คุรุสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คุรุสัมมนาคาร
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทอาคาร
เมืองมทร.อีสาน จังหวัดนครราชสีมา
ประเทศไทย ไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2503
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกดร. วทัญญู ณ ถลาง,นคร ศรีวิจารย์
วิศวกรม.ร.ว.จาตุรีสาน ชุมพล

คุรุสัมมนาคาร คืออาคารคอนกรีตสีขาวที่มีรูปทรงหวือหวาบิดแผ่นหลังคาโค้งไปมาเป็นมุมต่างๆกัน เมื่อมองมาที่อาคาร ปลายแหลมทั้ง 3 ของอาคารพุ่งทะยานแทรกยอดไม้สู่ท้องฟ้า ราวจะบอกถึงเรื่องราวของกวีนิพนธ์คอนกรีตแห่งยุคสมัย ในห้วงเวลาแห่งความเฟื่องฟูของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นบนราชอาณาจักรไทย อาคารคอนกรีตสีขาวหลังเล็กนี้ได้ปรากฏตัวอยู่ บนปลายล่างของแผ่นดินที่ราบสูงแอ่งโคราช ณ ทุ่งตะโกรายเมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยทุ่งตะโกรายนี้เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือในขณะนั้น

ลักษณะทั่วไป[แก้]

พิธีเปิดอาคาร คุรุสัมมนาคาร
คุรุสัมมนาคาร ในอดีต

ลักษณะสำคัญของอาคารคุรุสัมมนาคารคือรูปทรงของเปลือกผิวอาคารที่เป็นทั้งโครงสร้างเป็นทั้งหลังคาซึ่งเป็นผลมาจากวิวัฒนาการเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ซึ่งมีลักษณะเปลือกผิวอาคารคุรุสัมนาคารเป็นเปลือกผิวที่ได้จากการถ่ายเปลี่ยน(Translation Surfaces) หมายถึง ผิวเปลือกบางที่ได้จากการเลื่อนผืนไปตามระนาบโค้งสองระนาบทีอยู่หัวและท้ายในแนวทางกับระนาบที่เลื่อน[1]

การปรากฏตัวของอาคารที่มีแผ่นคอนกรีตทรงแปลกตาที่เรียกว่าคุรุสัมมนาคารนี้ เกิดจากแรงของเหล่าคณาจารย์ในแผนกสถาปัตยกรรมของวิทยาลัย ที่ต้องการออกแบบอาคารเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการแสดงหรือการประชุมนักศึกษา หลังจากที่ก่อตั้งวิทยาลัยได้ราว 3 ปีเพื่อรองรับเหล่าคณาจารย์และนักศึกษาที่เริ่มเปิดแผนกวิชาเพิ่มขึ้น ภายใต้การออกแบบของสองสถาปนิกไฟแรงในยุคนั้น ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งวิทยาลัยในฐานะผู้อำนวยการวิทยาลัยคนแรก ดร. วทัญญู ณ ถลาง และ นคร ศรีวิจารณ์ ได้ออกแบบอาคารที่เรียกได้ว่านำสมัยอย่างมากในอุษาคเนย์ยุคนั้นกับรูปทรง แบบเปลือกแข็งบาง Thin Shell ที่โค้งบิดเป็นรูปทรง Hyperbolic Paraboloid และได้ม.ร.ว.จาตุรีสาน ชุมพล ร่วมทำการออกแบบโครงสร้างอัศจรรย์ เมื่อมองจากมุมด้านบนจะพบกับภาพแผ่นคอนกรีตสีขาวหกเหลี่ยม ที่พับสลับปลายแหลมกันขึ้นลง โดยปลายคอนกรีตแหลมที่โน้มปลายพุ่งลงสู่พื้นดินได้ถ่ายแรงจากแผ่นหลังคาคอนกรีตมาสู่จุดรับหลังคาเพียงสามจุดที่วางค้ำไว้โดยรอบ สำหรับโครงสร้างช่วงกว้างราวยี่สิบกว่าเมตร ซึ่งเมื่อใครมาพบเห็นแบบก็พากันแปลกใจและไม่มั่นใจว่ามันจะไม่พังลงมาหรือไม่ แต่วิศวกรก็สร้างความประหลาดใจเพิ่มเข้าไปอีกกับการออกแบบโครงสร้างที่คำนวณจำนวนเหล็กเสริมและขนาดความหนาคอนกรีตให้บางเพียงแค่ 5-10 เซนติเมตร ตามที่คุณสมบัติของ Thin Shellจะอนุญาตให้มันต้านกับแรงโน้มถ่วงของโลก จนมาถึงเวลาทำการก่อสร้างด้วยความที่ต้องการความสมบูรณ์ของเนื้อคอนกรีตที่ต้องไม่ให้เกิดรอยต่อ อันจะเกิดความวิบัติต่อโครงสร้าง ทางผู้รับเหมาและเหล่านักศึกษา จึงต้องใช้เวลาสามวันเพื่อการเทคอนกรีตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องที่ตั้ง เครื่องจักร และแรงงานในสมัยเกือบกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

คุรุสัมมนาคารได้วางตัวเองแทรกอยู่ในร่มไม้ที่ร่มรื่นและไม่ไกลจากบ่อน้ำนัก ตัวอาคารมีลักษณะโล่งโปร่งมีผนังเพียงเล็กน้อยแค่ส่วนหลังที่นั่งเพื่อบังสายตาและหลังเวที จึงสามารถทำให้เกิดการถ่ายเทอากาศที่ดี แม้กระทั่งในปัจจุบันที่เครื่องปรับอากาศแต่ไม่จำเป็นกับอาคารนี้ นอกจากคอนกรีตที่เป็นพระเอก นางเอกและพระรองล้วนเป็นวัสดุที่มาจากท้องถิ่นทั้งหินทรายแดง และกระเบื้องดินเผาด่านเกวียน ในแง่ของการใช้งานเพดานคอนกรีตภายในที่บิดโค้ง ด้านตรงข้ามเวทีที่ออกแบบให้เปิดโล่ง และหลังเวทีที่เป็นไม้มะค่าเป็นส่วนดูดซับเสียงทำให้ไม่เกิดเสียงสะท้อน ซึ่งนับเป็นแนวคิดการเลือกใช้วัสดุได้เหมาะสมกับ เวลา สถานที่และเทคโนโลยีในยุค

ปัจจุบัน คุรุสัมมนาคาร อยู่ภายใต้การดูแลของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ซึ่งก็คือวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดิม ที่แม้ว่าในเวลาปัจจุบันจะมีการใช้งานน้อยลง และมีร่องรอยของความเสื่อมลงตามอายุขัยอาคาร แต่เรื่องราวของการเผยถึงคุณสมบัติอันโดดเด่นของตัวคอนกรีตผ่านรูปทรง Hyperbolic Paraboloid ยังคงบอกเล่าเรื่องราวแห่งยุคสมัยที่ผ่านมาของกวีนิพนธ์คอนกรีตเสมอเมื่อเข้าไปพบปริมาตรของสเปซกับคุรุสัมมนาคารหลังนี้

อ้างอิง[แก้]

  1. ลักษณะสำคัญของอาคารคุรุสัมมนาคาร