คำเตือนครั้งสุดท้ายของจีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ช่องแคบไต้หวัน ระหว่างจีน (สาธารณรัฐประชาชนจีน) และไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน)

คำเตือนครั้งสุดท้ายของจีน (อังกฤษ: China's final warning, รัสเซีย: Последнее китайское предупреждение) เป็นสุภาษิตรัสเซีย มีต้นกำเนิดมาจากสหภาพโซเวียตในอดีต หมายถึง คำเตือนหรือคำขู่ที่ไม่มีผลกระทบจริง ๆ[1]

ต้นกำเนิด[แก้]

สำหรับต้นกำเนิดของประโยค คำเตือนครั้งสุดท้ายของจีน มาจากสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 สหรัฐได้ส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นลาดตระเวนบริเวณช่องแคบไต้หวันเป็นประจำ ทำให้ทางการจีนประท้วงการกระทำดังกล่าวในนามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในรูปแบบของ "คำเตือนครั้งสุดท้าย" ต่อการซ้อมรบของสหรัฐในช่องแคบดังกล่าว ยังไงก็ตาม คำเตือนดังกล่าวไม่มีการตอบโต้ใด ๆ ตามมาหลังจากการเพิกเฉยต่อ "คำเตือนครั้งสุดท้าย" นั้น[2]

สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ออก "คำเตือนครั้งสุดท้าย" ครั้งแรกไปยังสหรัฐในเที่ยวบินลาดตระเวนในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2501 ระหว่างสถานการณ์วิกฤตช่องแคบไต้หวันครั้งที่ 2 ซึ่งเวลานั้นสหรัฐถือว่าสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นตัวแทนที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงชาติเดียวของจีน และทำการบินลาดตระเวนในน่านน้ำที่ควบคุมโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจีนได้บันทึกการกระทำนั้นและออก "คำเตือนครั้งสุดท้าย" ผ่านช่องทางทางการทูตสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยทางการจีนได้ออกคำเตือนครั้งสุดท้ายมากกว่า 900 ครั้งในปี พ.ศ. 2507[2]

การใช้งานในปัจจุบัน[แก้]

ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต สุภาษิตดังกล่าวยังคงถูกใช้โดยแพร่หลายในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะในประเทศเอสโตเนีย[3][4]

ในปี พ.ศ. 2565 ประโยคว่า "คำเตือนครั้งสุดท้าย" ของจีน ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายอีกครั้งหลังจากการประกาศเตือนสหรัฐในการเดินทางไปเยือนประเทศไต้หวัน ว่าอย่าเล่นกับไฟ[5] ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐก็ไม่ได้ยี่หระ กลับเดินทางไปยังประเทศไต้หวันพร้อมคณะในค่ำของวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2565 จีนจึงตอบโต้ด้วยการประกาศพื้นที่ซ้อมรบใหญ่ด้วยกระสุนจริงบริเวณโดยรอบประเทศไต้หวันหลังจากประธานสภาผู้แทนสหรัฐเดินทางกลับ[6] โดยเหตุการณ์ดังกล่าวถูกพูดถึงในสื่อสังคมเรดดิต[7] และแพลตฟอร์มออนไลน์ 9แก๊ก ในรูปแบบของมีม "คำเตือนครั้งสุดท้าย" ของจีน[8]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Когда было последнее китайское предупреждение | VOKRUGSVETA". www.vokrugsveta.ru (ภาษารัสเซีย).
  2. 2.0 2.1 "Малая воздушная война в Китае". www.airwar.ru.
  3. "Toomas Alatalu: Põhja-Korea ja USA ootamatult tuliseks kujunenud olukorras on suureks õli tulle valajaks silmatorkavalt sõjajanune ajakirjandus". Eesti Päevaleht.
  4. OKIA. "Kas sõjahirm või sõjaootus?". Sirp (ภาษาเอสโตเนีย).
  5. "ประธานาธิบดีจีนเตือนโจ ไบเดน อย่า "เล่นกับไฟ" กรณีไต้หวัน". BBC News ไทย. 2022-07-29.
  6. "จีนประณามสหรัฐฯ ระงับสินค้าไต้หวัน หลังประธานสภาฯ เยือนไทเป". BBC News ไทย. 2022-08-02.
  7. "r/fucktheccp - China's Final Warning". reddit (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  8. "China's final warning - Funny". 9GAG (ภาษาอังกฤษ).