ทาโกยากิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ทะโกะยะกิ)
ทาโกยากิ
ทาโกยากิจานหนึ่ง
มื้ออาหารว่าง
แหล่งกำเนิดประเทศญี่ปุ่น
ส่วนผสมหลักแป้งปลาหมึกเศษเทมปุระ ( เท็นคาสึ)ขิงดองต้นหอมซอสทาโกะยากิ (ใส่มายองเนส ) ผักสีเขียว ( อาโอโนริ )

ทาโกยากิ (ญี่ปุ่น: たこ焼き หรือ 蛸焼โรมาจิtakoyakiทับศัพท์หมึกทอดหรือย่าง) เป็นชื่ออาหารญี่ปุ่นอย่างหนึ่ง โดยเป็นเกี๊ยว ทรงกลม ทำจากแป้ง น้ำ นม และไข่ผสมกัน หรือที่เรียกรวมกันในภาษาอังกฤษว่า "แบตเทอร์" (batter) ใส่ไส้เป็นหมึกตัวเล็กทั้งตัวหรือหั่นเต๋า, เท็มปูระขูดหรือที่เรียกว่า "เท็งกาซุ", ขิงดองหรือที่เรียกว่า "เบนิโชงะ" หรือหัวหอมเขียว แล้วทำให้สุกโดยทอดหรือปิ้งในกระทะหลุมอย่างกระทะขนมครก ปัจจุบัน มักราดซอสทาโกยากิ และมายองเนส แล้วโรยสาหร่ายเขียวที่เรียก "อาโอโนริ" กับปลาทูขอดทอดแห้งหรือที่เรียกว่า "คัตสึโอบูชิ" ด้วย[1]

กระทะสิบหกหลุม สำหรับทอดทาโกยากิ

ประวัติ[แก้]

พ่อค้าอาหารริมถนนชาวญี่ปุ่นชื่อ เอ็นโด โทเมกิจิ (遠藤留吉, Endō Tomekichi) คิดค้นทาโกยากิขึ้นใน พ.ศ. 2478 โดยดัดแปลงมาจากอาหารชื่อ "อากาชิยากิ" (明石焼き, Akashiyaki) แล้ววางขายในโอซากะ[1] แรกเริ่ม ทาโกยากิได้รับความนิยมเป็นอันมากในคันไซ แล้วแพร่ไปคันโต ก่อนจะไปสู่ท้องที่อื่น ๆ ตามลำดับ บัดนี้ ยังเป็นที่นิยมภายนอกประเทศญี่ปุ่นด้วย สำหรับในญี่ปุ่นเอง เดิมทาโกยากิมีขายทั่วไปตามรถเข็นริมถนน ที่เรียก "ยาไต" ปัจจุบันมีวางขายในภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า และร้านซื้อสะดวกยี่สิบสี่ชั่วโมงด้วย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังผลิตทาโกยากิแช่แข็งส่งออกไปขายนอกประเทศเป็นอันมาก และทาโกยากิกลายเป็นอาหารประจำถิ่นโอซากะและคันไซ

ที่มาของคำ[แก้]

คำว่า "ยากิ" นั้นมาจาก คำ "ยากุ" (ญี่ปุ่น: 焼くโรมาจิyaku) หมายถึง ทอด ย่าง หรือปิ้ง และเป็นคำประกอบชื่ออาหารอีกหลายชนิดของญี่ปุ่น เช่น เท็ปปังยากิ, ยากิโตริ, เทริยากิ และสุกี้ยากี้[2]

กระทะหลุม[แก้]

สำหรับกระทะหลุมอันมีไว้ทอดหรือปิ้งทาโกยากินั้น ภาษาญี่ปุ่นเรียก "ทาโกยากิกิ" (ญี่ปุ่น: たこ焼き器โรมาจิtakoyaki-ki) หรือ "ทาโกยากินาเบะ" (ญี่ปุ่น: たこ焼き鍋โรมาจิtakoyaki-nabe) ทำจากเหล็กหล่อ (cast iron) ลักษณะเป็นหลุมกลม ๆ เล็ก ๆ ใช้หยอดทาโกยากิลงไปเมื่อกระทะร้อนได้ที่แล้ว แต่บางที เครื่องทำทาโกยากิที่ต่อกับแก๊สหุงต้มก็นิยมใช้ในเทศกาลต่าง ๆ และเครื่องใช้ไฟฟ้าลักษณะอย่างเตาก็นิยมใช้ทำทาโกยากิในครัวเรือน[2]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]