ท้าวขาก่าน
ท้าวขาก่าน | |
---|---|
เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 22 (ภายใต้การปกครองของล้านนา) | |
ครองราชย์ | พ.ศ. 2019 - พ.ศ. 2023 |
รัชกาล | 4 ปี |
ก่อนหน้า | หมื่นคำ |
ถัดไป | ท้าวอ้ายยวม |
ประสูติ | ณ เมืองเชียงใหม่ |
พิราลัย | ณ เมืองเชียงราย |
ท้าวขาก่าน หรือ เจ้าหลวงขาก่าน [1] ทรงเป็น เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 22 (ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา) ปกครองเมืองน่าน ระหว่างปี พ.ศ. 2019 - พ.ศ. 2023 ต่อมาได้ย้ายไปครองเมืองเชียงราย
พระประวัติ[แก้]
หลังจากที่พระเจ้าติโลกราช เข้ายึดครองเมืองน่านได้สำเร็จ พระองค์ได้จัดการปกครองบ้านเมืองใหม่ และมอบอำนาจให้ทหารเอกคู่ใจ พระนาม ท้าวขาก่าน หรือ พระญาขาก่าน เป็นผู้ปกครองดูแลเมืองน่าน ในปี พ.ศ. 2019 อันตัว พระญาขาก่านท่านนี้ มีความรู้ ความสามารถในการจับช้าง เลี้ยงช้างและฝึกสอนช้าง จนไม่มีใครเสมอเหมือน และเมืองน่านในขณะนั้น จากดินแดนอันกว้างใหญ่ไปถึงหลวงพระบาง มีช้างป่าจำนวนมาก ช้างเหล่านั้น ล้วนเป็นช้างงา หมาะแก่การนำไปฝึกเป็นช้างศึก พระญาขาก่าน สามารถจับช้างได้ปีละหลายร้อยเชือก จนเป็นประโยชน์แก่กองทัพเมืองน่านและเชียงใหม่ในการรบเพื่อป้องกันอาณาจักรและขยายอาณาจักร เป็นอย่างยิ่ง
กรณียกิจ[แก้]
- พ.ศ. 2019 ท้าวขาก่าน เจ้าเมืองฝาง เชียงใหม่ ได้มาครองเมืองน่าน (สมัยนั้นเมืองน่านขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ ยุคพระเจ้าติโลกราช) ท้าวขาก่านได้ตำนานเรื่องราวของพระธาตุเจดีย์ดอยภูเพียงแช่แห้ง จากพระมหาเถรเจ้าตนหนึ่ง ชื่อ วชิรโพธิ ท้าวขาก่าน พร้อมด้วยสังฆเจ้าทั้งหลาย จึงได้ร่วมกันค้นหาพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง ซึ่งตอนนั้นปกคลุมด้วยป่าไม้ไผ่ และเถาวัลย์ จะเห็นเพียงแนวจอมปลวกเท่านั้น ท้าวขาก่านจึงได้ให้คนแผ้วถาง ทำการสักการบูชาด้วยช่อตุง เทียน ฯลฯ แต่ก็มองไม่เห็นพระธาตุเจ้า ในระหว่างการแผ้วถางนั้น ยามค่ำคืน พระธาตุก็ได้เปล่งปาฏิหาริย์ จนสว่างสุกใส ท้าวขาก่านได้เห็น ก็พากันขุดคูในจอมปลวก ลึก 1 วา ก็ได้ก้อนผามา 1 ลูกกลมใหญ่กลมเกลี้ยง ท้าวขาก่านจึงทุบให้แตกเห็นข้างใน เป็นต้นปูนใส่ทองเทศใหญ่ มีฝาปิดสนิท จึงให้ปะขาวเชียงโคม ที่อยู่ด้วยนั้น เปิดดูก็เห็นพระธาตุเจ้า 7 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ พระพิมพ์คำ 20 องค์
ซึ่งก็เป็นพระธาตุที่พระยาการเมืองเอามาจากพระยาสุโขทัย และมาบรรจุไว้ในที่ดังกล่าว เมื่อได้ พระธาตุ ท้าวขาก่านก็เอาไปไว้ในหอพระไตรปิฏก ริมข่วงหลวง นานได้เดือนหนึ่ง แล้วไปเรียนให้พระเจ้า ติโลกราชทราบ พระเจ้าติโลกราช จึงได้มีพระกรุณาว่า พบที่ใด ให้นำไปไว้ที่นั่น เมื่อท้าวขาก่านได้ยิน ดังนั้น ก็เอาพระธาตุ ไปบรรจุไว้ที่ดอยภูเพียงที่เก่า และก็ได้ก่อเจดีย์สูง 6 วา ครอบไว้[2]
- พ.ศ. 2023 พวกแกว(ญวน) ยกรี้พลมาตีเมืองน่าน พระเจ้าติโลกราช ได้มีอาญาให้ ท้าวขาก่าน ยกเอารี้พล 40,000 คนออกสู้รบ ทำศึกกับพวกแกว ท้าวขาก่านจึงมีชัยชนะฆ่าแกวได้มากมาย ยึดเอาช้างเอาม้า ครอบครัวแกวมาถวายพระยาติโลกราช แต่พระเจ้าติโลกราชไม่ทรงพอใจ กล่าวว่า “ แกวก๋าน (พ่ายแพ้) ก็ดีแล้ว แต่เอาครอบครัวแกวมามากมายอย่างนี้ ไม่ดี ไม่ควรเอาแกวมาอยู่ให้มากอย่างนี้” ว่าดังนั้น ก็ได้ให้ท้าวขาก่านไปอยู่เชียงราย ท้าวขาก่านจึงได้ครองเมืองน่านเป็นลำดับองค์ที่ 22[3]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช), หน้า 128
- ↑ หอมรดกไทย เมืองเก่าของไทย
- ↑ "ตำนานพระธาตุแช่แห้ง...พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดน่าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-31. สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
ก่อนหน้า | ท้าวขาก่าน | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เจ้าหลวงคำ เจ้าเมืองน่าน องค์ที่ 21 |
![]() |
เจ้าเมืองน่าน องค์ที่ 22 (พ.ศ. 2019 - 2023) |
![]() |
เจ้าหลวงอ้ายยวม เจ้าเมืองน่าน องค์ที่ 23 |