ท้าวกำพร้าไก่แก้ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ท้าวกำพร้าไก่แก้ว, ไก่แก้วหอมฮู หรือ จันทร์สมุทร์ เป็นวรรณกรรมประเภทนิทานพื้นบ้านภาคอีสานของประเทศไทย แต่งในลักษณะชาดก แต่จะไม่กล่าวถึงการกลับชาติมาเกิดและปัจจุบันนิทานและบทสโมธาน คือมีแต่อดีตนิทาน การขึ้นเรื่องเริ่มด้วยบทไหว้ครู[1]

ฉบับ[แก้]

  • จารบนใบลานจำนวน 12 ผูก วัดธัญญุตตมาราม อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี
  • จารบนใบลานจำนวน 5 ผูก วัดบ้านไร่น้อย อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี[2]
  • หนังสือนิทานคำสอนภาคอีสานเรื่อง ท้าวกำพร้าไก่แก้ว แต่งโดยนายน้อย ผิวผัน พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2498

เนื้อหา[แก้]

สำนวนที่ 1[แก้]

หญิงชายคู่หนึ่งมีบุตรชายหนึ่งคน ต่อมาสามีได้ตายจากไป ทิ้งให้หญิงหม้ายเลี้ยงลูกตามลำพัง หญิงหม้ายจึงพาลูก "ท้าวกำพร้า" ไปอาศัยอยู่เมืองอุดม ซึ่งมีพระยากุญชโรปกครอง เมื่อท้าวกำพร้าลูกชายโตเป็นหนุ่ม ได้ไปเรียนวิชาต่อไก่จากชายคนหนึ่งจนชำนาญ

ส่วนที่เมืองพญานาคซึ่งท้าวกะโยงคำเป็นผู้ปกครอง มีธิดาชื่อ นางสีดา ในอดีตชาตินางเคยเป็นภรรยาของท้าวกำพร้า นางยังคิดถึงอดีตสามีอยู่เสมอ วันหนึ่งท้าวกำพร้ากำลังต่อไก่อยู่ในป่าได้พบนางสีดาซึ่งแปลงกายเป็นไก่แก้ว (ไก่เผือก) ท้าวกำพร้ากระโดดตะครุบไก่แก้ว แต่ไก่แก้ววิ่งหนีลงรูหายไป ท้าวกำพร้ากำได้เพียงขนหางนางเส้นหนึ่งซึ่งมีกลิ่นหอมมาก ส่งกลิ่นไปถึงวังของพระยากุญชโร พระองค์รับสั่งให้ท้าวกำพร้าตามไก่มาถวาย ท้าวกำพร้าลงไปในรูไปที่เมืองบาดาลจนได้พบนางสีดาแล้วแต่งงานกัน จนอยู่ได้ระยะหนึ่งท้าวกำพร้าคิดถึงมารดา จึงพานางสีดาขึ้นมาเมืองมนุษย์ นางสีดาถูกพระยากุญชโรแย่งชิงนำไปขังไว้เพื่ออภิเษกเป็นมเหสี แต่พระยากุญชโรไม่สามารถเข้าใกล้นางได้ เพราะร่างกายนางสีดาร้อนดังไฟ

เทวดาได้เข้าช่วยเหลือท้าวกำพร้า และพอท้าวกำพร้ารู้ว่าพระราชาทำผิดคำสัญญาและเอาภรรยาของตนไป จึงทำสงครามสู้รบกัน จนท้าวกำพร้าชนะ เลยได้ครองเมือง และภรรยากลับคืนมา

สำนวนที่ 2[แก้]

ณ เมืองแห่งหนึ่ง ชาวเมืองได้พบรูขนาดใหญ่ซึ่งมีกลิ่นหอม พระราชาแห่งเมืองนั้นจึงได้ประกาศหาอาสาสมัครที่จะลงไปสำรวจในรูนั้น แต่ก็ไม่มีใครกล้าอาสาไปดู ท้าวเทศจันทสมุทร์อาศัยอยู่กับย่าจำสวน (คนสวนของพระราชา) ได้อาสาลงไปในรู พระราชาจึงมีรับสั่งให้ทำอู่ (กรง) เหล็ก และทำโซ่เหล็กแทนเชือก เพื่อให้ท้าวเทศจันทสมุทร์นั่งอยู่ในอู่นั้น แล้วหย่อนลงไปตามรู จนไปถึงเมืองแห่งนั้น

เมื่อลงไปถึงนั้นอู่เหล็กไปลงตรงเกาะพอดี ขณะที่ท้าวเทศจันทสมุทร์ขึ้นกินหมากเดื่ออยู่บนต้นไม้ ได้มีหมูตัวหนึ่งคาบแก้ววิเศษไต่น้ำขึ้นมา ท้าวเทศจันทสมุทร์จึงโยนหมากเดื่อให้หมูกินห่างออกไปเรื่อย ๆ แล้วรีบมาขโมยเอาแก้ววิเศษไป ต่อมาได้พบชายที่ถือน้ำเต้าเหาะมาจึงขอเอาแก้วแลกกับน้ำเต้า แต่แก้วนั้นก็กลับมาอยู่กับท้าวเทศจันทสมุทร์เหมือนเดิม เมื่อเดินต่อพบคนถือขวาน ถือดาบ ถือขดหนังเหาะมาเช่นเดียวกัน ท้าวเทศจันทสมุทร์ได้ขอแลกแบบครั้งก่อน ดังนั้นท้าวเทศจันทสมุทร์จึงได้ของดีมา 5 อย่าง คือ แก้ว น้ำเต้า ขวาน ดาบ และขดหนัง เมื่อเดินต่อไปจึงได้ทราบว่ากลิ่นหอมมาจากธิดาของเมืองนั้น ผู้มีผมหอมเป็นที่เลื่องลือ จึงได้ขอร้องให้ย่าจำสวนไปสู่ขอให้ แต่ย่าจำสวนว่าท้าวเทศจันทสมุทร์ไม่หล่อเหลา จึงพาไปหล่อใหม่แล้วจึงไปสู่ขอให้ เมื่อนางผมหอมเห็นท้าวเทศจันทสมุทร์แล้วก็เกิดรักใคร่กัน แต่พระราชาพ่อของนางไม่ยอม บอกว่าถ้าอยากได้ให้มารบเอา ท้าวเทศจันทสมุทร์จึงไปรบชนะแล้วจึงได้อยู่กินกันเรื่อยมา

ท้าวเทศจันทสมุทร์คิดจะเยี่ยมบ้าน จึงพานางผมหอมกลับขึ้นไปในเมือง พอขึ้นไปทั้งสองคนแล้วผ้าของนางผมหอมผืนหนึ่งตกลง ท้าวเทศจันทสมุทร์จึงลงไปเอา ขณะเดียวกันนั้นคนที่อยู่ข้างบนก็ดึงเอานางขึ้นมาคนเดียว แล้วเอามาถวายพระราชาแต่พระราชาก็ไม่สามารถเข้าใกล้นางได้ ส่วนท้าวเทศจันทสมุทร์เดินทางหาทางขึ้น จนได้พบนกกระจอก2 ตัวที่พระอินทร์แปลงกายมา ได้ให้ท้าวขี่ขึ้นมาปล่อยไว้นอกเมืองใกล้แม่น้ำ แล้วมาพบพ่อค้านายสำเภา จึงขอมาอาศัยด้วย แล้วไปอยู่กับย่าจำสวนเหมือนเดิม ส่วนนางผมหอมนั้นได้ยินว่าผัวของนางมาแล้วจึงออกมาอยู่ด้วยแต่พระราชาได้ส่งคนมารับนางคืนไป แต่ท้าวเทศจันทสมุทร์ไม่ให้ จึงได้รบกัน กองทัพก็แพ้เพราะของวิเศษเหล่านั้น พระราชาหมดปัญญาจึงยอมยกเมืองให้ครองครึ่งหนึ่ง แล้วท้าว เทศจันทสมุทร์ก็อยู่กับนางผมหอมที่ได้มาจากรูนั้นต่อมา

สถานที่เกี่ยวข้อง[แก้]

ปรางค์บ้านสีดา อำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา เชื่อว่าสร้างปรางค์นี้ให้นางสีดา นอกจากนี้ยังมีภูมินามที่ประกอบนิทานหลายแห่ง เช่น บ้านโนนเมือง เมืองของพระยาจาตูมบ้านหนองตะโมนของท้าวกำพร้า บ้านดอนโก่ย ดอนต่อไก่ของท้าวกำพร้าบ้านหนองไข่เหี้ย[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. ยุพิน สุวรรณฤทธิ์. "การศึกษาเชิงวิเคราะห์วรรณกรรมลาวเรื่องไก่แก้ว" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  2. "การวิเคราะห์วรรณกรรม เรื่อง กำพร้าไก่แก้ว" (PDF). มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.[ลิงก์เสีย]
  3. "วรรณกรรมพืนบ้านและประวัติศาสตร์บอกเล่า ท้าวกำพร้า-นางสีดา (อำเภอสีดา)".