ตุ๊กตาจ๋า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตุ๊กตาจ๋า
กำกับรัตน์ เปสตันยี
เขียนบทรัตน์ เปสตันยี
บทภาพยนตร์รัตน์ เปสตันยี
เนื้อเรื่องรัตน์ เปสตันยี
อำนวยการสร้างรัตน์ เปสตันยี
นักแสดงนำอรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา
สมพงษ์ พงษ์มิตร
ธร ประทีบเสน
กำกับภาพรัตน์ เปสตันยี
ตัดต่อรัตน์ เปสตันยี
ผู้จัดจำหน่ายอัศวินภาพยนตร์
วันฉายพ.ศ. 2491
ความยาว76 นาที
ประเทศไทย
ภาษาไทย

ตุ๊กตาจ๋า เป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2491[1] ในรูปแบบฟิล์ม 16 มม. สี เป็นเรื่องแรกที่ รัตน์ เปสตันยี [2] อำนวยการสร้าง, กำกับการแสดง, เขียนบท, กำกับภาพ สร้างโดยบริษัทอัศวินภาพยนตร์ ผู้ช่วยถ่ายภาพโดย ปง อัศวินิกุล ซึ่งเมื่อออกฉายได้การตอบรับที่ดี และมีส่วนผลักดันให้รัตน์ เปสตันยี สนใจที่จะทำหนังอย่างจริงจัง

ก่อนที่จะได้รับการชักชวนจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ให้มาเป็นช่างถ่ายภาพภาพยนตร์ 16 มม. เรื่อง พันท้ายนรสิงห์ ที่กำกับโดย มารุต มาก่อน หลังจากนั้นรัตน์ก็เริ่มต้นทำหนังเรื่องแรกของตัวเอง ซึ่งรับหน้าที่ทั้งกำกับการแสดง เขียนบทและกำกับภาพโดยภาพยนตร์เรื่องนี้มีผู้ช่วยถ่ายภาพโดย ปง อัศวินิกุล โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้บริเวณบ้านที่ถนนวิทยุ เป็นสถานที่ในการถ่ายทำ เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี[3] เป็นเหตุให้คุณรัตน์ ตั้งโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐาน 35 มม. ในนามบริษัทหนุมานภาพยนตร์ ซึ่งสั่งเครื่องมือจากฮอลลีวู้ดทั้งหมด [4]

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการแสดงเรื่องแรกของ อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นนักแสดง นักร้อง และนาฎศิลปิน ที่มีผลงานทางภาพยนตร์และโทรทัศน์ มากมายจนถึงปัจจุบัน

เรื่องย่อ[แก้]

ตุ๊กตา เด็กหญิงวัยเบเบาะถูกอุดมผู้เป็นญาติลักพาตัวเนื่องจากมีความคับแค้นต่อพ่อของตุ๊กตา ถูกนำไปฝากไว้กับละม้าย น้าสาวที่ไม่ถูกกับพ่อที่เมืองกาญจน์แต่ละม้ายไม่ยอมให้ความร่วมมือจึงถูกอุดมฆ่าตาย ก่อนที่จะหนีไปทิ้งตุ๊กตาข้างๆ ศพของละม้าย แล้วเขียนจดหมายอำพรางคดี ซึ่งระบุชื่อของตุ๊กตาไว้ด้วย ระหว่างนั้น ธรกับโจ้ สองโจรกระจอกเข้ามาพบกับตุ๊กตาและด้วยความสงสารจึงนำไปเลี้ยงที่บ้าน ทั้งคู่ให้ความรักเหมือนลูกในไส้ จนกระทั่ง 10 ปีผ่านไป ตุ๊กตาเติบโตขึ้น โดยคิดว่าโจ้และธรเป็นพ่อที่แท้จริง วันหนึ่งขณะที่ธรกับโจ้กำลังลักเล็กขโมยน้อยอยู่ตามปกตินั้นก็ได้พบกับไพริน หญิงสาวผู้เลอโฉมความงามของเธอทำให้ธรซึ่งมีรูปร่างอัปลักษณ์อดหลงรักไม่ได้แต่ธรเข้าใจว่าไพรินมีความหยิ่งยโสจึงคิดแก้แค้นด้วยการเข้าไปขโมยของในบ้านของไพรินและเขาได้รับรู้ว่าไพรินนั้นตาบอดและที่สำคัญไพรินคือพี่สาวแท้ๆ ของตุ๊กตาที่เพิ่งย้ายตามคุณนายมณี ผู้เป็นมารดามาอยู่ที่เมืองกาญจน์

ธรเล่าเรื่องทั้งหมดให้โจ้ฟังแล้วสำทับให้โจ้เก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับแต่ด้วยความรักที่มีต่อไพรินจึงออกอุบายว่าเป็นเศรษฐีค้าหนังสัตว์และได้พาโจ้กับตุ๊กตาไปทำควมรู้จักกับคุณนายมณี ความน่ารักของตุ๊กตาทำให้ทั้งสามกลายเป็นแขกคนสำคัญของคุณนาย ธรคิดจะสู่ขอไพรินตามคำแนะนำของโจ้ เพื่อความฝันของตัวเองและเพื่ออนาคตที่ดีของโจ้และตุ๊กตา แต่ไม่ทันได้ทำตามความประสงค์ก็ต้องพบว่าไพรินมีคู่หมั้นแล้วและกำลังจะแต่งงาน ธรผิดหวังมากจึงคิดว่าความอัปลักษณ์ของตนเองเป็นเหตุให้ไพรินไม่รัก แต่โชคร้ายไม่หมดเพียงแค่นั้นเมื่อธรได้พบกับอุดมซึ่งกลับมาที่เมืองกาญจน์อีกครั้ง อุดม หวังที่จะนำตุ๊กตาไปเรียกค่าไถ่กับคุณนายมณี จึงข่มขู่และนัดเวลาให้ธรมอบตุ๊กตาให้ ธรเกรงว่าตุ๊กตาจะตกอยู่ในอันตรายจึงให้โจ้พาตุ๊กตาไปคืนคุณนายมณีพร้อมเล่าความจริงให้ฟัง เมื่ออุดมมาตามเวลานัด ไม่พบตุ๊กตาจึงโมโหมาก ทั้งสองต่อสู้กัน ธรฆ่าอุดมตาย แต่เขาก็ได้รับบาดเจ็บจากปืนของอุดมและตายในเวลาต่อมา ตุ๊กตากลับไปอยู่กับแม่และพี่สาวอย่างปลอดภัย ส่วนโจ้แม้ว่าคุณความดีจะเปิดโอกาสให้มีชีวิตที่ดีกว่า แต่เขาเลือกที่จะอยู่ในกระท่อมเล็กๆ หลังเดิม อยู่เป็นเพื่อนดวงวิญญาณธรเพื่อนรักที่จากไป [5]

อ้างอิง[แก้]

  1. Chaiworaporn, Anchalee (2004). "The Man Who Died for his Art". ThaiCinema.org. สืบค้นเมื่อ August 3, 2007.
  2. รัตน์ เปสตันยี รัตนะแห่งหนังไทย เก็บถาวร 2012-10-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 10 ก.ค. 2547 โดย มูลนิธิหนังไทย
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-29. สืบค้นเมื่อ 2011-04-25.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-03. สืบค้นเมื่อ 2012-06-29.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-03-14.