แอตแลนติส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ทวีปแอตแลนติส)

แอตแลนติส (กรีกโบราณ: Ἀτλαντὶς) คือชื่อในภาษากรีกที่มีความหมายว่า "เกาะแอตลาส" เป็นอาณาจักรในตำนานที่ถูกกล่าวถึงโดยเพลโต ปราชญ์ของกรีกโบราณที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อแนวคิดตะวันตก[1]

กล่าวกันว่าอาณาจักรแอตแลนติส เป็นทวีปทวีปหนึ่งที่อยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก เป็นที่อยู่อาศัยของพลเมืองผู้ทรงคุณธรรมและเทคโนโลยีที่สูงส่ง กำแพงเมืองเป็นทองคำและวิหารสร้างด้วยเงิน มีอุทยานหย่อนใจ และสนามแข่งม้า ทว่ามันถูกทำลายพังพินาศ ด้วยความพิโรธของเทพเจ้าผู้เนรมิตมันขึ้นมา คำว่า แอตแลนติส มาจากแอตลาสบุตรของโพไซดอน แอตแลนติสอาจอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นักประดาน้ำบางคนพบขุมทองบริเวณนั้นนั่นเอง

เพลโต นักปราชญ์ชาวกรีกเขียนไว้เมื่อราว 300 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งยุคของเพลโต ห่างจากยุคของแอตแลนติสราว 9,000 ปี เพลโตเขียนถึงแอตแลนติสในหนังสือที่ชื่อว่า ทิเมอุส และ ครีทีแอซ โดยอ้างว่า โซลอน รัฐบุรุษคนหนึ่งของกรีกราวยุค 600 ปีก่อนคริสตกาล เป็นผู้นำมาเผยแพร่หลังจากรับทราบเรื่องราวของแอตแลนติสจากนักบวชชาวอียิปต์ท่านหนึ่ง

มีการกล่าวว่า อารยธรรมโบราณหลาย ๆ แห่งของโลก ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ รวมถึงบรรดาวัฒนธรรมเมโสโปเตเมียทั้งหลาย ไปจนถึงวัฒนธรรมโบราณของชนเผ่าอินคา มายา และแอซแต็กในแถบอเมริกากลาง รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างที่มหัศจรรย์ ไม่ว่าจะเป็นสโตนเฮนจ์ หรือปิรามิดในดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างก็เป็นมรดกจากชาวแอตแลนติสทั้งสิ้น และปัจจุบันยังไม่รู้ที่ตั้งของแอตแลนติส

ทฤษฎีแอนตาร์กติกาคือแอตแลนติส[แก้]

ในหนังสือ แอตแลนติส ดินแดนที่สาบสูญ ได้ระบุไว้ว่า ทวีปแอนตาร์กติกา มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นดินแดนที่ตั้งของนครแอตแลนติส เนื่องจากมีการกล่าวไว้ว่า แอตแลนติส เป็นดินแดนที่ล้อมรอบไปด้วยมหาสมุทร และผืนแผ่นดิน ซึ่งเมื่อ 12,000 กว่าปีก่อน บริเวณช่องแคบแบริ่ง เคยเกิดทางเชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียกับทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปแอฟริกาและเอเชียเคยเชื่อมต่อกันมาก่อนที่จะขุดคลองสุเอซขึ้น และก่อนที่จะมีการสำรวจทวีปอเมริกาเหนือและใต้ ทวีปทั้งสองเคยเชื่อมต่อกัน ก่อนที่ชาวสเปนจะทำการขุดคลองปานามา ทำให้ทวีปเอเชีย ยุโรป แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย เป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน ล้อมรอบทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็น "เกาะสีขาวกลางมหาสมุทร" อันเป็นแอตแลนติสนั่นเอง[2]

ช่วงเวลาที่แอตแลนติสล่มสลาย คือประมาณ 12,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เปลือกโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้าย ซึ่งในช่วงนั้น แกนโลกเอียงไปมาก ทำให้แอนตาร์กติกาเล็ก (ดินแดนขนาดใหญ่ที่ถูกกั้นจากแอนตาร์กติกาใหญ่ด้วยเทือกเขาทรานส์แอนตาร์กติก) ตอนนั้นยังไม่มีน้ำแข็งปกคลุม ด้านตรงข้าม บริเวณมหาสมุทรอาร์กติก ก็ยังไม่มีน้ำแข็งปกคลุม แต่บริเวณตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา และแอนตาร์กติกาใหญ่นั้น กลับมีน้ำแข็งปกคลุม จึงเชื่อว่า แอนตาร์กติกาเล็กคือที่ตั้งของแอตแลนติส[2]

คำบอกเล่าของนักบวชอียิปต์ ได้กล่าวถึงร่องรอยของแอตแลนติส ไว้ 16 ประการ แต่ย่อได้ 5 ประการ ดังนี้

  1. ตั้งอยู่ในที่ราบใหญ่
  2. อยู่ใกล้มหาสมุทร
  3. อยู่กึ่งกลางระหว่างระยะทางที่ไกลที่สุดระหว่างทวีป
  4. มุ่งตรงไปยังเกาะ
  5. ล้อมรอบด้วยภูเขา

ซึ่งบริเวณแอนตาร์กติกาเล็ก เมื่อ 12,000 ปีก่อน มีที่ราบถ้าลากจากกึ่งกลางทวีป ไปยังเกาะ จะเป็นเส้นที่ยาวที่สุด มีภูเขาอยู่อีกด้านของแอนตาร์กติกาเล็ก ดังนั้น แอตแลนติสจะต้องอยู่ระหว่างแอนตาร์กติกาเล็กกับเกาะๆ นั้น ซึ่งอยู่ระหว่างแหลมกู๊ดโฮกับแหลมแอนตาร์กติก[2]

บ้างก็เชื่อว่าแอตแลนติส คือ Richat Structure หรือดวงตาของแอฟริกาซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 กิโลเมตรหรือ 25ไมล์ ในบริเวณนั้นยังพบหินมากมาย เช่น หินภูเขาไฟ หินอัคนีแทรกซ้อน หินคาร์บอเนไทต์ และหินคิมเบอร์ไลต์

เพลโตยังกล่าวไว้อีกว่าแอตแลนติสจมลงใต้น้ำในเพียงเวลาแค่วันเดียว และเมื่อหลายคนศึกษาก็พบว่า Richat structure อาจเป็นแอตแลนติส ดินแดนที่สาบสูญด้วยเหตุผลที่ว่าลักษณะของโครงสร้างเป็นวงกลมมีทั้งชั้นนอกและชั้นในเหมือนที่เพลโตกล่าว และยังพบว่าบริเวณนั้นใกล้น้ำที่สุด มีเขาล้อมรอบและบริเวณวงกลมชั้นในดูเหมือนมีสิ่งก่อสร้างตั้งอยู่ บริเวณนั้นเป็นที่สนใจอย่างมากแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบริเวณนั้นไม่สามารถทำการขุดได้ อีกปัจจัยที่ทำให้หลายคนปักใจเชื่อว่าบริเวณนั้นคือแอตแลนติสก็เพราะว่าในเวลาที่ผ่านมาหลายๆอารยธรรรมและสิ่งปลูกสร้างถูกค้นพบในทะเลทรายและอาจจะเป็นไปได้ที่แอตแลนติสอาจจะเป็นหนึ่งในนั้น

อ้างอิง[แก้]

  1. พลาโต้ (Plato) ปรัชญาโลกตะวันตก
  2. 2.0 2.1 2.2 วิจักรขณา (นามปากกา). แอตแลนติส: ดินแดนที่สาบสูญ. กรุงเทพฯ: รหัส, 2542