโทรทัศน์ฟูจิทีวีของประเทศญี่ปุ่น ออกรายการพิเศษสองตอน อันเป็นเรื่องราวของบูษัยนากับคิโยโกะ ได้แก่ ตอน Unbelievable (เหลือเชื่อ) ออกอากาศใน พ.ศ. 2559[4] และตอน The Nonfiction (จากเรื่องจริง) ออกอากาศใน พ.ศ. 2561[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 Endou, Haru (2009). オマーン見聞録 (ภาษาญี่ปุ่น). Tenbosha.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 al-Madani, Abdullah (2018-11-25). "تيمور بن فيصل.. أول سلطان عاش في اليابان من أهل الخليج". Al Bayan (ภาษาอาหรับ). สืบค้นเมื่อ 2021-06-16.
- ↑ "Sultan of Muscat and Oman Is Overthrown by Son". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 1970-07-27. ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-06-16.
- ↑ "国境を越えた愛の物語 〜80年前のシンデレラ〜". Fuji TV (ภาษาญี่ปุ่น). 2016-02-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-24.
- ↑ "ザ・ノンフィクション: 私の姪はアラブの王女". TVでた蔵 (ภาษาญี่ปุ่น). 2018-03-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-05. สืบค้นเมื่อ 2021-06-16.