บัมป์แมปปิง
บัมป์แมปปิง (bump mapping) เป็นเทคนิคในทางคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ที่ใช้ในการเร็นเดอร์ ทำโดยพิจารณาความแตกต่างของเวกเตอร์แนวฉากบนพื้นผิวของวัตถุโดยใช้แผนที่ความสูงเพื่อนำไปคำนวณแสงและเงาให้กับแต่ละพิกเซล ภาพที่ได้จะมีความสมบูรณ์และมีรายละเอียด ใกล้เคียงกับรายละเอียดที่เป็นอยู่ในธรรมชาติมากขึ้น
เทคนิคนี้ได้ถูกเผยแพร่โดยจิม บลินในปี 1978
เปรียบเทียบกับวิธีอื่น ๆ
[แก้]ตั้งแต่ช่วงปี 2000 เป็นต้นมา วิธีการนอร์มัลแมปปิง ได้เป็นที่นิยมใช้มากกว่าบัมป์แมปปิง ถูกใช้โดยทั่วไปในการทำ 3DCG เช่น ในเกม นอร์มัลแมปปิงสามารถเก็บข้อมูลทิศทางในแนวแกน x, y, z ต่างจากบัมป์แมปปิงซึ่งเก็บได้เฉพาะข้อมูลความสูง จึงสามารถแสดงได้แม่นยำกว่า อย่างไรก็ตาม นอร์มัลแมปปิงจะต้องแสดงผลโดยใช้เครื่องมือพิเศษบางประเภท ในขณะที่บัมป์แมปปิงมีข้อดีตรงที่สามารถสร้างด้วยมือได้อย่างง่ายดายโดยใช้ซอฟต์แวร์ระบายสี
เทคนิคขั้นสูงอื่น ๆ เช่น พารัลแลกซ์แมปปิง ยังถูกใช้กันโดยทั่วไปในเกมตั้งแต่ยุคปี 2010 เป็นต้นมา บัมป์แมปปิงและนอร์มัลแมปปิงนั้นจะแสดงเฉพาะเงาโดยการเปลี่ยนความอ่อนเข้มโดยที่ยังคงรักษาตำแหน่งของพื้นผิวของวัตถุไว้ตามเดิม ทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติเมื่อผิวมีความนูนเว้าขนาดใหญ่มาก ส่วนพารัลแลกซ์แมปปิงจะมีการเลื่อนพิกัดของลายผิวของวัตถุ จึงสามารถแสดงได้แม่นยำยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทั้งบัมป์แมปปิง นอร์มัลแมปปิง และพารัลแลกซ์แมปปิง ต่างก็ไม่ได้เปลี่ยนรูปร่างของวัตถุ ดังนั้นเงาร่างของตัววัตถุจะไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น แม้จะใช้วิธีพารัลแลกซ์แมปปิงซึ่งสามารถแสดงออกได้อย่างสมจริง การแสดงออกใกล้กับเงาร่างของวัตถุนั้นก็ยังอาจดูไม่เป็นธรรมชาติ
อีกวิธีที่คล้ายกับบัมป์แมปปิงคือ ดิสเพลซเมนต์แมปปิง ซึ่งเป็นอีกเทคนิคระดับสูงที่ใช้ในการสร้างหนัง แม้ว่าจะไม่นิยมใช้กับเกมช่วงยุคปี 2010 เนื่องจากการกินทรัพยากรเครื่องหนักเกินไป ข้อแตกต่างคือบัมป์แมปปิงจะเปลี่ยนเฉพาะพื้นผิวแนวฉากเพื่อเปลี่ยนลักษณะที่แสงตกกระทบ ทำให้ดูราวกับว่ามีการนูนและเว้า ในขณะที่ดิสเพลซเมนต์แมปปิงจะเปลี่ยนรูปร่างของตัววัตถุไปเลย จึงสามารถแสดงได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น