ทวิพฤกษาแห่งวาลินอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นปกรณัมของ เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน ทวิพฤกษาแห่งวาลินอร์ (Two Trees of Valinor) เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นโดยเทพียาวันนา ได้แก่ เทลเพริออน (Telperion) และ เลาเรลิน (Laurelin) อันเป็นพฤกษาเงินและทองซึ่งนำแสงสว่างมาสู่ดินแดนของ วาลาร์ ในโบราณกาล พวกมันถูกทำลายโดย เมลคอร์ และ อุงโกเลียนท์ แต่วาลาร์นำดอกไม้และผลสุดท้ายของพวกมันไปสร้างเป็น ดวงจันทร์ และ ดวงอาทิตย์

การสร้างสรรค์และการทำลาย[แก้]

แหล่งกำเนิดแสงสว่างแรกสำหรับอาร์ดาทั้งหมดเป็นตะเกียงอันยิ่งใหญ่สองดวงคือ 'อิลลูอิน' ดวงสีเงินทางเหนือ กับ'ออร์มัล' ดวงสีทองทางใต้ ตะเกียงทั้งสองถูกทำลายลงโดยเมลคอร์ หลังจากนั้นวาลาร์ได้ย้ายที่อยู่มายังวาลินอร์ และเทพียาวันนาได้ร้องเพลงเพื่อสร้างทวิพฤกษา คือ เทลเพริออน พฤกษาเงินและ เลาเรลิน พฤกษาทอง โดยที่เทลเพริออนสื่อความหมายถึงผู้ชายและเลาเรลินหมายถึงผู้หญิง ต้นไม้ทั้งสองตั้งอยู่บนเนินเขา เอเซลโลฮาร์ นอกเขตวาลิมาร์ พวกมันเติบโตขึ้นต่อหน้าวาลาร์ทั้งหมด และได้รับน้ำจากน้ำตาของเทพีนิเอนนา

พฤกษาแต่ละต้นล้วนเป็นแหล่งกำเนิดแสงสว่าง คือ แสงสีเงินแห่งเทลเพริออน และแสงสีทองแห่งเลาเรลิน เทลเพริออนมีใบสีเข้ม (สีเงินอยู่บนด้านหนึ่ง) และน้ำค้างสีเงินของเขาถูกเก็บเป็นแหล่งของน้ำและแสงสว่าง เลาเรลินมีใบสีอ่อนประดับไปด้วยสีทอง และน้ำค้างของเธอก็ถูกเก็บไว้เช่นเดียวกันโดยเทพีวาร์ดา

หนึ่ง "วัน" ในยุคนั้นมีสิบสองชั่วโมง ต้นไม้แต่ละต้นจะผลัดกันเปล่งแสงสว่างเป็นเวลาเจ็ดชั่วโมง (เพิ่มแสงจนสว่างสุดแล้วจางลงช้า ๆ อีกครั้ง) โดยมีช่วงคาบเกี่ยวกันตอนหนึ่งชั่วโมงของ "ยามเช้าตรู่" และ "ยามโพล้เพล้" จะมีแสงอ่อน ๆ ของทั้งพฤกษาทองและเงินเปล่งออกมาพร้อมกัน

เมลคอร์ผู้ริษยาได้ขอความช่วยเหลือจากสัตว์ประหลาดแมงมุมยักษ์ อุงโกเลียนท์ (แมงมุมยักษ์ตัวแรกและเป็นบรรพบุรุษของ ชีล็อบ) เพื่อทำลายทวิพฤกษา ด้วยการสร้างเมฆหมอกแห่งความมืดปกคลุมตัวไว้ เมลคอร์โจมตีต้นไม้แต่ละต้นและอุงโกเลียนท์จอมละโมบได้ตะกรามกินชีวิตและแสงสว่างที่อยู่ในทวิพฤกษานั้น

ยาวันนาได้ร้องเพลงอีกครั้งและนิเอนนาร่ำไห้ แต่พวกเธอกลับทำได้เพียงชุบชีวิตดอกไม้ดอกสุดท้ายของเทลเพริออน (ต่อมากลายเป็น ดวงจันทร์) และผลสุดท้ายของเลาเรลิน (ต่อมากลายเป็น ดวงอาทิตย์) พวกมันถูกมอบหมายให้กับเทพไมอาร์สององค์ คือ เทพทิลิออน เป็นผู้ขับเคลื่อนเกาะแห่งดวงจันทร์ และ เทพีอาริเอน เป็นผู้บังคับนาวาแห่งดวงตะวัน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม ใน ลอร์ดออฟเดอะริงส์ จึงมักเรียกดวงอาทิตย์ว่า "เธอ" และเรียกดวงจันทร์ว่า "เขา"

อย่างไรก็ตามแสงอันบริสุทธิ์ของทวิพฤกษาก่อนที่จะถูกทำลายโดยอุงโกเลียนท์ กล่าวกันว่าถูกเก็บไว้ในซิลมาริลสามดวงเท่านั้น

ผู้สืบทอดของเทลเพริออน[แก้]

เนื่องจากเอลฟ์ผู้มายังวาลินอร์รักใคร่นิยมเทลเพริออนเป็นพิเศษ เทพียาวันนาจึงได้สร้างพฤกษาอีกต้นหนึ่งที่เหมือนกันมอบให้ตั้งอยู่ในนครทิริออน ซึ่งชาววันยาร์ และชาวโนลดอร์อาศัยอยู่ด้วยกันในช่วงแรกๆ ต้นไม้นี้มีชื่อว่า กาลาธิลิออน มีลักษณะเหมือนกันกับเทลเพริออนทุกประการ เพียงแต่ไม่สามารถส่องแสงสว่างออกมาเท่านั้น มันแตกหน่อออกต้นอ่อนใหม่มากมาย หนึ่งในนั้นถูกเรียกว่า เคเลบอร์น และนำไปปลูกอยู่บนเกาะโทลเอเรสเซอา

ในยุคที่สอง ต้นอ่อนของเคเลบอร์นต้นหนึ่งถูกนำไปมอบเป็นของขวัญให้แก่ชาวนูเมนอร์ นั่นคือ นิมล็อธ พฤกษาขาวแห่งนูเมนอร์ มันคงอยู่ตลอดช่วงเวลาของอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ แต่เมื่อเซารอนเข้าควบคุมเกาะ เขาได้ล่อลวงให้กษัตริย์อาร์-ฟาราโซนโค่นมันลง

โชคดีที่อิซิลดูร์ ได้ลักลอบเก็บผลหนึ่งของต้นไม้นั้นมาไว้ ผลดังกล่าวกลายเป็น พฤกษาขาว แห่ง กอนดอร์ ในเวลาต่อมา

ผู้สืบทอดของเลาเรลิน[แก้]

ไม่มีการกล่าวถึงต้นไม้ที่สร้างขึ้นให้เหมือนกับเลาเรลิน ไม่เหมือนกับเทลเพริออนซึ่งมีที่สร้างขึ้นมากมาย ด้วยเหตุว่าเทลเพริออนเป็นที่ชื่นชอบของพวกเอลฟ์มากกว่า อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ทัวร์กอนได้สร้างแบบจำลองของเลาเรลินขึ้นเรียกว่า กลิงกัล ซึ่งหมายถึง 'โคมอัคคี' ประดับไว้ในนครกอนโดลินของชาวโนลดอร์พลัดถิ่น

นัยสำคัญในเรื่อง[แก้]

ทวิพฤกษาแห่งวาลินอร์มีชีวิตอยู่ในยุคที่มีแหล่งกำเนิดแสงอื่นคือดวงดาวเท่านั้น (ซึ่งเทพีวาร์ดาสร้างขึ้นจากน้ำค้างที่เก็บจากต้นไม้ทั้งสอง เพื่อประโยชน์แก่พวกเอลฟ์) เมื่อทูตเอลฟ์ทั้งสามคนถูกพามาชมวาลินอร์เพื่อที่จะชักจูงเหล่าเอลฟ์ให้ยอมเดินทางมายังวาลินอร์ ดูเหมือนว่าทวิพฤกษาจะประทับใจพวกเขามากที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกษัตริย์ธิงโกล ได้ถูกกล่าวถึงว่าเขากระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมการอพยพครั้งใหญ่ (The Great Journey) เนื่องจากปรารถนาจะได้เห็นแสงแห่งวาลินอร์อีกครั้ง (จนกระทั่งเขาได้พบแสงอันปรารถนานั้นในดวงหน้าของเทพีเมลิอัน) ในเวลาต่อมา พวกเอลฟ์ได้แบ่งออกเป็น คาลาเควนดิ คือ ผู้ที่เคยเห็นแสงแห่งพฤกษา กับ มอริเควนดิ คือผู้ที่ไม่เคยเห็น โดยกลุ่มที่เคยเห็นแสงแห่งพฤกษากลายเป็นกลุ่มที่มีความเหนือกว่าในหลายๆ แง่

ประวัติศาสตร์ทั้งหมดของยุคแรก ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากความปรารถนาของตัวละครต่าง ๆ มากมายเพื่อเป็นเจ้าของ ซิลมาริล ที่เก็บแสงบริสุทธิ์ที่เหลืออยู่ของทวิพฤกษาไว้

ในยุคที่สอง และยุคที่สาม พฤกษาขาวแห่งนูเมนอร์และกอนดอร์ ซึ่งกำเนิดสืบทอดมาจากเทลเพริออน มีนัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์คือ เป็นทั้งสัญลักษณ์ของราชอาณาจักร และเป็นสิ่งระลึกถึงสัมพันธภาพที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษระหว่างชาวดูเนไดน์ และพวกเอลฟ์ ความสัมพันธ์นี้อาจลึกกว่านั้น เนื่องจากการทำลายหนึ่งในต้นไม้เหล่านี้ได้สร้างปัญหาแก่อาณาจักรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหมายความถึงพันธะลึกลับที่แข็งแกร่งกว่านั้น

นัยสำคัญภายนอก[แก้]

แสงสว่างโดยหลักการนั้นเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ โทลคีน ผู้เป็นชาวโรมันคาทอลิก น่าจะเปิดเผยนัยสำคัญของแสงสว่างในเชิงความหมายในศาสนาคริสต์ ต้นไม้ยังมีความสำคัญเป็นพิเศษต่อโทลคีน ดังจะเห็นได้จากเรื่องสั้นของเขา คือ "Tree and Leaf" ซึ่งเป็นนิทานเปรียบเทียบอันประณีตที่อธิบายกระบวนการสร้างสรรค์ของเขาเอง คือ นิกเกิล ตัวเอกในเรื่อง ได้ใช้ชีวิตทั้งชีวิตไปกับการทาสีต้นไม้ต้นหนึ่ง

พฤกษาเป็นการปรากฏอีกรูปแบบหนึ่งตามหลักการ 'ทองและเงิน' ที่แสดงไว้ในรูปแบบตำนาน พวกมันถูกสร้างขึ้นตามอย่างตะเกียงออร์มัลกับอิลลูอิน และยังเป็นที่มาของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่ถูกสร้างขึ้นภายหลัง

ชื่ออื่น ๆ[แก้]

ทั้งเทลเพริออนและเลาเรลินมีชื่อเรียกหลายชื่อดังปรากฏต่อไปนี้: เทลเพริออนยังมีชื่อว่า ซิลพิออน (Silpion) และ นิงเควโลเท (Ninquelótë) ในขณะที่เลาเรลินมีชื่อเรียกอื่นอีกว่า มาลินัลดา (Malinalda) และ คูลูริเอน (Culúrien)

ในงานเขียนแรก ๆ ของโทลคีน (ดูที่: ประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ) ชื่อของเทลเพริออนได้แก่ ซิลพิออน (Silpion), บันซิล (Bansil) และ เบลธิล (Belthil)

อ้างอิง[แก้]

  • แพทริก เคอร์รี่, "Two Trees" จาก: J. R. R. Tolkien Encyclopedia (2006), ISBN 978-0-415-96942-0 .
  • แมทธิว ดิกเคอร์สัน, "Trees" จาก: J. R. R. Tolkien Encyclopedia (2006), ISBN 978-0-415-96942-0 .
  • อเล็กซานดรา โบลินทิเนียนู, "Astronomy and Cosmology, Middle-earth" จาก: J. R. R. Tolkien Encyclopedia (2006).