ข้ามไปเนื้อหา

นีกอลา อาแปร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นีกอลา อาแปร์
เกิด17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1749(1749-11-17)
ชาลง-ซูร์-มาร์น ฝรั่งเศส
เสียชีวิต1 มิถุนายน ค.ศ. 1841(1841-06-01) (91 ปี)
มาซี ฝรั่งเศส
สัญชาติฝรั่งเศส
ลายมือชื่อ
Cursive signature in ink

นีกอลา อาแปร์ (ฝรั่งเศส: Nicolas Appert) เป็นชาวฝรั่งเศสผู้คิดค้นกรรมวิธีการถนอมอาหารด้วยบรรจุภัณฑ์กระป๋อง ซึ่งเขาอธิบายว่าเป็นกรรมวิธีที่สามารถถนอมอาหารได้ทุกประเภท เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดาแห่งการบรรจุกระป๋อง"

อาแปร์เป็นพ่อครัวและคนทำลูกกวาดในกรุงปารีสตั้งแต่ ค.ศ. 1784 ต่อมาใน ค.ศ. 1795 เขาเริ่มทดสอบและคิดค้นวิธีถนอมอาหาร ทั้งซุป พืชผัก น้ำผลไม้ เยลลี่ แยม น้ำเชื่อม และผลิตภัณฑ์จากนม เขานำอาหารเหล่านี้ใส่ไว้ในขวดโหลแก้ว ปิดปากด้วยจุกไม้ก๊อกและป้ายด้วยขี้ผึ้ง จากนั้นจึงนำไปจุ่มในน้ำเดือด[1]

ใน ค.ศ. 1800 จักรพรรดินโปเลียนเสนอเงินรางวัล 12,000 ฟรังก์ให้ใครก็ตามที่คิดค้นวิธีถนอมอาหารแบบใหม่ได้ ใน ค.ศ. 1806 อาแปร์นำขวดแก้วบรรจุอาหารต่าง ๆ ที่เขาถนอมไว้ออกมาแสดงที่งานนิทรรศการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฝรั่งเศส (Exposition des produits de l'industrie française) แต่กลับไม่ชนะและไม่ได้รับเงินรางวัลใด ๆ[2] ต่อมาใน ค.ศ. 1810 กระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศสเสนอเงิน 12,000 ฟรังก์ให้อาแปร์ โดยมีเงื่อนไขว่าเขาต้องเผยแพร่กรรมวิธีถนอมอาหารนี้แก่สาธารณชน อาแปร์ยอมรับและตีพิมพ์หนังสือเพื่ออธิบายกรรมวิธีดังกล่าวในปีนั้นเอง หนังสือของเขามีชื่อว่า ศิลปะการถนอมเนื้อสัตว์และพืชผัก (L'Art de conserver les substances animales et végétales) ตีพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 200 เล่ม[3]

ลาแมซงอาแปร์ (La Maison Appert) ในเมืองมาซีใกล้กับกรุงปารีส กลายเป็นโรงงานบรรจุอาหารลงขวดแห่งแรกในโลก[1] นับเป็นเวลาหลายปีก่อนที่หลุยส์ ปาสเตอร์ จะพิสูจน์ได้ว่าความร้อนสามารถฆ่าแบคทีเรีย กรรมวิธีถนอมอาหารของอาแปร์ได้จุดประกายให้เกิดธุรกิจถนอมอาหารหลากหลายชนิดในบรรจุภัณฑ์ปิด กรรมวิธีถนอมอาหารของเขาแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วมาก ในปีเดียวกับที่เขาตีพิมพ์หนังสือนั้นเอง พ่อค้าชาวอังกฤษนามว่าปีเตอร์ ดูแรนด์ (Peter Durand) ได้นำกรรมวิธีนี้ไปใช้แต่เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นกระป๋องแทน

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Lance Day, Ian McNeil, บ.ก. (1996). Biographical Dictionary of the History of Technology. Routledge. ISBN 0-415-19399-0.
  2. Garcia & Adrian 2009, p. 120.
  3. Robertson 1998, p. 174.