ดาวรอบขั้วท้องฟ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพถ่ายดาวที่หมุนรอบขั้วฟ้าเหนือ
ดาวค้างฟ้าจะดูเหมือนหมุนไปรอบขั้วท้องฟ้าโดยไม่ตกลับขอบฟ้า

ดาวรอบขั้วท้องฟ้า (circumpolar star) คือดาวที่อยู่ใกล้กับขั้วท้องฟ้าเหนือ หรือ ขั้วท้องฟ้าใต้ ซึ่งมักจะไม่ตกลงไปอยู่ต่ำกว่าเส้นขอบฟ้าในระหว่างการเคลื่อนที่ในรอบวันจากการหมุนรอบตัวเองของโลก ดังนั้นจึงสามารถมองเห็นบนท้องฟ้ายามค่ำคืนได้ตลอดเวลา ณ จุดนั้น ดาวรอบขั้วท้องฟ้าที่ไม่ตกลับขอบฟ้าเลยจะเรียกว่า ดาวค้างฟ้า สามารถเห็นได้ตลอดทั้งปี หากไม่มีแสงอาทิตย์บดบังในเวลากลางวัน

ดาวค้างฟ้า[แก้]

ดาวดวงไหนบ้างถึงจะเป็นดาวค้างฟ้านั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้สังเกตอยู่ในซีกโลกเหนือหรือซีกโลกใต้และอยู่ที่ละติจูดเท่าใด[1] ความสูงของขั้วท้องฟ้าเหนือหรือใต้จะเท่ากับละติจูดของผู้สังเกตการณ์ หากมุมจากดาวดวงนั้นไปยังขั้วท้องฟ้าเป็นค่าน้อยกว่าละติจูดของผู้สังเกต ดาวดวงนั้นก็จะเป็นดาวค้างฟ้า

ตัวอย่างเช่น หากละติจูดของผู้สังเกตอยู่ที่ 45 องศาเหนือ ดาวที่อยู่ในตำแหน่งภายในไม่เกิน 45 องศาห่างจากขั้วฟ้าเหนือจะเป็นดาวค้างฟ้า และหากผู้สังเกตอยู่ที่ละติจูด 35 องศาใต้ ดาวที่อยู่ห่างจากขั้วท้องฟ้าใต้ภายในรัศมี 35 องศาจะเป็นดาวค้างฟ้า ส่วนดาวที่อยู่บนเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้านั้นจะไม่อาจเป็นดาวค้างฟ้าได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนโลกก็ตาม

หากทราบละติจูดของผู้สังเกตและเดคลิเนชัน δ ของดาว ก็สามารถรู้ได้ว่าเป็นดาวค้างฟ้าหรือไม่

ดาวบนซีกท้องฟ้าเหนือสำหรับผู้สังเกตการณ์ในซีกโลกเหนือ ให้คำนวณ 90° - δ

ตัวอย่างเช่น ดาวอัลฟาหมีใหญ่ มีเดคลิเนชัน +61°45' จะเป็นดาวค้างฟ้าเมื่ออยู่ที่ละติจูดเหนือ 28°15' N ขึ้นไป

ดาวบนซีกท้องฟ้าใต้สำหรับผู้สังเกตการณ์ในซีกโลกใต้ ให้คำนวณ 90° + δ

ตัวอย่างเช่น อัลฟาคนครึ่งม้า มีเดคลิเนชันที่ -60°50' และเป็นดาวค้างฟ้าสำหรับผู้สังเกตการณ์ที่ละติจูดใต้ 29°10' S ลงมา

อ้างอิง[แก้]

  1. Norton, A.P. "Norton's 2000.0 :Star Atlas and Reference Handbook", Longman Scientific and Technical, (1986) p.39-40