ข้ามไปเนื้อหา

ธรรมนูญแคลเร็นดอน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษผู้ทรงมีบทบาทในการอนุมัติธรรมนูญ

ธรรมนูญแคลเร็นดอน (อังกฤษ: Constitutions of Clarendon) คือ วิธีดำเนินงานทางนิติบัญญัติจำพวกหนึ่งซึ่งพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษทรงอนุมัติในปี ค.ศ. 1164 ธรรมนูญแคลเร็นดอนมีด้วยกันทั้งหมด 16 มาตรา มีสาระสำคัญเป็นการพยายามจำกัดอภิสิทธิ์ของคริสตจักร อำนาจของศาลคริสตจักร และอำนาจหน้าที่ของพระสันตะปาปาในอังกฤษ สถานภาพของความเสื่อมโทรมของอำนาจของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลก่อนหน้านั้นในสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ เป็นสมัยที่คริสตจักรขยายอำนาจเข้ามาแทนที่ส่วนที่ขาดไป จุดประสงค์ของธรรมนูญแคลเร็นดอนอ้างกันว่าเพื่อเป็นการฟื้นฟูอำนาจทางด้านการยุติธรรมตามแบบฉบับที่เคยเป็นมาในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 1 แห่งอังกฤษ (ค.ศ. 1100–ค.ศ. 1135) แต่ตามความเป็นจริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเสริมพระราชอำนาจของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 เองเข้ามาทั้งในด้านกฎหมายแพ่งและกฎหมายศาสนาซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของรัชสมัยของพระองค์

จุดประสงค์หลักของธรรมนูญก็เพื่อการหาวิธีการตัดสินเกี่ยวกับกรณีนักบวชที่ทำผิดทางอาญาและรอดพ้นจากการถูกลงโทษโดยระบบศาลคริสตจักรตามข้อ "ผลประโยชน์ของนักบวช" (Benefit of clergy) ศาสนศาลไม่เหมือนกับศาลของพระมหากษัตริย์ที่มักจะเข้าข้างผลประโยชน์ของนักบวช การฆาตกรรมที่นักบวชมีส่วนเกี่ยวข้องมักจะลงเองโดยการสึกนักบวชที่ถูกล่าวหา แต่ในศาลของพระมหากษัตริย์ฆาตกรมักจะถูกลงโทษโดยการถูกสับเป็นชิ้นๆ หรือถูกประหารชีวิต

ธรรมนูญแคลเร็นดอนเป็นความพยายามของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยอ้างว่าเมื่อศาลคริสตจักรลงโทษผู้ถูกกล่าวหาโดยการสึกแล้ว ทางคริสตจักรก็ไม่มีสิทธิที่จะพิทักษ์ผู้นั้นอีกต่อไป ฉะนั้นผู้นั้นก็ควรจะต้องถูกพิจารณาและลงโทษได้โดยศาลของพระมหากษัตริย์

ทอมัส เบ็กเก็ต[1] อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีขณะนั้น (ค.ศ. 1162-ค.ศ. 1170) ต่อต้านธรรมนูญฉบับนี้ของพระเจ้าเฮนรี โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับ "นักบวชที่เป็นอาชญากร" (criminous clerks) ทอมัส เบ็คเค็ทอ้างว่าไม่มีผู้ใดที่ควรจะถูกพิจารณาคดีซ้ำสอง (double jeopardy) การต่อต้านเป็นผลให้เบ็กเก็ตมีความขัดแย้งโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผลให้พระเจ้าเฮนรีทรงเนรเทศเบ็คเค็ทและครอบครัวออกจากอังกฤษ และในที่สุดเบ็กเก็ตเองก็ถูกลอบสังหารในปี ค.ศ. 1170

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]