ข้ามไปเนื้อหา

ฮิปปี้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก บุปผาชน)
พวกฮิปปี้ ในงานวู้ดสต็อก ปี 1969

ฮิปปี้ (อังกฤษ: Hippie หรือสะกดว่า Hippy[1]) โดยเฉพาะภาษาอังกฤษแบบบริติช[2] คือวัฒนธรรมย่อยเกิดมาจากการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว เริ่มต้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นทศวรรษ 1960 และได้แพร่วัฒนธรรมนี้ไปทั่วโลก คำว่าฮิปปี้ มาจาก ฮิปสเตอร์ (อังกฤษ: hipster) (วัฒนธรรมย่อยในยุค 40) และถูกใช้ในการอธิบายถึงพวกที่ทำตัวต่างจากคนส่วนมากในสังคม ในซานฟรานซิสโก เขต Haight-Ashbury คนพวกนี้ได้รับสืบทอดวัฒนธรรมที่แปลกแยกนี้จากพวกบีตเจเนเรชัน (อังกฤษ: Beat Generation) โดยได้เกิดสังคมของพวกเขา ฟังเพลงจำพวกไซเคเดลิกร็อก ปฏิวัติเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ และเสพย์ยา อย่างเช่น กัญชา และ แอลเอสดี

ในปี 1967 ในซานฟรานซิสโก ฮิปปี้มีความโด่งดัง นำไปสู่เหตุการณ์ Summer of Love ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา และ เทศกาลวู้ดสต็อก ในปี 1969 ทางฝั่งตะวันออก ในเม็กซิโกมีการเริ่ม La Onda Chicana ที่ Avándaro

แฟชันฮิปปี้ มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมหลัก มีอิทธิพลต่อดนตรีป็อป โทรทัศน์ ภาพยนตร์ งานเขียน และศิลปะ ตั้งแต่อาหารเพื่อสุขภาพ สู่เทศกาลดนตรี การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ยึดติด หรือแม้แต่การปฏิวัติในไซเบอร์สเปซ

ในประเทศไทยเรียกฮิปปี้ ว่า พวกบุปผาชน โดยอธิบายไว้ว่า เป็นพวกที่รัก อิสระเสรีภาพ ทั้งการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ทั้งการแต่งกาย ไม่ภูมิฐาน ฟุ้งเฟ้อหรือยึดติดกับสิ่งของราคาแพง[3]

อเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 60 เป็นยุคของเบบี้บูม คือ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาได้ประกาศว่าตัวเองคือผู้ชนะสงคราม และ เป็นผู้นำโลกเสรี ผู้คนในประเทศอยู่ในบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง มีความสุข กับการแต่งงาน มีลูก มีรถ มีบ้าน มีหน้าที่การงานที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดค่านิยมทางสังคมที่เรียกกันว่า American dream ทำให้คนในประเทศหันมาสนใจในระบบของทุนนิยม แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง สถาบันของรัฐสั่นคลอนด้วยวิกฤตศรัทธาในคดีวอเตอร์เกด อเมริกาจึงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามที่ตัวเองเคยชนะและภูมิใจ แต่สงครามครั้งใหม่นี้เกิดขึ้นที่เวียดนาม ก่อให้เกิดความเสียหายในหลาย ๆ ด้านซึ่ง สงครามเวียดนามมีระยะเวลาเกือบ 20 ปี ในช่วงกลางของยุค 60 อเมริกาได้เริ่มมีกองกำลังทหารที่เพิ่มมากขึ้น ใหญ่ขึ้น และ มีคุณภาพมากขึ้น ทหารอเมริกันหลายพันคนถูกส่งไปยังเวียดนามเพื่อไปก่อความไม่สงบและทำลายระบบคอมมิวนิสต์ของเวียดนามเหนือ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและประเทศจีน ในขั้นต้นสงครามได้รับความนิยมบ้าง แต่ความขัดแย้งที่ดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุดทำให้ชาวอเมริกันเริ่มหงุดหงิดกับการสูญเสียในสงคราม จึงทำให้นักศึกษา หรือ นักเรียนทหารผ่านศึกเกิดการประท้วงเพื่อเรียกร้องสันติภาพ ความสงบสุข ก่อให้เกิดเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เรียกว่า Hippie หรือ บุปผาชน ซึ่งมันกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ปลูกฝังค่านิยมในตัวของชาวอเมริกัน โดยใช้ปรัชญาความรัก และ สันติภาพ ในการเผยแพร่ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในอเมริกา และ ทั่วโลก 

ปรัชญาฮิปปี้

[แก้]

Hippie มีต้นกำเนิดมาจากผู้คนในเมือง San Fancisco ที่ต้องการจะต่อต้านระบบทุนนิยม หรือ วัตถุนิยม ซึ่งเกิดมาจากผลสะท้อนจากเหตุการณ์ทางสังคม และ ความเป็นไปหลายอย่างในประเทศที่มีความรุ่งเรืองทางอุตสาหกรรม โดยมีปรัชญาในการใช้ชีวิตที่ปฏิเสธระบบสังคมแบบอุตสาหกรรม โดยให้เหตุผลว่า วัตถุช่วยให้เรามีความสุขแค่ชั่วขณะ ไม่มีคุณค่าในด้านความสุขทางจิตใจ เป็นความสุขที่ไม่จีรัง พวก hippie ส่วนใหญ่ล้วนมาจากครอบครัวที่มีฐานะดี มักเป็นลูกคนรวยที่เคยเห็นและเคยสัมผัสชีวิตที่หรูหรามาแล้ว แต่ก็พบว่ามันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ซึ่งพวก hippie เป็นจำนวนมากเคยมีประสบการณ์ที่เห็นพ่อแม่ซึ่งเป็นนักธุรกิจ มีชีวิตที่หรูหราในสังคม แต่หาได้มีความสุขกับคนในครอบครัวไม่ บ้านอาจจะใหญ่โตมโหฬาร แต่พ่ออาจเป็นแผลในกระเพาะ เพราะมีความกังวลเรื่องงานและการแข่งขันทางธุรกิจกับผู้อื่น บุตรจึงไม่ได้รับความอบอุ่นจากการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร และเมื่อมันเป็นเช่นนี้พวกวัยรุ่นหนุ่มสาวเหล่านี้จึงเริ่มมีความสนใจในการที่จะใช้ชีวิตที่ตรงกันข้ามกับพ่อแม่ของตัวเองที่นิยมใช้ชีวิตอยู่บนสังคมที่มีความเจริญทางอุตสาหกรรมเป็นแกนหลัก กล่าวคือวัยรุ่นเหล่านี้เกิดปฏิกิริยาเกลียดชังความฟุ้งเฟ้อทางวัตถุ ปฏิเสธความสำคัญของการครองชีพที่มีระเบียบแบบแผน และ แสดงพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามกับจารีตต่าง ๆ ที่เป็นที่นิยมในสังคมที่มีความรุ่งเรืองทางอุตสาหกรรม เช่น การไม่ทำอะไรที่ต้องคิดล่วงหน้าหรือที่มีการวางแผนอย่างละเอียด เห็นได้ชัดจากความนิยมชมชอบในปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า The Happening ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นร่วมกันโดยมิได้นัดหมายล่วงหน้า เช่น การไปสวนสาธารณะเพื่อร้องรำทำเพลง อีกอย่างที่เป็นลักษณะของพวก hippie ก็คือการเบื่อหน่ายต่อการที่ยอมให้เวลามาเป็นเครื่องบังคับหรือมาบงการเวลาของชีวิต โดยจะเห็นได้จากการที่เขาไม่นิยมใส่นาฬิกาข้อมือ เพื่อเป็นการประท้วงระบบสังคมแบบอุตสาหกรรมที่ถือว่า “เวลาคือเงิน” หรือ “การตรงต่อเวลาช่วยให้เศรษฐกิจรุ่งโรจน์” พวก Hippie เป็นปฏิปักษ์กับคติที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน ที่บันดาลความสุข” เขาสนับสนุนให้คนหันหลังกลับไปใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และให้ความสำคัญกับการหาอะไรมาบันเทิงจิตใจแทนการมุ่งมั่นในการทำงานและการตรงต่อเวลา พวก hippie ไม่ชอบพวกที่คล้อยตามคตินิยม และพวกพฤติกรรมของสังคมที่มุ่งเน้นไปในทางบูชาวัตถุ แต่พวก hippie จะภูมิใจในตัวเองถึงแม้จะยากไร้ เพราะไม่เคยทำงาน แต่ก็มีมนุษยธรรม คือการรู้จักแบ่งปันเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ด้วยน้ำใจ โดยไม่คิดหวังผลประโยชน์หรือคิดเป็นเงินตรา นอกจากนี้พวก hippie ถือว่าตัวเองไม่ต้องแข่งขันกับเวลา หรือแข่งกับผู้ใด ดำเนินชีวิตไปอย่างสบาย ๆ ไม่รีบร้อนหรือรีบเร่ง เขาเชื่อว่าความสุขนั้นมีอยู่รอบตัว ควรที่จะรู้จักหยิบฉวยให้มันมาเป็นความสุขของเรา เขาถือว่าชีวิตของพวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องแข่งขันกัน พวกเขาจึงเป็นพวกที่ปฏิเสธความรุนแรง ความมุทะลุดุดัน แต่เป็นพวกที่รักในสันติ เขาเทิดทูนในความเป็นมิตรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ดังนั้นพวกเขาจึงเรียกตัวเองว่าเป็นบุปผาชน หรือ ในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Flower children หรือ Flower generation เพราะว่า ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนโยน รวมทั้งมันยังมีความงามในตัวมันเองโดยธรรมชาติ ที่ไม่ได้เกิดจากการปรุงแต่งจากสิ่งที่เป็นลักษณะแบบของเทียม

ประวัติ

[แก้]

การเคลื่อนไหวของพวกฮิปปี้ในสหรัฐอเมริกาเกิดจากการรวมกลุ่มประท้วงจากพวกเยาวชนที่ต้องการออกมาเรียกร้องสันติภาพ จากสงครามเวียดนาม และ ต่อต้านระบบทุนนิยม โดยส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นผิวขาว และ หนุ่มสาว วัยประมาณ 15ปี ถึง 25ปี ซึ่งพวกฮิปปี้ได้สืบทอดแนวคิดความแปลกแยกทางวัฒนธรรมมาจากพวก โบฮีเมียน (Bohemians) และ บีตนิก (Beatniks) ในช่วงปลายของยุค 50s โดยได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มนักเขียนในอเมริกาที่เรียกตัวเองว่า “Beat Generation”  โดยนักเขียนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มนักเขียนที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง มีวิถีชีวิตที่ต้องการแสวงหาตัวตน ใช้ชีวิตอยู่กับการทดลองเสพยาเสพติด มีเพศสัมพันธุ์แบบเสรีไม่ยึดติดกับกรอบของประเพณีใด ๆ ให้ความสนใจในหลักศาสนาของโลกตะวันออก ปฏิเสธวัตถุนิยม และ หลงไหลในวิธีการแสดงออกถึงตัวตนในสังคมอย่างโลดโผนโดยการใช้ชีวิตแบบนอกกรอบจากประเพณี หรือ ค่านิยมต่าง ๆ ในสังคม โดยนักเขียนกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อแวดวงวรรณกรรมในสหรัฐอเมริกาในยุคนั้น อัลเลน กินสเบิร์ก วิลเลียม เอส. เบอร์โรห์ (Allen Ginsberg) และ แจ็ก เครูแอก (Jack Kerouac) เป็นนักเขียนคนสำคัญของ Beat Generation ต่อมาได้กลายเป็นกลุ่ม บีตนิก (Beatniks) ซึ่งนักเขียนทั้งสองคนนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อหลักโครงสร้างทางความคิดของพวกฮิปปี้ เพราะ เขาทั้งสองเปรียบเสมือนผู้ริเริ่มอุดมการณ์ในการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของพวกฮิปปี้           

ในปี 1965 ฮิปปี้ได้กลายเป็นกลุ่มสังคมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสหรัฐอเมริกา และ การเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมฮิปปี้ก็ได้แพร่ขยายไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในที่สุด โดยเริ่มจาก สหราชอาณาจักร และยุโรป ไปจนถึงออสเตรเลีย แคนนาดา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เม็กซิโก และ บราซิล  วัฒนธรรมฮิปปี้ได้ถูกแพร่กระจายไปทั่วโลกโดยใช้การผสมผสานของดนตรีแนวร็อค (Rock) บลูส์ (Blues) และ แนวไซเคเดลิกร็อค (psychedelic rock) เป็นตัวเล่าเรื่อง นอกจากดนตรีก็จะพบเห็นได้จากวรรณกรรม ศิลปะ การแสดงละคร แฟชั่นการแต่งกาย ภาพยนตร์ โปสเตอร์ โฆษณาคอนเสิร์ตร็อค และ ปกอัลบั้ม และ ในปี 1968 มีผู้คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นพวกฮิปปี้ประมาณ 0.2% ของประชากรทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา และ ลดลงเรื่อย ๆ ในช่วงกลางของยุค 70s           

ปรากฏการณ์สำคัญของฮิปปี้

[แก้]

SUMMER OF LOVE (1967)

[แก้]

ในช่วงฤดูร้อนปีค.ศ. 1967 เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าจดจำครั้งหนึ่งเมื่อผู้คนเกินแสนคนเดินทางมาสู่ถนนไฮต์-แอสบิวรี (Haight-Ashbury) ในซานฟรานซิสโก (San francisco) ซึ่งในช่วงเวลานั้นกระแสฮิปปี้กำลังเป็นที่นิยมในหลาย ๆ แห่งทั่วอเมริกา และ ในยุโรป แต่แหล่งใหญ่ที่ถือว่าเป็นศูนย์กลาง และ เป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมฮิปปี้อยู่ที่ย่าน ไฮต์-แอสบิวรี ในซานฟรานซิสโก ซึ่งในฤดูร้อนนี้กลายเหตุการณ์สำคัญที่สรุปความเป็นฮิปปี้ได้อย่างดี เกิดการชุมนุมกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดประสงค์หลักคือการเผยแพร่แบ่งปันมิตรภาพ ความรัก อุดมคติในการใช้ชีวิต  และ อาจจะเป็นเหตุการณ์แรกที่ทำให้วัยรุ่นหนุ่มสาวออกมาแสดงพลังทางสังคมครั้งใหญ่ที่เป็นรูปธรรมอย่างเห็นได้ชัด

ในวันที่ 14 มกราคม 1967 ได้มีการจัดนิทรรศการ “Human Be-In” ซึ่งถูกจัดขึ้นโดย Michael Bowen โดยมีการรวบรวมพวกฮิปปี้ถึง 20,000 คน ในสวน Golden Gate ของ San francisco โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมฮิปปี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อ 26 มีนาคม 1967 ศิลปินอย่าง Lou Reed กับ ดารานางแบบ Edie Sedgwick และพวกฮิปปี้อีกประมาณ 10,000 คน ได้มารวมตัวกันที่แมนฮัตตัน (Manhattan) เพื่อเดินทางเข้าสู่ Central Park Be-In ในวัน อีสเตอร์ (Easter)

ในวันที่ 16 มิถุนายน 1967 - 18 มิถุนายน 1967 ได้มีการจัดเทศกาลดนตรีครั้งใหญ่ที่มีระยะเวลาถึงสามวันที่ชื่อว่า “Monterey International Pop Music Festival” ในเมือง Monterey, California มีผู้คนเข้ามามากมายทั้งคนที่อยู่ที่ในงานและรอบบริเวณเทศกาลประมาณ 25,000-90,000 คน เทศกาลนี้กลายเป็นเทศกาลดนตรีที่น่าจดจำเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอเมริกา โดยมีศิลปินอย่าง Jimi Hendrix , The Who และ Ravi Shankar เข้าร่วมอยู่ด้วย เทศกาลดนตรีครั้งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในจุดจุดเริ่มต้นของ “Summer Of Love” และ ยังเป็นต้นแบบของเทศกาลที่ยิ่งใหญ่อย่าง “Wood Stock” อีกด้วย

ย่านไฮต์-แอสบิวรี (Haight-Ashbury) ในซานฟรานซิสโก (San francisco) กลายเป็นแหล่งรวมตัวของเหล่านักศึกษาที่สนใจในศิลปะไซเคเดลิก (psychedelic) จาก San Francisco State College ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น San Francisco State University วัยรุ่นหลายคนในกลุ่มนั้นยอมที่จะลาออกจากการเป็นนักศึกษาเพื่อออกไปหาประสบการณ์จริงกับวงดนตรี และ การใช้ชีวิตภายใต้อุดมคติของตน โดยได้ยึดเอาอพาร์ทเมนต์สไตล์วิกตอเรียนในย่านถนนไฮต์เป็นที่พำนัก

 ปรัชญาการแบ่งปันของพวกฮิปปี้ได้รับการยอมรับและได้ขยับขยายกลายเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เช่น กลุ่มผู้ก่อตั้งโรงละคร Diggers ได้แจกอาหารฟรี และ เปิดโรงละครให้เป็นที่พักอาศัยแก่เหล่าผู้คนที่เข้ามาในย่านไฮท์-แอสบิวรี่ กลุ่มทางการแพทย์ก็เปิดคลินิกให้รักษาฟรี และ ที่เหนือกว่าสิ่งอื่นใดคือการได้เสพย์สิ่งเสพติดทั้ง กัญชา LSD ที่ทำให้รู้สึกเคลิ้บเคลิ้ม สิ่งเหล่านี้ทำให้ชื่อเสียงของย่านไฮท์-แอสบิวรี่ (Haight-Ashbury)  เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว

WOODSTOCK (1969)

[แก้]

วูดสต็อก หรือ เทศกาลดนตรีและศิลปะวูดสต็อก (Woodstock Music & Art Fair) เป็นเทศกาลดนตรีและศิลปะที่จัดขึ้นในวันที่ 15-18 สิงหาคม ค.ศ. 1969 ในช่วงระยะเวลา 3 วัน 3 คืน มีคนเข้าร่วมเทศกาลนี้อย่างมหาศาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการดนตรี มีการจัดให้เทศกาลนี้ให้อยู่ใน 50 เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ Rock & Roll โดยนิตยสาร Rolling Stone โดยมีคำขวัญในงานว่า “An Aquarian Exposition: 3 Days of Peace & Music” โดยชื่อของงานนั้นมาจากชื่อเมืองวูดสต็อก รัฐนิวยอร์ก (New York) ที่อยู่ห่างออกไป 69 กิโลเมตร เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาด้านศิลปะมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 และเป็นที่พักอาศัยของศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น บ๊อบ ไดแลน (Bob Dylan), จอห์นนี แคช (Johny Cash) และ จิมิ เฮนดริก (Jimi Hendrix)

งานถูกจัดขึ้นที่ไร่ของนาย แมกซ์ ยาสเกอร์ (Max Yasgur) เกษตรกรเจ้าของพื้นที่เลี้ยงโคนม 600 เอเคอร์ ใกล้กับเมืองเบเธล (Bethel) รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เขาได้อนุญาตให้มีการจัดคอนเสิร์ตนี้ในที่ดินของเขา มีการประเมินกันว่าคอนเสิร์ตนี้มีคนมาร่วมงานอย่างน้อย 3 แสนคน บางสื่อรายงานว่ามีคนเข้าร่วมงานนี้ถึง 5 แสนคน จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

แม้ในช่วงเวลาที่จัดเทศกาลนี้จะมีฝนตกลงมาอยู่ตลอด ทำให้เกือบทั่วทั้งพื้นที่ถูกปกคลุมไปด้วยโคลน แต่ผู้คนจำนวนมากก็ยังต้องการเข้าร่วมเทศกาลนี้ โดยก่อนเริ่มงานมีการจำหน่ายตั๋วเข้าชมออกไปกว่า 186,000 ใบ คณะผู้จัดงานมีการคาดการณ์กันว่าจะมีคนมาร่วมงานประมาณ 2 แสนคน แต่เมื่อถึงวันจริงมีผู้มารอชมคอนเสิร์ตเกินไปจากที่คาดไว้มาก ทำให้ในที่สุดคณะผู้จัดงานได้เปิดให้เข้าชมฟรี และเมื่อคนทั่วไปรับรู้ว่าคอนเสิร์ตนี้เข้าชมฟรี ทำให้มีคนหลั่งไหลกันเข้ามาร่วมงานเพิ่มขึ้นจนเต็มพื้นที่ กล่าวกันว่าการจราจรบนถนนที่มุ่งหน้ามาสู่พื้นที่นี้ติดขัดยาวถึง 13 กิโลเมตร ผู้เข้าร่วมงานเรียกกันเองว่า 'Woodstock Nation' ซึ่งเป็นเสมือนความ Cool หรือ Hip แห่งยุคสมัย Woodstock Nation กว่าครึ่งล้านรวมตัวกันเพื่อเข้ามาชมดนตรีจากศิลปิน 32 ดัง อาทิ โจน เบซ (Joan Baez), วง Sha-Na-Na, เจฟเฟอร์สัน แอร์เพลน (Jefferson Airplane) และปิดฉากเทศกาลดนตรีวูดสต็อกโดยการแสดงของ จิมิ เฮนดริกซ์ (Jimi Hendrix) นั่นเอง

เหตุการณ์ที่น่าสนใจอื่น ๆ ในวูดสต็อก คือมีผู้เสียชีวิต 3 คน คนแรกเสพยาเกินขนาด คนที่สอง พลัดตกลงมาจากหอไฟส่องหน้าเวที และคนสุดท้ายถูกรถขนของเข้างานชนตายก่อนหน้างานเริ่ม 1 วัน ในงานมีผู้ป่วยมารับการรักษาที่ห้องพยาบาลสนามถึง 5,162 คน มีเด็กคลอดใหม่ในงานหลายคน และมีผู้ถูกจับกุมไปสงบสติอารมณ์ที่เมืองเบเธล  177 คน  นอกจากนี้มีผู้นำบัตรมาขึ้นเงินคืนกว่า 18,000 ใบ เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปถึงงานได้ เพราะรถติดอยู่บนถนนที่จะเข้าสู่งาน

เทศกาลวูดสต็อกได้กลายเป็นเพียงตำนาน เมื่อสุดท้ายแล้วในปี 1970 แมกซ์ ยาสเกอร์ เจ้าของพื้นที่ปฏิเสธที่จะให้เช่าที่ในฟาร์มของเขาในปี 1970 เพื่อที่จะจัดเทศกาลอีกครั้ง เพราะเขากำลังจะกลับไปทำฟาร์มโคนมดังเดิม รวมไปถึงการที่รัฐนิวยอร์ก และ เมืองเบเธล ได้ใช้กฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมของมวลชน ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเทศกาลแบบวูดสต็อกอีก แมกซ์ ยาสเกอร์ เสียชีวิตในปี 1973 ทุกวันนี้ยังมีอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงความมีน้ำใจ เป็นก้อนหินแกะสลักรูปนกเกาะบนกิ่งไม้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวูดสต็อก ภายใต้รูปยังเต็มไปด้วยรายชื่อศิลปิน น้อย ใหญ่ ที่มาร่วมแสดงในคราวนั้น

มีการจัดคอนเสิร์ตรำลึก 25 ปีเทศกาลวูดสต็อกในปี 1994 แต่ในคอนเสิร์ตรำลึก 30 ปีเทศกาลวูดสต็อกในปี 1999 เทศกาลนี้กลายเป็นเทศกาลที่เต็มไปด้วยยาเสพติด เซ็กซ์ ความรุนแรงจากการยกพวกตีกัน และการข่มขืน จนเกิดเป็นที่สิ้นสุดของการจัดงานรำลึกเทศกาลวูดสต็อก ทำให้เทศกาลวูดสต็อกกลายเป็นเพียงตำนานและต้นแบบของเทศกาลดนตรีในยุคสมัยต่อมา

ไลฟ์สไตล์ของฮิปปี้

[แก้]

คำว่าฮิปปี้ (Hippie) มาจากคำว่า ฮิปสเตอร์( hipster) ซึ่งถูกใช้เรียกพวกที่ทำตัวแตกต่างจากคนส่วนมากในสังคม ซึ่งวิถีชีวิตของฮิปปี้จะมีลักษณะที่เป็นอิสระ รักในสันติภาพ ปฏิเสธการใช้ความรุนแรง มักชอบทำตัวแปลกแยกออกจากสังคม ต่อต้านระบบทุนนิยม ชอบอยู่กับธรรมชาติอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กินมังสวิรัติ หลงใหลในพุทธศาสนา ชอบสวดมนต์ นั่งสมาธิ แสวงหาความสุขที่เป็นนิรันดร์  และวัฒนธรรมของชาวตะวันออก อย่างเช่น ประเทศอินเดีย เนปาล รวมไปถึงประเทศไทยด้วย  พวกเขาหลงไหลในศิลปะแบบไซเคเดลิก(Psychedelic) ซึ่งหมายถึงศิลปะที่แหกกฎ ฉีกจากทฤษฎีเดิม ๆ โดยได้รับอิทธิพลมาจากยาเสพติดประเภทหลอนประสาท ทั้ง กัญชา เห็ดเมา LSD รวมไปถึงแนวดนตรีที่พวกฮิปปี้ชอบเสพย์ก็ได้รับอิทธิพลมาจาก ไซเคเดลิก ซึ่งวิถีชีวิตของฮิปปี้นั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมหลัก ทั้งวัฒนธรรมการกินอาหารเพื่อสุขภาพ แนวดนตรี โทรทัศน์ วรรณกรรม ภาพยนตร์ ศิลปะ รวมไปถึงการพี้กัญชา และ การมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่ปิดกั้น

สิ่งเสพย์ติด (Drug)

[แก้]

ถ้าพูดถึงวัฒนธรรมฮิปปี้สิ่งที่จะนึกออกก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการใช้ยาเสพติด โดยส่วนใหญ่พวกฮิปปี้จะนิยมเสพย์สิ่งเสพติดที่ให้ความรู้สึกเคลิ้บเคลิ้ม ผ่อนคลาย มีอาการหลอนประสาท อย่างเช่น กัญชา (Cannabis & marijuana) LSD (Lysergic acid diethylamide) ซึ่งสิ่งเหล่านี้พวกเขาได้รับอิทธิพลมาจากคนรุ่น Beat Generation สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ทางการเมือง การต่อต้านสงครามเวียดนาม พวกเขาให้เหตุผลในการเสพย์ว่าสิ่งของมึนเมาเหล่านี้เปรียบเสมือนยานพาหนะที่ใช้ในการแสวงหาความสุขที่เป็นนิรันดร์ บ้างก็ว่ามันสามารถพาเราไปถึงจุดนิพพานได้ โดยหลังจากการเสพย์แล้วมันทำให้ผู้เสพย์รู้สึกมีความสุขขึ้นได้ทันที มันทำให้ประสาทการรับรู้เปิดกว้างมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในความคิดสร้างสรรค์ทั้งในด้านดนตรี และศิลปะ บ้างก็บอกว่ามันจะนำพาเราไปสู่สภาวะเหนือตัวตนของจิตใต้สำนึก สิ่งเหล่านี้ได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อวิถีชีวิตของพวกฮิปปี้ทั้งทั้งในด้านการแสดงออกของตัวตนต่อสังคม แนวดนตรี หรืองานศิลปะ รวมไปถึงแฟชั่นการแต่งกายด้วย ซึ่งผลงานส่วนจะมีลักษณะการใช้สีที่สดใส หรือสีสะท้อนแสง มาทับซ้อนกันทำให้เกิดเป็นภาพที่ให้ความรู้สึกมึนเมา เคลิ้บเคลิ้ม โดยส่วนใหญ่ศิลปินที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมฮิปปี้จะเสพกัญชา หรือ LSD ก่อนลงมือทำงานศิลป์เพื่อขยายอารมณ์ความรู้สึก ทำให้ผลงานส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่ฉีกกฎจากทุกทฤษฏี มีความอิสระในตัวเอง ไม่มีกรอบมาจำกัดความงาม แสดงให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่บางครั้งการเสพยาหนักเกินไปของชาวฮิปปี้บางกลุ่ม ก็อาจจะนำไปสู่แนวคิดที่เพี้ยนไปจากคนปกติอย่างบ้าคลั่งสุดโต่ง จนนำไปสู้คดีฆาตรกรรมสุดสะเทือนขวัญได้ อย่างคดีของครอบครัวของ Charles Milles Manson ที่บุกเข้าไปสังหารดาราสาวดาวรุ่งวัย 26 Sharon Tate ขณะตั้งครรภ์ได้ 8 เดือนเศษ พร้อมกับพวกของดาราสาวทั้งหมด 6 ศพรวมเด็กในท้อง เหตุการณ์เกิดขึ้นในก่อนรุ่งเช้าวันที่ 9 สิงหาคม 1969 ในบ้านพักที่โรมัน โปลันสกี้ ผู้กำกับดัง ซื้ออยู่กับเมียดาราสาวชารอน เทต บนภูเขาทางเหนือของเบเวอรี่ฮิลล์ ฮอลลี่วูด ซึ่งซื้อต่อมาจาก Dennis Wilson สมาชิกวง The Beach Boys ที่ Charles Milles Manson เข้าไปช่วยทำเพลง ก่อนที่ผู้จัดการคิวของ Dennis Wilson จะบีบให้ Dennis Wilson ไล่ Charles Milles Manson และครอบครัวออกไปจากบ้านไปหาที่อยู่ใหม่ เพราะเห็นว่ามั่วสุมเสพยาและมั่วเซ็กซ์จน Dennis Wilson ติดโรคหนองใน ความจริงแล้ว Charles Milles Manson ตั้งใจจะส่งสมาชิกครอบครัวไปฆ่า Dennis Wilson แต่ไม่ทราบว่า Dennis Wilson ได้ย้ายออกไปแล้ว Sharon Tate จึงรับเคราะห์แทน นับว่าเป็นคดีสะเทือนขวัญใหญ่อันดับ 1 ของฮอลลี่วูดตั้งแต่ก่อตั้งมา ส่งผลให้ต้องรื้อแก้กฎหมายแห่งรัฐแคลิฟอเนียกันใหม่

อ้างอิง

[แก้]
  1. Hippie Cambridge Dictionary
  2. "hippy - Definition of hippy in English by Oxford Dictionaries". Oxford Dictionaries - English. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 31, 2017.
  3. "กำเนิดฮิปปี้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-16. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.