จรวดสกายลาร์ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Skylark

สกายลาร์ก (อังกฤษ: Skylark) ได้จุดระเบิด ณ ฐานปล่อยจรวดเอสแรงเก (Esrange) ในเมืองกิรูนา (Kiruna) ทางตอนเหนือของสวีเดนเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 เพื่อเดินทางสู่อวกาศเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งกำหนดเดิมจรวดอายุ 50 ปีลำนี้จะต้องเดินทางเที่ยวที่ 441 ในวันแรงงาน 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 แต่สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยจึงต้องเลื่อนการเดินทางมาเป็นวันถัดไป

จรวดสกายลาร์กเดินทางสู่อวกาศเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2500 โดยทะยานออกจากเมืองวูเมรา (Woomera) ในออสเตรเลียมุ่งสู่อวกาศ และจากนั้นสกายลาร์กก็ทำหน้าที่ขนการทดลองทางวิทยาศาสตร์มากมายสู่อวกาศ ซึ่งภารกิจชิ้นสุดท้ายของสกายลาร์กก็คือ “มาเซอร์ 10” (Maser 10) ได้รับมอบหมายจากองค์การบริหารอวกาศยุโรปหรืออีซา (European Space Agency : ESA) โดยมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น 5 โครงการ

การทดลองทั้ง 5 โครงการนั้น ได้แก่การค้นหาทางชีวภาพการทำงานของโปรตีนในกล้ามเนื้อ และการศึกษาสภาพการระเหยของของเหลว นอกจากนี้ยังมีการทดสอบสภาพไร้น้ำหนักเป็นเวลา 6 นาที สกายลาร์กสูง 42.2 ฟุตปล่อยตัวออกจากฐานได้ 16 นาที แตะที่ระดับ 158 ไมล์ ก็บรรลุภารกิจพาการทดลองวิทยาศาสตร์ทั้ง 5 ชิ้น จากนั้นจึงปล่อยมาเซอร์ 10 ที่บรรจุอยู่ในห้องโดยสารให้ตกลงสู่โลกด้วยร่มชูชีพ จากนั้นเฮลิคอปเตอร์ก็จะนำมาเซอร์ 10 กลับสู่ห้องทดลองต่อไป

จรวดสกายลาร์กซึ่งออกแบบเครื่องยนต์โดยอังกฤษ ขณะนี้ไม่มีการผลิตขึ้นใหม่แล้ว อย่างไรก็ดี การเลิกผลิตสกายลาร์ก ก็เหมือนการปิดบันทึกแห่งความสำเร็จทางอวกาศของสหราชอาณาจักร ซึ่งสกายลาร์กจรวดขับเคลื่อนไร้มนุษย์ลำนี้ ได้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองโครงการต่างๆ บนอวกาศได้อย่างมากมาย อีกทั้งอังกฤษได้เฉลิมฉลองปีที่ 50 แห่งความสำเร็จด้านอวกาศ โดยมี “สกายลาร์ก” เป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จและต้นกำเนิดอุตสาหกรรมอวกาศบนเกาะอังกฤษ

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]