ขั้วท้องฟ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างขั้วท้องฟ้ากับแกนหมุนของโลก ระนาบวงโคจร และความเอียงของแกน
เส้นทางการเคลื่อนย้ายขั้วท้องฟ้าเหนือบนทรงกลมท้องฟ้าโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ขั้วโลกเหนือของระบบพิกัดสุริยวิถีเนื่องจากการเคลื่อนถอยของวิษุวัต

ขั้วท้องฟ้า[1] หรือ ขั้วฟ้า (อังกฤษ: celestial pole) คือจุดที่แกนหมุนของโลกและทรงกลมท้องฟ้าตัดกัน มี 2 จุดคือขั้วท้องฟ้าเหนือ หรือ ขั้วฟ้าเหนือ (north celestial pole) ในซีกฟ้าเหนือ และ ขั้วท้องฟ้าใต้ หรือ ขั้วฟ้าใต้ (south celestial pole) ในซีกฟ้าใต้ ซึ่งยื่นมาจากขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ของแกนโลก ตามลำดับ ขณะที่โลกหมุนรอบตัวเอง วัตถุท้องฟ้าทั้งหมดก็จะดูเหมือนกับว่ากำลังโคจรรอบขั้วท้องฟ้าซึ่งอยู่นิ่ง

ขั้วท้องฟ้ายังเป็นขั้วของระบบพิกัดศูนย์สูตรด้วย โดยมีค่ามุมเดคลิเนชัน +90° ที่ขั้วท้องฟ้าเหนือ และเดคลิเนชัน -90° ที่ขั้วท้องฟ้าใต้ แม้ว่าขั้วท้องฟ้าดูเหมือนจะคงที่ แต่ในความเป็นจริงแล้วมีการเคลื่อนที่เป็นวงกลมเนื่องจากการเคลื่อนถอยของวิษุวัต โดยมีคาบการหมุนเป็น 25,700 ปี ดังนั้นดาวที่อยู่ที่ขั้วท้องฟ้าก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่สิ่งถาวร

แกนโลกยังมีการเคลื่อนที่เนื่องจากสาเหตุอื่น ๆ อีกด้วย จึงทำให้ขั้วท้องฟ้ามีการขยับเขยื้อนเล็กน้อย เช่น การส่าย ความเอียงของแกน เป็นต้น นอกเหนือจากการเคลื่อนที่ที่กล่าวข้างต้นแล้ว ตัววัตถุท้องฟ้าเองก็มีเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่ยาวนานเนื่องมาจากการเคลื่อนที่เฉพาะด้วย

คำว่าขั้วท้องฟ้ายังสามารถนำไปใช้กับดาวเคราะห์ดวงอื่นได้ด้วย โดยใช้แนวคิดเดียวกัน เนื่องจากดาวเคราะห์ในเอกภพมีแกนการหมุนของตัวเองแตกต่างกันไป ขั้วท้องฟ้าจึงอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ที่แตกต่างไปจากโลก และพารัลแลกซ์ก็ยังทำให้ตำแหน่งปรากฏของดาวแตกต่างจากตำแหน่งบนโลกด้วย[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. ศัพท์บัญญัติสำนักงานราชบัณฑิตยสภา
  2. Jim Kaler Professor Emeritus of Astronomy, University of Illinois. "Measuring the sky A quick guide to the Celestial Sphere". สืบค้นเมื่อ 10 March 2014.