ทอมัส แอนดรูส์
ทอมัส แอนดรูส์ | |
---|---|
![]() แอนดรูส์ใน ค.ศ. 1911 | |
เกิด | ทอมัส แอนดรูส์ จูเนียร์ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1873 คอมเบอร์ เทศมณฑลดาวน์ ประเทศไอร์แลนด์ |
เสียชีวิต | 15 เมษายน ค.ศ. 1912 มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ | (39 ปี)
สาเหตุเสียชีวิต | การอับปางของเรืออาร์เอ็มเอส ไททานิก |
สัญชาติ | บริติช |
อาชีพ | ช่างต่อเรือ |
มีชื่อเสียงจาก | นาวาสถาปนิกของอาร์เอ็มเอส ไททานิก |
คู่สมรส | เฮเลน เรลลี บาร์เบอร์ (สมรส 1908) |
บุตร | 1 |
ญาติ | ไวเคานต์พีร์รี (ลุง) เจ. เอ็ม. แอนดรูส์ (พี่ชาย) เซอร์ เจมส์ แอนดรูส์ บารอเนตที่ 1 (น้องชาย) |
ทอมัส แอนดรูส์ จูเนียร์ (อังกฤษ: Thomas Andrews Jr.; 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1873 – 15 เมษายน ค.ศ. 1912) เป็นนักธุรกิจและช่างต่อเรือชาวบริติช ผู้ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าแผนกออกแบบของบริษัทต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟในเบลฟาสต์ ประเทศไอร์แลนด์ เขาเป็นนาวาสถาปนิกผู้รับผิดชอบแผนการสร้างเรือเดินสมุทรอาร์เอ็มเอส ไททานิกและเสียชีวิตพร้อมกับผู้คนกว่า 1,500 คนเมื่อเรืออับปางในการเดินทางครั้งแรกของเธอ[1]
ชีวิตช่วงต้น
[แก้]
ทอมัส แอนดรูส์ จูเนียร์ เกิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1873 ที่บ้านอาร์เดรา เมืองคอมเบอร์ เทศมณฑลดาวน์ ประเทศไอร์แลนด์ เป็นบุตรชายของ ฯพณฯ ทอมัส แอนดรูส์ สมาชิกสภาองคมนตรีแห่งไอร์แลนด์ และเอลิซา พีร์รี แอนดรูส์นับถือศาสนาเพรสไบทีเรียน มีเชื้อสายสกอตและถือว่าตนเองเป็นชาวบริติช พี่น้องของเขา ได้แก่ เจ. เอ็ม. แอนดรูส์ ผู้ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์เหนือ และเซอร์ เจมส์ แอนดรูส์ ผู้ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งประธานศาลสูงสุดไอร์แลนด์เหนือ ทอมัส แอนดรูส์อาศัยอยู่กับครอบครัวของเขาที่อาร์ดารา เมืองคอมเบอร์ ใน ค.ศ. 1884 เขาเริ่มเข้าเรียนที่สถาบันรอยัลเบลฟาสต์อะคาเดมิคอลจนกระทั่ง ค.ศ. 1889 เมื่ออายุ 16 ปี เขาเริ่มฝึกงานแบบมีค่าตอบแทนที่บริษัทฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ ที่ซึ่งลุงของเขา ไวเคานต์พีร์รี เป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่ง ไหวพริบที่เฉียบแหลมและความชอบการทำงานหนักของแอนดรูส์ทำให้เขาโดดเด่นในบริษัทของลุง
ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ
[แก้]ที่ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ แอนดรูส์เริ่มต้นด้วยการฝึกงานสามเดือนในแผนกช่างไม้ ตามด้วยหนึ่งเดือนในแผนกช่างทำตู้ และอีกสองเดือนในการทำงานบนเรือ ช่วงสิบแปดเดือนสุดท้ายของการฝึกงานห้าปีของเขาใช้เวลาในห้องเขียนแบบ แอนดรูส์ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในระหว่างวันและศึกษาต่อในช่วงเย็น ใน ค.ศ. 1901 ขณะพักอยู่ที่ 11 เวลลิงตันเพลส หลังจากทำงานในแผนกต่าง ๆ ของบริษัทมามากมาย เขามีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้งในการสร้างเรือเดินสมุทรของไวต์สตาร์และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการอู่ต่อเรือและต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการฝ่ายก่อสร้าง ในปีเดียวกันนั้น เขาได้เป็นสมาชิกของสถาบันนาวาสถาปนิก ใน ค.ศ. 1907 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการของฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟและเริ่มดูแลแผนการสำหรับเรือเดินสมุทรใหม่สามลำสำหรับไวต์สตาร์ไลน์ ได้แก่ อาร์เอ็มเอส โอลิมปิก อาร์เอ็มเอส ไททานิก และอาร์เอ็มเอส (ภายหลังคือเอชเอ็มเอชเอส) บริแทนนิก ทั้งสามลำได้รับการออกแบบโดยแอนดรูส์, วิลเลียม พีร์รี และอเล็กซานเดอร์ คาร์ไลล์ ผู้จัดการใหญ่ให้เป็นเรือที่ใหญ่ที่สุด ปลอดภัยที่สุด และหรูหราที่สุดในทะเล เขาเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการออกแบบโอลิมปิกและไททานิก ณ จุดนั้น แอนดรูส์ได้รับชื่อเสียงในฐานะอัจฉริยะในสาขาการออกแบบเรือ แอนดรูส์มักอ้างถึงตำแหน่งของเขาในฐานะ "ช่างต่อเรือ" หรือ "กรรมการ" ของบริษัทต่อเรือที่เขาทำงานอยู่ แทนที่จะอ้างตำแหน่งอย่างเป็นทางการมากกว่าอย่าง "นาวาสถาปนิก"[2] ตลอดหลายปีของการฝึกงาน การศึกษา และการทำงาน แอนดรูส์ได้รับความรักใคร่จากบริษัทและในหมู่พนักงาน แอนดรูส์เป็นคนทำงานที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เขามักปรากฏตัวที่อู่ต่อเรือในเวลาใดก็ได้ เขาพร้อมเสมอที่จะลงมือช่วยเหลืองานที่ต้องใช้แรงกายอย่างหนักเมื่อมีความจำเป็น เขาเป็นที่รู้จักกันดีว่าแบ่งปันอาหารกลางวันกับเพื่อนร่วมงานเมื่อมีความต้องการ แม้กระนั้น แอนดรูส์ก็ไม่กลัวที่จะแก้ไขพนักงานเมื่อเห็นพวกเขาทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือละเมิดกฎของอู่ต่อเรือ มีคนกล่าวว่าขณะที่เขาจะไม่ไล่พนักงานออกเมื่อพบว่าพวกเขากำลังทำเรื่องไร้สาระแบบนั้น "เขาจะตำหนิพนักงานอย่างรุนแรงและเตือนด้วยความหวังดี" เขายังชอบเมื่อพนักงานทำมากกว่าแค่ทำงานของตนไปเรื่อย ๆ โดยไม่คิดอะไร เขาสนับสนุนให้พวกเขาใช้ความคิดของตน แหล่งข้อมูลที่ได้รับการบันทึกไว้อย่างดีดูเหมือนจะอธิบายว่าเขาเป็นคนร่าเริง มองโลกในแง่ดี และใจกว้าง หัวหน้างานคนหนึ่งจำได้ว่า "ดูเหมือนว่าความสุขของเขาคือการทำให้คนรอบข้างมีความสุข เขามีคำทักทายที่เป็นมิตร การจับมือที่อบอุ่น และอารมณ์ที่ใจดีเสมอ" และเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งอธิบายว่าเขา "ขยันขันแข็งถึงขนาดเหน็ดเหนื่อย"
ครอบครัว
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Official investigation report – the sinking of RMS Titanic (PDF) (1 ed.). London: The final board of inquiry. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 31 October 2017. สืบค้นเมื่อ 27 July 2017.
- ↑ Fitch, Layton & Wormstedt 2012, pp. 22.