บริษัทจำกัด
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
มุมมองและกรณีตัวอย่างในบทความนี้อาจไม่ได้แสดงถึงมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง |
บริษัทจำกัด (อังกฤษ: limited company หรือ Co. ltd) คือ องค์การธุรกิจ ซึ่งจัดตั้งขึ้นด้วยการแบ่งทุนเป็นหุ้น มีมูลค่าเท่า ๆ กัน ผู้ถือหุ้นต่างรับผิดชอบจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงิน ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ
บริษัทจำกัด เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป[1] ตกลงเข้าร่วมทุนโดยกำหนดทุนออกเป็นหุ้น รวมถึงกำหนดมูลค่าหุ้นไว้ด้วย ใช้คำนำหน้าว่า "บริษัท" และคำว่า "จำกัด" ต่อท้ายชื่อ
บริษัทจำกัด
[แก้]สำหรับประเทศไทย บริษัทจำกัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- บริษัทเอกชนจำกัด ตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- บริษัทมหาชนจำกัด ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
บริษัทเอกชนจำกัด
[แก้]สถานประกอบการที่จัดตั้งขึ้นโดยวิธีการแบ่งทุนเป็นหุ้น แต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน มีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาจัดตั้งบริษัทร่วมกัน
ลักษณะของบริษัทเอกชนจำกัด
[แก้]1. ทุนแบ่งเป็นหุ้น แต่ละหุ้นมีจำนวนเท่า ๆ กัน ตามมาตรา 1117 กำหนดให้หุ้นหนึ่งไม่ต่ำกว่า 5 บาท
2. การจัดตั้งบริษัทจำกัด ต้องทำตามขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนด มาตรา 1097 กำหนดว่า บุคคลใดก็ตามตั้งแต่ 2 คนเป็นต้นไป จะเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทได้ โดยต้องเข้าชื่อทำหนังสือบริคณห์สนธิ และกระทำการอื่น ๆ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
3. ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบไม่เกินจำนวนเงินมูลค่าที่เจ้าตัวยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ถือ
4. บริษัทเอกชนจำกัด ไม่สามารถประกาศแจ้งความเรียกระดมหุ้นจากประชาชนคนทั่วไปได้ ไม่สามารถออกหนังสือชี้ชวนให้ประชาชนคนทั่วไปมาซื้อหุ้นได้ตามมาตรา 1102
5. ไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ถือหุ้นไว้ หากผู้ถือหุ้นตาย ล้มละลาย เป็นคนไร้ความสามารถ บริษัทก็ไม่ก็เลิก สามารถโอนหุ้นให้บุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัท
6. บริษัทเอกชนจำกัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
7. บริษัทไม่สามารถออกหุ้นกู้ได้ ตามมาตรา 1229
8. กฎหมายห้ามไม่ให้ถือหุ้นตนเอง ทำให้ไม่สามารถซื้อหุ้นของตนเองกลับคืนได้ ตามมาตรา 1143
9. การตั้งชื่อ ต้องมีคำว่า "บริษัท" นำหน้าชื่อ และ คำว่า "จำกัด" ต่อท้าย
บริษัทมหาชน
[แก้]บริษัทมหาชน คือ บริษัทจำกัด ซึ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. บริษัท มหาชน พ.ศ. 2535 โดยมีข้อกำหนดให้บริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว สามารถนำหุ้นจำนวนหนึ่งของบริษัทออกจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปได้ ประชาชนผู้ซื้อหุ้นจึงเป็นเจ้าของกิจการนั้นตามสัดส่วนของหุ้นที่ถืออยู่ และหุ้นนี้อาจขายให้ผู้อื่นได้ตามราคาหุ้นในแต่ละวัน ผู้ที่ดำเนินการขายและซื้อหุ้นของบริษัทจำกัด (มหาชน) คือ ตลาดหลักทรัพย์ โดยในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Public Company Limited แล้วย่อได้เป็น Pcl หรือ PCL (Public Company Limited) เพื่อแสดงว่าเป็นบริษัทจำกัด ประเภทมหาชน
การจดทะเบียนบริษัทและห้างหุ้นส่วน
[แก้]ปัจจุบันได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[2]ใหม่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนบริษัททำให้การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด และจดทะเบียนบริษัท จำกัดมีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนและวิธีการพอสมควร เช่น การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด เปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น เปลี่ยนแปลงที่อยู่บริษัท เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนและวิธีการที่เปลี่ยนแปลงนั้นมีทั้ง จำนวนบุคคลผู้เป็นหุ้นส่วน กำหนดระยะเวลาบอกกล่าวการประชุม และที่สำคัญเรื่องการประกาศหนังสือพิมพ์ที่มีการกำหนดระยะ เวลาและรายการที่ต้องประกาศไว้แตกต่างจากเดิม โดยขั้นแรกจะกล่าวถึงการจัดตั้งบริษัทจำกัดก่อน ดังนี้
การจดทะเบียนบริษัทจำกัด[3]
บุคคล ใดๆ ที่ประสงค์จะจัดตั้งบริษัทเป็นของตนเอง จำต้องรู้โครงสร้างเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัทจำกัดก่อน เพื่อนำมาเป็นข้อมูล จัดเตรียมจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งโครงสร้างของบริษัทจำกัด มีดังต่อไปนี้
โครงสร้างของบริษัทจำกัด
[แก้]- ต้องมีผู้ร่วมลงทุนอย่างน้อย 2 คน โดยตาม ป.พ.พ. ที่แก้ไขใหม่ มาตรา 1097 บัญญัติว่า บุคคลใด ๆ ตั้งแต่สองคนขึ้นไป จะเริ่มก่อการตั้งบริษัทจำกัดก็ได้ ซึ่งหมายความว่า บริษัทจำกัดต้องมีผู้ร่วมลงทุน อย่างน้อย 2 คน ซึ่งแตกต่างจากเดิมซึ่ง กฎหมายบัญญัติไว้ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยการแก้ไขกฎหมายใหม่นี้ทำให้มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ได้ง่ายขึ้น เพราะต้องหาผู้ร่วมลงทุนน้อยลง
- มีการแบ่งทุนออกเป็นหุ้น และมีมูลค่าหุ้นเท่า ๆ กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1096
- มูลค่าหุ้นต้องไม่ต่ำกว่า 5 บาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1117
- ความรับผิดของผู้ถือหุ้นมีจำกัด กล่าวคือ จะมีเฉพาะจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบเท่านั้น (การชำระค่าหุ้น) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1096
- ต้องจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551 http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb03/%bb03-20-2551-a0003.pdf เก็บถาวร 2019-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-10. สืบค้นเมื่อ 2016-11-30.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-18. สืบค้นเมื่อ 2016-11-30.