ทานิวา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยูเรียอา ภาพแกะสลักไม้ของทานิวา เทพผู้พิทักษ์ของชาวเมารี ตั้งแต่ ค.ศ. 1878

ทานิวา หรือ ทานิฟา (อังกฤษ: Taniwha) เป็นสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติตามความเชื่อของชาวเมารี ชนชาติพื้นเมืองของนิวซีแลนด์ ทานิวามีรูปร่างคล้ายงูหรือมังกรขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ ทั้งทะเล, แม่น้ำ, ลำธารน้ำตก หรือในถ้ำ เป็นสัตว์ดุร้ายที่บางครั้งอาจทำร้ายหรือแม้แต่กินมนุษย์เป็นอาหาร หรือลักพาตัวผู้หญิงไปเป็นภรรยา ถึงแม้ว่าทานิวาจะมีสถานะเป็นเสมือนเทพผู้พิทักษ์หรือเทพารักษ์ก็ตาม บ้างก็เชื่อว่ามีรูปร่างเหมือนกิ้งก่าขนาดยักษ์บางครั้งมีปีก หรือบ้างก็ว่ามีลำตัวสีขาวขุ่นหรือมีหงอนบนหัว[1] หรือแม้กระทั่งมีรูปร่างเป็นปลาฉลามหรือวาฬ หรือเป็นขอนไม้หรือท่อนไม้ในน้ำ บางครั้งอาจจะเปลี่ยนรูปร่างไปเรื่อย ๆ

โดยรากศัพท์ของคำว่า "ทานิวา" หรือ "ทานิฟา" ในกลุ่มภาษาโปรโต-โอเชียนิก มีความหมายถึง "ชนิดของปลาฉลาม" ในภาษาตองงาและภาษานีวเวที่หมายถึง "ปลาฉลามขนาดใหญ่ที่มีอันตราย" เช่นเดียวกับภาษาซามัว, โทเคอเลา หมายถึง "สัตว์ประหลาดทะเลกินคน" แต่ภาษาโพลินีเซียทั่วไปจะหมายถึง ปลาฉลาม หรือปลาทั่วไป[2]

ความเชื่อเรื่องทานิวามีกระจายไปทั่วนิวซีแลนด์ ทั้งเกาะเหนือและเกาะใต้[1] มีปรากฏอยู่ในนิทานพื้นบ้านและจักรวาลวิทยาโพลินีเซียหลายเรื่อง[3] เช่น มีความเชื่อว่ามีทานิวาตนหนึ่งเป็นเพศหญิงชื่อ ไฮเน เต อริกิ เป็นเทพผู้พิทักษ์อาศัยอยู่ที่แม่น้ำไวกาโต แม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของนิวซีแลนด์[4] และยังมีความเชื่อที่คล้ายคลึงกันของชาวฮาวายถึง โม’โอ หรือโมโฮ ที่เป็นเทพเจ้ากิ้งก่า ที่มีสภาพเป็นทั้งผู้พิทักษ์และเป็นอันตรายต่อมนุษย์อีกด้วย[5] ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า สิ่งที่เชื่อว่าเป็นทานิวาอาจเป็นปลาไหลขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งจำพวกปลาตูหนา คือ ปลาไหลครีบยาวนิวซีแลนด์ ซึ่งอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดของนิวซีแลนด์และภูมิภาคโพลีนีเซีย ที่เมื่อโตเต็มที่อาจยาวได้ถึงกว่า 2 เมตร[1]

เมื่อปี ค.ศ. 2002 เกิดกรณีพิพาทกันระหว่างชาวเมารีเผ่างาตินาโฮ กับเทศบาลเมืองโอกแลนด์ ถึงเรื่องการตัดทางหลวง ว่าเป็นการทำลายถ้ำที่อยู่อาศัยของทานิวา ซึ่งเป็นเทพผู้พิทักษ์ ในที่สุดโครงการนี้จำต้องเปลี่ยนสถานที่ไปเป็นที่อื่น

และในปลายปี ค.ศ. 2014 วิศวกรผู้หนึ่งได้ใช้ดาวเทียมกูเกิลเอิร์ธตรวจดูภาพถ่ายของโอกเบย์ ในเบย์ออฟไอส์แลนด์ นอกชายฝั่งเกาะเหนือของนิวซีแลนด์ ปรากฏว่าพบเห็นอะไรบางอย่างผิดปกติเหมือนกำลังเคลื่อนไหวอยู่ใต้น้ำเป็นทางยาว จึงเชื่อว่าเป็นทานิวา เพราะว่ามันไม่ใช่วาฬ และมันก็มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะเป็นปลาฉลาม และก็ยังเคลื่อนที่รวดเร็วเกินกว่าจะเป็นวาฬอีกด้วย และก็ไม่น่าจะใช่เรือใบหรือเรือสำราญอีกด้วย เพราะว่าไม่ปรากฏฟองคลื่น อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพได้พิจารณาภาพดังกล่าวแล้ว พบว่า สิ่งที่เห็นนั้นไม่น่าจะใช่สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ หากแต่เป็นเรือสำราญขนาดเล็กราว 5 เมตร (16 ฟุต) ที่เมื่อแล่นแล้วก็ไม่ปรากฏฟองคลื่นอยู่แล้ว อีกทั้งบริเวณนั้นยังเป็นแหล่งที่นิยมในการแล่นเรืออีกด้วย[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "Destination Truth" Haunted Mining Town/The Taniwha (TV Episode) ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส แก้ไขสิ่งนี้ที่วิกิสนเทศ
  2. Polynesian on LexicProject Online, entry tanifa
  3. A. Asbjørn Jøn, 'The Road and the Taniwha' in Australian Folklore: A Yearly Journal of Folklore Studies 22 (2007), pp.85-94 (p.85). ISBN 1-86389-831-X
  4. Keane, Basil (1 March 2009). "Taniwha Today: Taniwha and identity". Te Ara - the Encyclopedia of New Zealand. สืบค้นเมื่อ 23 December 2010.
  5. Moo - Shapeshifting Dragons Hawaiian Mythology
  6. TORMSEN, DAVID (2015-05-12). "10 Modern Encounters With Mythological Creatures". สืบค้นเมื่อ 2017-06-06.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]