ดอน โจวันนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ดอน โจวานนี)
ดาปอนเต้

ดอน โจวันนี (อิตาลี: Don Giovanni, KV 527) เป็นอุปรากรตะวันตกซึ่งประพันธ์บทโดย ลอเร็นโซ ดาปอนเต้ (Lorenzo da Ponte) เป็นภาษาอิตาเลียน และประพันธ์ดนตรีโดย ว็อล์ฟกัง อมาเดอุส โมทซาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) ดอนโจวันนี เป็นอุปรากรตลกที่แฝงไปด้วยความมืดโดยมีทั้งหมดสององก์และเปิดแสดงครั้งแรกที่กรุงปรากใน พ.ศ. 2330

ตัวละคร[แก้]

  • ดอน โจวันนี (Don Giovanni - Bass Baritone หรือ Baritone) หนุ่มชนชั้นสูงผู้เต็มไปด้วยความยโสและเจ้าชู้
  • เลโปเรลโล (Leporello - Bass) หนุ่มรับใช้ของดอน โจวันนี
  • ดอน เปโดร (Don Pedro, il Commendatore - Bass) ทหารระดับสูงผู้มีชื่อเสียง
  • ดอนนา อันนา (Donna Anna - Soprano) ลูกสาวของดอนเปโดร
  • ดอน ออตตาวีโอ (Don Ottavio - Tenor) คู่หมั้นของดอนน่า อันนา
  • ดอนนา เอลวีรา (Donna Elvira - Soprano) หนึ่งในคนรักเก่าของดอน โจวันนี
  • มาเซตโต (Masetto - Bass) หนุ่มพื้นบ้าน
  • แซร์ลีนา (Zerlina - Soprano) คู่หมั้นของมาเซตโต

นอกจากนี้ยังมีชาวนา คนรับใช้ นักดนตรี และหญิงชาวบ้าน ซึ่งเป็นคอรัสในเรื่องอีกด้วย

เนื้อเรื่องย่อ[แก้]

ดอน โจวันนีเป็นอุปรากรที่แต่งจากตำนานของ ดอน ฆวน หนุ่มนักรักชาวสเปน อุปรากรเรื่องนี้กล่าวถึงจุดจบอันน่าสะพรึงกลัวของดอน ฆวน หรือ ดอน โจวันนี ในภาษาอิตาลี ผู้ที่ทำทุกอย่างเพื่อจะได้หญิงสาวที่หมายปองมาเชยชมแม้จะต้องสังหารใครก็ตามที่ขวางทาง

สถานที่: เมืองเซบิยา ประเทศสเปน ในคริสต์ศตวรรษที่ 17

องก์ที่หนึ่ง[แก้]

โจวันนีแอบเข้าไปในบ้านของอันนาเพื่อที่จะลักหลับนาง แต่นางกลับไหวตัวทันเรียกให้คนมาช่วย โจวันนีวิ่งหนีมาพบเปโดรที่สวน เปโดรพยายามที่จะจับตัวโจวันนีแต่โดนโจวันนีสังหารก่อนที่จะหลบหนีไป อันนาและคู่หมั้นของนางจึงสาบานที่จะล้างแค้นให้พ่อของนาง

โจวันนีหนีมาถึงจัตุรัสแห่งหนึ่งและได้เข้าไปเกี้ยวพาราสีกับหญิงที่พบ แต่เมื่อเห็นหน้าจะจัจึงพบว่าเป็นเอลวีราคนรักเก่าที่เพิ่งทิ้งมา เอลวีราพยายามที่จะจัดการกับโจวันนี แต่โจวันนีเอาตัวของเลโปเรลโลมาบังและหลบหนีไป เลโปเรลโลจึงบอกให้นางทำใจเนื่องจากนางเป็นแค่หนึ่งในผู้หญิงนับพันของโจวันนี เอลวีราโกรธมากเมื่อได้ยิน และมุ่งมั่นที่จะชำระแค้นนี้

โจวันนีหนีต่อมาจนถึงงานแต่งงานหนึ่ง เมื่อพบเจ้าสาวโจวันนีก็ได้หมายปองนางจึงบอกจะจัดงานที่ปราสาทให้และให้เลโปเรลโลพามาเซตโตผู้เป็นเจ้าบ่าวพร้อมทั้งคนอื่น ๆ ล่วงหน้าไปที่ปราสาทก่อน เหลือเพียงเจ้าสาวแซร์ลีนาอยู่แต่ผู้เดียว โจวันนีจึงเข้าไปเกี้ยวพาราสีนางโดยออกอุบายต่าง ๆ นานา แต่ทันใดนั้น เอลวีราก็เข้ามาขัดขวางและปรามไม่ให้แซร์ลีนาตกหลุมพรางจองโจวันนี ไม่นานหลังจากนั้นอันนากับออตตาวีโอก็วิ่งตามมาพบกับทั้งสาม โดยที่โจวันนีกำลังพยายามแก้ตัวกับแซร์ลีนาและหาว่านางเอลวีรานั้นสติฟั่นเฟือน พออันนาเริ่มคลับคล้ายคลับคลาว่าโจวันนีอาจจะเป็นผู้ที่สังหารพ่อของเธอโจวันนีก็ไหวตัวทันและก็หลบหนีไป

โจวันนีมาพบกับเลโปเรลโลซึ่งบอกเค้าว่าแซร์ลีนากับเอลวีราเกือบทำให้งานที่ปราสาทล่ม แต่โจวันนีบอกไม่ต้องห่วงและให้จัดงานฉลองอย่างเต็มที่ ระหว่างทางกลับ ดอนไปพบกับแซร์ลีนาและพยายามจะเกี้ยวนางอีกครั้ง แต่มาเซตโตซึ่งแอบอยู่ก็โผล่มา โจวันนีจึงปล่อยนางคืนให้กับเจ้าบ่าว และพาทั้งสองไปยังงานฉลองโดยโจวันนีพยายามที่จะจีบแซร์ลีนาอีกครั้ง แต่ทันใดนั้น อันนา เอลวีรา และออตตาวีโอก็โผล่เข้ามาเพื่อที่จะจัดการกับโจวันนีซึ่งก็เกือบถูกจับได้แต่ก็หลบหนีไปได้ทัน

องก์ที่สอง[แก้]

ดอน โจวันนีขณะกำลังออกปากเชิญรูปปั้นดอน เปโดรไปทานอาหารค่ำ โดยมีเลโปเรลโลหลบอยู่ด้านหลัง

เลโปเรลโลซึ่งเกือบถูกจับได้ด้วยพยายามที่จะลาออกจากการเป็นหนุ่มรับใช้ แต่โจวันนีก็เอาเงินฟาดหัวให้เขาอยู่ต่อ หลังจากนั้นโจวันนีก็เปลี่ยนชุดกับเลโปเรลโลโดยให้หนุ่มรับใช้ปลอมตัวเป็นเขาเพื่อที่จะล่อนางเอลวีราออกมาเพื่อที่เขาเองจะได้เข้าไปเกี้ยวสาวใช้ของเอลวีรา ขณะกำลังจีบนางอยู่โจวันนีซึ่งก็พบกับกลุ่มของมาเซตโตที่จะมาจัดการกับโจวันนีด้วยความหึงหวงนางแซร์ลีนา โจวันนีอยู่ในชุดเลโปเรลโลจึงได้ใช้อุบายลอบทำร้ายมาเซตโตและหนีไปอีกครั้ง แซร์ลีนามาพบเข้าจึงเข้าไปดูแลสามีของนาง

ขณะที่เลโปเรลโลกำลังอยู่กับเอลวีรา เขาก็ต้องพบกับออตตาวีโอและอันนาผู้คิดว่าเขาคือโจวันนีจึงพยายามที่จะฆ่า เอลวีราซึ่งยังรักโจวันนีอยู่เข้าไปปกป้อง เลโปเรลโลจึงอาศัยจังหวะชุลมุนเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงและหนีไป เลโปเรลโลมาพบกับโจวันนี ณ สุสานแห่งนึง และพบกับรูปปั้นทหารที่มีลักษณะคล้ายเปโดรซึ่งพยายามเตือนโจวันนี โจวันนีคิดเป็นเรื่องขบขันที่พบรูปปั้นพูดได้จึงเอ่ยปากชวนรูปปั้นนั้นไปทานอาหารเย็นด้วย

ที่ปราสาทของโจวันนี เขากำลังรื่นเริงกับอาหารเย็นอยู่ โดยมีวงดนตรีเล่นเพลงของโมทซาร์ทประกอบด้วย เอลวีราเข้ามาหาโจวันนีและพยายามบอกให้โจวันนีเลิกนิสัยเสียของเขา โจวันนีไล่นางอยู่ แต่ในขณะกำลังออกนางก็ตกใจร้องลั่น เลโปเรลโลออกไปดูและวิ่งตกใจกลับมาเช่นกัน ทันใดนั้นรูปปั้นเปโดรก็พังประตูเข้ามาบอกว่ามาตามที่นัดไว้ เขาบอกให้โจวันนีเลิกนิสัยของเขาเสีย แต่โจวันนีปฏิเสธ รูปปั้นจึงจมลงไปสู่นรกแล้วก็ลากตัวโจวันนีซึ่งจับมือเขาอยู่ตามลงไปด้วย กลุ่มคนทั้งห้าที่แค้นโจวันนีตามเข้ามาเพื่อที่จะฆ่าเขาแต่ก็พบว่าเขาได้พบจุดจบไปเรียบร้อยแล้ว

ตอนจบของเรื่อง ออตตาวีโอก็จะแต่งงานกับอันนา เอลวีราจะไปอาศัยอยู่ที่คอนแวนต์ และแซร์ลีนากับมาเซตโตก็จะกลับบ้าน ตอนจบอุปรากรเรื่องนี้ก็ฝากข้อคิดว่าคนชั่วก็พบจุดจบที่เลวร้ายไม่ต่างกับสิ่งที่เขาได้ทำมา

การแสดง[แก้]

อุปรากรดอน โจวันนี แสดงครั้งแรกที่โรงละคร Stavovské divadlo ในกรุงปราก ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2330 ในชื่อ Il Dissoluto Punito ossia il Don Giovanni Dramma giocoso in due atti โดยมี Luigi Bassi รับบทเป็นดอน โจวันนี และ Giuseppe Lolli เป็นดอน เปโดร การแสดงครั้งแรกนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง

ต่อมาโมทซาร์ทได้ประพันธ์ดนตรีเพิ่มอีกสามท่อนและนำออกแสดงเป็นครั้งแรกในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2331 ที่กรุงเวียนนา โดยมี Francesco Albertarelli รับบทเป็นดอน โจวันนี และ Francesco Busani เป็นดอน เปโดร แม้จะได้รับคำชมจากจักพรรดิโจเซฟแต่การแสดงไม่ค่อยถูกอรรถรสชาวเวียนนาเท่ากับที่ปราก ทำให้อุปรากรดอน โจวันนีเล่นที่เวียนนาได้เพียงสิบห้าครั้งในปีนั้นและกว่าจะถูกนำมาเล่นอีกทีก็หลังจากที่โมทซาร์ทได้เสียชีวิตลงแล้ว

ปัจจุบันดอน โจวันนีได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในอุปรากรที่ยอดเยี่ยมที่สุด มีการจัดแสดงอุปรากรเรื่องนี้บ่อยที่สุดเป็นอันดับที่เจ็ด[1] ซึ่งการแสดงอุปรากรเรื่องนี้ในแต่ละครั้งจะใช้เวลาโดยทั่วไปประมาณสองชั่วโมงครึ่ง

นอกจากนี้ ดอน โจวันนี ยังได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2522 กำกับภาพยนตร์โดย Joseph Losey

ดนตรี[แก้]

โมสาร์ต

ดอน โจวันนีสามารถเล่นได้ด้วยวงดนตรีที่มีเครื่องดนตรีดังต่อไปนี้: ไวโอลิน วิโอลา เชลโล เบส บาสโซคอนทินิวโอ ขลุ่ย คลาริเน็ต โอโบ บาสซูน แตร ทรัมเป็ต ทรอมโบน และทิมปะนี โดยมีมานโดลินเป็นเครื่องดนตรีประกอบการแสดงฉากที่โจวันนีกำลังเกี้ยวสาวใช้ของนางเอลวีราอยู่ด้วย

เพลงในอุปรากรที่คุ้นหู ได้แก่

  • Overture เพลงโหมโรงของอุปรากร
  • Là ci darem la mano เพลงเกี้ยวพาราสีระหว่างโจวันนีกับแซร์ลีนา
  • Don Giovanni, a cenar teco m'invitasti เพลงตอนที่รูปปั้นของเปโดรพังประตูเข้ามาหาโจวันนี

อะมาเดอุส[แก้]

อุปรากรเรื่องนี้อยู่ในภาพยนตร์เรื่องอะมาเดอุสตอนนี้หุ่นยักษ์พังกำแพงเข้ามาในเวทีอุปรากร ซึ่งซาลิเอรี่กล่าวว่านั่นคือพ่อของโมทซาร์ท ถึงแม้เรื่องนี้จะแต่งขึ้นในปีเดียวกับที่พ่อของเขาเสียก็เป็นไปได้ยากที่เรื่องนี้จะเป็นจรืงเนื่องจากเรื่องของรูปปั้นตามล้างแค้นนี้ได้ถูกแต่งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2173 โดยกวี เทียร์โซ เด โมลิน่า ชื่อเรื่องว่า ชายจอมลวงแห่งเซบีญ่าและแขกผู้เป็นหิน (El burlador de Sevilla y convidado de piedra) ทั้งนี้ ยังมีการลืออีกว่า ดา ปอนเต้ ได้ลอกเนื้อร้องส่วนหนึ่งมาจาก โจวันนี แบร์ตาตี ซึ่งมีโอเปร่าเรื่องเดียวกันออกแสดงก่อนเขาไม่นาน อย่างไรก็ดี ยังมีความเป็นไปได้ที่ดนตรีที่ค่อนข้างมืดในเรื่องนี้อาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากการจากไปของบิดาของโมทซาร์ท

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-21. สืบค้นเมื่อ 2008-05-19.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]