จิตวิทยาชุมชน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จิตวิทยาชุมชน เป็นการศึกษาธรรมชาติของมนุษย์กับธรรมชาติทางนิเวศวิทยา ซึ่งหมายถึงการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะเจาะระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม

คำจำกัดความ[แก้]

จิตวิทยาชุมชนเป็นสาขาวิชาหนึ่งของศาสตร์ทางจิตวิทยา ซึ่งศาสตร์ทางจิตวิทยานั้นมีรากฐานอยู่ในทวีปยุโรป แต่มีการศึกษาและพัฒนาอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 และจิตวิทยาชุมชนก็เป็นสาขาหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น (ช่วง ค.ศ.1960-1970) ในขณะเดียวกันแนวคิดด้านจิตวิทยาชุมชนก็เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกด้วยเช่นกัน

ข้อมูลความรู้ด้านจิตวิทยามีการวิเคราะห์เปรียบเทียบและบันทึกเป็นหลักฐานทางวิชาการไว้มากมายมหาศาล พร้อมกับมีการนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการปฏิบัติในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งจิตวิทยาชุมชนก็เป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าและการสร้างประโยชน์ต่อกิจกรรมด้านนี้เช่นกัน

ปรัชญาและเป้าหมายของจิตวิทยาชุมชน[แก้]

จิตวิทยาชุมชนเป็นสาขาวิชาที่ศึกษาถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการศึกษากระแสทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลและหน้าที่หรือการปฏิบัติต่าง ๆ ในชุมชนนั้น

จิตวิทยาชุมชนเน้นการศึกษาเรื่องราวทางสังคม สถาบันทางสังคมและหน่วยทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อความเคลื่อนไหวของบุคคล กลุ่มบุคคลและองค์กรในชุมชน พร้อมกันนั้นจิตวิทยาชุมชนจะศึกษาทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ทำให้แต่ละบุคคลดำเนินชีวิตอย่างอยู่ดีมีสุขในชุมชนนั้น ๆ การปฏิบัติงานตามแนวทางจิตวิทยาชุมชนเป็นการเพิ่มสมรรถนะทางจิตใจของบุคคลโดยมุ่งที่การเพิ่มพลังความเข้มแข็งทางจิตใจ การป้องกันปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปในทิศทางที่พึงประสงค์

เป้าหมายและจุดเน้น[แก้]

เป้าหมายหลักทางจิตวิทยาในงานชุมชนที่เน้นถึงความอยู่ดีมีสุขของสมาชิกในชุมชนนั้น แนวคิดในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลจริงนั้นอยู่ที่การจัดการด้านสุขภาพเป็นสำคัญ จากหลักการที่ยอมรับกันว่าหากบุคคลมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดีแล้ว การกระทำในทุกด้านที่ตามมาจะเป็นการกระทำที่มีคุณภาพกว่าการกระทำของผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ

ขั้นตอนต่อไปนี้เป็นการปฏิบัติทีแต่ละชุมชนพึงจัดให้มีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

  1. การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น การจัดให้มีสนามเด็กเล่น การมีศูนย์ออกกำลังกาย การประชาสัมพันธ์ด้านการบริโภคอาหารที่ถูกสุขอนามัย การแจ้งเตือนให้ระมัดระวังเกี่ยวกับสารพิษต่าง ๆ ล้วนเป็นตัวอย่างกิจกรรมที่ทุกชุมชนควรมี
  2. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ เป็นที่เข้าใจได้ว่าแต่ละคนจะมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ดังนั้นการจัดกระบวนการเพื่อให้สมาชิกชุมชนรับรู้และตระหนักถึงพฤติกรรมที่อาจสร้างปัญหาเหล่านั้น พร้อมกับการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากระทำพฤติกรรมที่เหมาะสมแทน เป็นกิจกรรมที่พึงจัดขึ้นในชุมชน
  3. การจัดการความเครียดและการสนับสนุนทางสังคม ความเครียดเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ง่ายมาก ในสภาพการดำเนินชีวิตของผู้คนปัจจุบันที่ต้องพยายามเอาตัวรอดหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เผชิญในแต่ละวัน ทำให้เกิดภาวะเครียดทั้งร่างกายและจิตใจได้เสมอ ดังนั้นการเพิ่มความรู้ความเข้าใจในการจัดการกับความเครียดของบุคคลจึงเป็นเป้าหมายของงานจิตวิทยาชุมชน

วิธีการ[แก้]

วิธีการหรือแนวทางของสาขาจิตวิทยาชุมชน อยู่ที่มุมมอง มิติความสัมพันธ์กับวัฒนธรรม ความแตกต่างหลากหลายของชาติพันธุ์ เชื้อชาติ เพศ กับสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์

โดยภาพรวมแล้วนักจิตวิทยาชุมชนต้องมีทักษะในการเผชิญกับความหลากหลายและความซับซ้อนของปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน นักจิตวิทยาชุมชนแต่ละคนล้วนได้เรียนรู้การวิจัยชุมชนและสามารถกระทำบทบาทในการแทรกแซงการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายในสังคมเชิงซ้อนได้ นักจิตวิทยาชุมชนจะต้องตระหนักถึงความต้องการของชุมชนที่เป็นปัจจุบัน พร้อมกับมีความสามารถในการใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณในการค้นหาหรือระบุปัญหาทางสังคมในขณะเดียวกันนั้นด้วย

หลักการและข้อสมมติฐานที่สำคัญ[แก้]

สมมติฐานของจิตวิทยาสังคมล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหาในฐานะที่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสภาพและระบบสังคม (รวมถึงโครงสร้างของการสนับสนุนทางสังคมและอำนาจทางสังคม) ซึ่งมีประเด็นคำถามที่ต้องการหาคำตอบยืนยันว่า เสรีภาพของบุคคลสามารถประนีประนอมกับข้อเกี่ยวข้องด้านกฎหมายของชุมชนที่ใหญ่กว่าได้ รวมทั้งการดำรงรักษาสภาพสังคมใหญ่สามารถคำนึงถึงความแตกต่างทางบุคคล และในเวลาเดียวกันก็สามารถทำให้เกิดเครือข่ายระบบสังคมที่เป็นทรัพยากรของสังคมเพื่อสุขภาพอนามัย การศึกษา และสวัสดิการที่มีให้กับพลเมืองทุกคนได้

ระดับการวิเคราะห์แตกต่างกันตั้งแต่มหภาคจนถึงจุลภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ระดับขององค์กรและชุมชน

วิธีการวิจัยด้านจิตวิทยาชุมชนมีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การวิจัยแบบกึ่งทดลอง วิจัยเชิงคุณภาพ การวิจัยปฏิบัติการ และศึกษากรณี

ส่วนระดับการปฏิบัติการทางจิตวิทยาชุมชนต้องอยู่ใกล้สิ่งที่เกี่ยวข้องมากที่สุด

ประโยชน์ของการมีความรู้ด้านจิตวิทยาชุมชนสำหรับนักพัฒนา[แก้]

นักพัฒนากับนักจิตวิทยาชุมชน ต่างก็ทำงานในชุมชน และมุ่งสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในชุมชนและปกป้องชุมชนจากสิ่งที่จะกระทบในทางลบต่อชุมชน นักพัฒนาอาจจะทำได้ดีในงานพัฒนาร่วมกับผู้คนในชุมชน ใช้ประโยชน์จากระบบราชการในการส่งเสริมการพัฒนาชุมชน มุ่งส่งเสริมโครงการพัฒนาแต่นักจิตวิทยาชุมชนจะทำได้ดีกว่าในการจัดระบบสังคมที่เกี่ยวข้องกับผู้คนในชุมชน และเน้นส่งเสริมพฤติกรรมของประชาชนในการดำเนินโครงการพัฒนามากกว่าตัวโครงการ

การที่นักพัฒนามีความรู้ด้านจิตวิทยาชุมชน ก็จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาทักษะที่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาที่หนักหนาสาหัสหลายอย่างที่ชุมชนเผชิญหน้าอยู่ นอกจากนี้นักพัฒนายังสามารถฝึกฝนวิธีการดำเนินการวิจัยชุมชนและการจัดกิจกรรมชุมชนในสังคมหลากหลายรูปแบบตามความต้องการจำเป็นของชุมชนในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ และมีเทคนิคทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพสามารถนำมาใช้เพื่อศึกษาปัญหาสังคมที่ซับซ้อน

อีกทั้งสามารถทำงานกับชุมชนในลักษณะการจัดระบบสังคมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนเพื่อการจัดระเบียบชุมชนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

อ้างอิง[แก้]