ตระกูลหวั่งหลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หวั่งหลี
ตระกูลบรรพบุรุษแซ่ตั้ง
ประเทศประเทศไทย
ถิ่นพำนักปัจจุบันกรุงเทพมหานคร
นิรุกติศาสตร์หฺวั่ง-หฺลี
ภาษาแต้จิ๋ว: 黌 (หวั่ง)+利 (หลี)
"โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ"
ถิ่นกำเนิดหมู่บ้านโจ่ยโคย ตำบลซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน
ต้นตระกูลตันฉื่อฮ้วง แซ่ตั้ง
สถานที่พำนักในอดีตบ้านหวั่งหลี
ตระกูลที่เกี่ยวข้องตระกูลล่ำซำ
ทรัพย์สินล้ง 1919
หวั่งหลี
พูนผล
พูลพิพัฒน์
ชัยทิพย์
ซิโน พอร์ท
ธนาคารนครธน (อดีต)
นวกิจประกันภัย

ตระกูลหวั่งหลี เป็นตระกูลนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนจากซัวเถา ประเทศจีนเริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่ธุรกิจผลิตวุ้นเส้น การค้าฝ้าย ค้าปอ เรื่อยมาจนถึงธุรกิจตลาดสด มายังธุรกิจศูนย์การค้าและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งธุรกิจประกันภัย ธนาคาร ฯลฯ ก่อตั้งบริษัทอย่างนวกิจประกันภัย พูนผล พูลพิพัฒน์ ฯลฯ

ประวัติ[แก้]

บ้านหวั่งหลี
ล้ง 1919

ต้นตระกูลคือ ตันฉื่อฮ้วง แซ่ตั้ง เป็นพ่อค้าที่ล่องเรือไปมาระหว่างซัวเถากับกรุงเทพ เพื่อนำข้าวไทยไปค้าขายในที่อื่น พร้อมทั้งนำผ้าไหมจากจีนกลับมาขายในไทย เมื่ออายุ 27 ปี จึงได้ตัดสินใจตั้งรกรากที่ไทย เมื่อ พ.ศ. 2414 อันเป็นปีที่ 3 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตันฉื่อฮ้วง มีภรรยาอยู่ที่เมืองจีนแล้วหนึ่งคน และมีภรรยาชาวไทยนามว่า หนู ตระกูลโปษยานนท์ มีลูกด้วยกัน 4 คน เป็นชาย 2 หญิง 2 หลังจากตันฉื่อฮ้วงสร้างบ้านหวั่งหลี ขยายธุรกิจค้าข้าวจนเจริญรุ่งเรือง และได้ริเริ่มกิจการโรงสีขึ้นอีก 2 โรง จน พ.ศ. 2447 ตันฉื่อฮ้วง ตัดสินใจเดินทางกลับไปใช้ชีวิตกับภรรยาชาวจีนที่หมู่บ้านโจ่ยโคย ตำบลซัวเถา โดยให้บุตรชาย ตันลิบบ๊วย มาเป็นผู้สานต่อกิจการแทน

ตันลิบบ๊วยได้ขยายกิจการทำท่าเรือและโกดังเก็บสินค้า พร้อมกับตั้งบริษัทหวั่งหลีขึ้น มีการตั้งฝ่ายการเงิน เพื่อความคล่องตัวในด้านการแลกเปลี่ยนเงินในกิจการของบริษัท และตั้งแผนกประกันเรือรวมทั้งสินค้า เพื่อป้องกันความเสียหายในการเดินเรือบรรทุกสินค้า หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้ตั้งห้างฮ่วงหลีจั่น เพื่อทำหน้าที่แลกเปลี่ยนและส่งเงินตราต่างประเทศ ภายหลังห้างฮ่วงหลีจั่นต่อมาได้กลายเป็นบริษัทธนาคารหวั่งหลีจั่น และธนาคารหวั่งหลี ตามลำดับ ก่อนที่จะเป็นธนาคารนครธนซึ่งได้ร่วมธุรกิจกับธนาคารซิตี้แบงก์ ก่อนที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจะมาร่วมกิจการในระยะหลัง ส่วนแผนกประกันภัยได้เปลี่ยนเป็นบริษัท หล่วงหลีประกันภัย และเป็นบริษัท นวกิจประกันภัย ในปัจจุบัน[1]

รุ่นที่ 3 บุตรชายของตันลิบบ๊วย ที่ชื่อ ตันซิวเม้ง เข้ามาทำธุรกิจให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมพาณิชย์จีนในประเทศไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนจะเสียชีวิตจากเหตุลอบสังหาร ทำให้ตันซิวติ่งต้องเข้ามาพัฒนากิจการ ในขณะเดียวกันที่ทองพูล ผู้เป็นภรรยา ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจหญิง เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทพูนผล บริษัทพูลพิพัฒน์ ฯลฯ รวมถึงขยายธุรกิจไปสู่การผลิตวุ้นเส้น โกดังสินค้า การค้าฝ้าย ค้าปอ การจัดการตลาด และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ[2] และบริการบริหารจัดการศูนย์การค้าต่าง ๆ

พ.ศ. 2531 วุฒิชัย หวั่งหลี รุ่นที่ 4 ตัดสินใจนำกิจการค้าข้าวออกจาก ธุรกิจกงสีของตระกูลมาบริหารจัดการด้วยตนเอง ตั้งเป็นบริษัท ชัยทิพย์ จำกัด ทำการตลาดตราสินค้าพนมรุ้งสำหรับตลาดในประเทศ และตรา Qing Ling Zhi สำหรับตลาดฮ่องกง[3]

บริษัท ซิโน พอร์ท จำกัด ซึ่งมี บริษัท หวั่งหลี จำกัด ถือหุ้น 30% และอีก 70% เป็นการถือในนามบุคคลของลูกหลานตระกูลหวั่งหลีเฉพาะกลุ่มที่ยังคงอาศัยอยู่ในประเทศไทยและผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ ได้บูรณะล้ง 1919 แต่เดิมคือ ฮวยจุ่งล้ง ที่ดินตกทอดในตระกูลของพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ต้นตระกูลพิศาลบุตร จนกระทั่งตันลิบบ๊วย รุ่น 2 ของตระกูลหวั่งหลีซึ่งมีบ้านในที่ดินติดกันได้ซื้อที่ดินมาเมื่อ พ.ศ. 2462[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เรื่องเล่า…เจ้าสัว "หวั่งหลี" การค้าจีน-ไทย 150 ปีก่อน". ประชาชาติธุรกิจ.
  2. สุวิชา พุทซาคำ. "บ้านหวั่งหลี". เดอะคลาวด์.
  3. ""วุฒิพล หวั่งหลี" ผู้พลิกฟื้นและสานต่ออาณาจักรค้าข้าว ระดับท็อปของประเทศ". ทิสโก้.
  4. พัฐรัศมิ์ ว่องไชยกุล. "ตระกูล 'หวั่งหลี' ชุบชีวิต 'ล้ง 1919' ตำนานท่าเรือกลไฟ 167 ปีแห่งคลองสาน". ฟอบส์ประเทศไทย.