แจ็กโอแลนเทิร์น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ตะเกียงฟักทอง)
ตะเกียงฟักทอง

ตะเกียงฟักทอง หรือ แจ็กโอแลนเทิร์น (อังกฤษ: jack o'lantern, jack-o'-lantern) เป็นอุปกรณ์ประดับตกแต่งสถานที่ซึ่งนิยมใช้ในเทศกาลฮาโลวีน มีลักษณะเป็นผลฟักทองสีส้ม (ไม่นิยมใช้ฟักทองเอเชีย) แกะสลักเป็นรูปหน้าคนในกริยาต่างๆ โดยมากมักเป็นกริยาแสดงอาการข่มขวัญ หรือโอดครวญ ทั้งนี้ การใช้ตะเกียงฟักทอง เป็นการระลึกถึงแจ็ก ชายชาวนาในตำนานที่หาญกล้าต่อกรกับซาตาน

ตำนาน[แก้]

ประวัติและที่มา[แก้]

เรื่องของแจ็กมีการเล่าในตำนานหลายรูปแบบ

ตำนานตะเกียงฟักทองนั้น เป็นเรื่องเล่าโบราณเรื่องหนึ่งของไอร์แลนด์ ซึ่งกล่าวถึงที่มาของชายชาวนาจอมเจ้าเล่ห์ชื่อ แจ็ก ในสมัยของเขา ซาตานจะออกตระเวนขอพืชผลจากชาวบ้าน ซึ่งไม่มีบ้านไหนที่กล้าปฏิเสธ เพราะกลัวต้องคำสาปของซาตานนั่นเอง แต่การขู่เข็ญของซาตานใช้กับแจ็กไม่ได้ เขาไม่กลัวและไม่เคยหยิบยื่นอะไรให้ซาตานเลย วันหนึ่งซาตานจึงแอบมาสำแดงตนให้แจ็กเห็น หวังจะให้เขาเปลี่ยนใจหันมาเกรงกลัวซาตาน แต่เหตุการณ์กลับเป็นตรงข้าม แจ็กใช้อุบายหลอกล่อจนซาตานติดกับดัก หนีไปไหนไม่ได้ แจ็กไม่ยอมปล่อยซาตานจนกว่ามันจะรับปากว่า เมื่อเขาตายแล้วจะไม่นำวิญญาณเขาลงนรกเด็ดขาด ซาตานไม่มีทางเลือกจึงต้องรับปาก

เมื่อแจ็กเสียชีวิตลงด้วยความเป็นคนชั่วเขาจึงไม่ได้ไปสวรรค์ วิญญาณเขาล่องลอยไปยังปากทางนรก และพบกับซาตานคู่อริเก่าอีกครั้ง ตามสัญญาที่ให้ไว้ ซาตานปล่อยวิญญาณของแจ็กไป พร้อมแสงไฟส่องนำทางให้กับวิญญาณแจ็กที่ต้องเร่ร่อน ไม่มีที่ไปอย่างนั้นตลอดกาล ทุกคืนฮาโลวีนวิญญาณของแจ็กจะระหกระเหินไปในความมืด พร้อมแสงไฟส่องที่ครอบด้วยหัวผักกาด ต่อมาเมื่อตำนานนี้เข้ามาในอเมริกา ก็มีการเปลี่ยนมาใช้ผลฟักทองแทนจนทุกวันนี้

ตำนานอื่นมีการเล่าว่า แจ็กเป็นคนขี้เกียจและนิสัยไม่ดี พอไปลงนรกแต่นรกไม่ต้องการตัวจึงส่งกลับมาในโลกให้อยู่ในร่างของฟักทอง

ความเชื่อในวันฮาโลวีน[แก้]

สาเหตุที่จัดฮาโลวีนในวันที่ 31 ตุลาคม[แก้]

เป็นความเชื่อของชาวเซ็ลต์ (Celt) เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองในประเทศอังกฤษ โดยเชื่อว่าทุกวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี จะเป็นวันที่ประตูนรก (โดยเชื่อกันว่าจะถูกเปิดขึ้นมาใน 6 โมงเย็น 6 นาที 6 วินาที ซึ่งถึงแม้จะเป็นแค่วินาทีเดียวแต่ประตูนรกจะใหญ่เท่ากับ 1 เมือง) บรรจบกับมิติโลกมนุษย์กันอย่างพอดี ทำให้เหล่าวิญญาณพยายามหาทางเข้าสิงมนุษย์ ซึ่งวิธีการแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้วิญญาณเข้าสิงคือ "การปลอมตัว" ทำตัวเป็นผีเสียเอง ด้วยการตกแต่งต่างๆ นานาให้ดูน่ากลัวที่สุด[1] จึงทำให้คนจะต้องหาทางแก้ไขด้วยการปิดไฟในบ้านทุกดวง ให้บ้านมืดมิด ร่วมกับอากาศที่หนาวซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาของบรรดาผีร้าย อีกทั้งยังมีบางส่วนจะแต่งตัวเป็นผีต่างๆ เพื่อกลบเกลือนวิญญาณว่าไม่ใช่คนเป็นนั้นเอง[2]

ประเพณีในวันฮาโลวีน[แก้]

ทริกออร์ทรีต[แก้]

เด็กจะแต่งชุดตระเวนไปตามบ้านขอเลี้ยง เช่น ลูกกวาด (หรือเงินในบางวัฒนธรรม) ด้วยวลี "ทริกออร์ทรีต" "ทริก" เป็นการขู่กระทำปัญหาแก่เจ้าบ้านหรือทรัพย์สินของเขาหากไม่เลี้ยงเขา (แต่โดยปกติมักนิ่งเฉย) มีขึ้นในเย็นวันที่ 31 ตุลาคม เจ้าบ้านบางคนส่งสัญญาณว่าตนเต็มใจเลี้ยงขนม ตัวอย่างเช่น ประดับเครื่องตกแต่งฮาโลวีนไว้นอกบ้าน บางคนอาจทิ้งขนมไว้ที่ชานบ้าน

การใช้ฟักทอง[แก้]

การใช้ฟักทองเนื่องจากหาง่ายกว่าผักกาด ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และผลใหญ่ เหมาะที่จะนำมาแกะสลักมากกว่าผักกาด อีกทั้งมีสีสันสวยงามกว่าผักกาด (อนึ่งยังมีความเชื่อว่าเมื่อแกะสลักให้ดูน่ากลัวแล้วควรนำไปแขวนหรือวางไว้ที่หน้าต่างหรือประตู จะสามารถปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายได้) ส่วนชาวไอริชมักนิยมแกะสลักหัวผักกาดเทอนิพ และใส่ไฟในบริเวณด้านใน ซึ่งเป็นการแสดงสัญลักษณ์ของวันฮาโลวีน เพื่อระลึกถึง 'การหยุดยั้งความชั่ว' เพื่อส่งผลบุญให้กับญาติผู้ล่วงลับ และพิธีทางศาสนาเพื่อทำบุญวันปีใหม่[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประวัติวันฮาโลวีน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2014-10-27.
  2. "วันฮาโลวีน เทศกาลฮาโลวีน 31 ตุลาคม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-04. สืบค้นเมื่อ 2014-10-27.
  3. ตำนานของฟักทองแกะสลัก

ข้อมูลเพิ่มเติม[แก้]