ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (อังกฤษ: Operational risk หมายถึง โอกาส ความเป็นไปได้ และความน่าจะเป็น ที่จะเกิดความบกพร่อง การทุจริต หรือความผิดพลาด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ป้องกันได้ กับทั้งเหตุสุดวิสัยทั้งในรูปอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ รวมถึงภัยคุกคามโดยมนุษย์ อันจะนำไปสู่ความเสียหาย ความชะงักงัน และ/หรือการล่วงละเมิดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ กระทั่งเป็นผลร้ายและรุนแรงต่อสถานภาพทางการเงิน การดำเนินธุรกิจ และความมั่นคงน่าเชื่อถือของสถาบันโดยรวม

สำหรับสถาบันการเงินที่ไม่ใช้ธนาคาร[แก้]

สำหรับกรณีที่เป็นสถาบันการเงิน หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนตามกรอบบาเซิลสอง ระบุว่าเป็นผลมาจาก ความล้มเหลว หรือด้อยประสิทธิภาพ ในด้านการบวนการบริหารจัดการภายใน บุคลากร และระบบการทำงานต่าง ๆ หรือจากเหตุการณ์ภายนอกสถาบันการเงิน โดยแบ่งออกเป็น 7 ประเภทเหตุการณ์ ได้แก่

  1. การทุจริตภายใน
  2. กระบวนการฉ้อโกงจากภายนอก
  3. การเป็นนายจ้างที่บกพร่อง ละเลยต่อความรับผิดชอบ รวมถึงความไม่ปลอดภายในสถานที่ทำงาน
  4. ความเสียหายที่เกิดกับลูกค้า จากการออกผลิตภัณฑ์ รวมทั้งพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจ
  5. ความเสียหายต่อสินทรัพย์ทางกายภาพ
  6. การชะงักงันในการดำเนินธุรกิจ และความล้มเหลวของระบบต่าง ๆ
  7. การดำเนินการ ส่งมอบ และการบริหารจัดการเชิงกระบวนการต่าง ๆ

ซึ่งในการนี้ไม่รวมความเสี่ยงด้านชื่อเสียง และความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์/ธุรกิจ

การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ[แก้]

ในขณะที่การบริหารจัดการความเสี่ยง (ด้านการเงิน) ขาลง มักจะเกี่ยวข้องแต่กับเหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นบ่อย แต่ผลกระทบไม่รุนแรง กับที่เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ผลกระทบรุนแรง การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านปฏิบัติการก็เช่นกัน เพียงแต่อาจจะยิ่งกว่า คือลักษณะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยมาก ๆ ในขณะที่ความเสียหายเล็กน้อย กับที่โอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ๆ ในขณะที่ความเสียหายคิดเป็นมูลค่าสูงลิ่ว ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ คำนึงร่วมกันกับประเภทเหตุการณ์

สำหรับสถาบันการเงินโดยเฉพาะ บทบัญญัติเกณฑ์บาเซิลสอง ระบุแบ่งประเภทธุรกิจออกเป็น 8 สาย ได้แก่

  1. การดำเนินการทางการเงินสำหรับกิจการมหาชน
  2. การทำธุรกรรมซื้อขายและเป็นนายหน้าค้า
  3. กิจการธนาคารสำหรับลูกค้ารายย่อย
  4. กิจการธนาคารทั่วไป
  5. การชำระเงินและเคลียร์บัญชี
  6. การเป็นตัวแทนทำธุรกรรมทางการเงิน
  7. การบริหารสินทรัพย์
  8. การเป็นนายหน้าสำหรับลูกค้ารายย่อย

จะเห็นว่า 7 ประเภทเหตุการณ์ กับ 8 ประเภทธุรกิจ ประกอบกันขึ้นเป็นตาราง 8 คูณ 7 หรือ 56 ช่อง แต่ละช่องไว้จดบันทึกกรณีเหตุการณ์ความบกพร่อง ทุจริต ผิดพลาด หรือเหตุสุดวิสัย อันจะเกิดขึ้นได้กับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ทุก ๆ แห่ง

การสร้างแบบจำลองเชิงวิเคราะห์ในรูปการแจกแจงความน่าจะเป็น[แก้]

โดยในแบบจำลองอาจจะใช้ตัวแปรสุ่มซึ่งนับจำนวนเหตุการณ์ บันทึกระยะห่าง (เวลา) ระหว่าง 2 เหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกัน และ/หรือแสดงค่าความสูญเสียเป็นจำนวนเงินหรือเปรียบเทียบเป็นจำนวนเงิน

ในมุมมองทางการเงิน ประเด็นพิเศษในการจำลองแบบความเสี่ยงด้านปฏิบัติการคือ โดยนิยาม หรืออย่างน้อยก็ในการสร้างแบบจำลอง เหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นจากความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ แต่ละครั้งนั้นถือว่าเกิดขึ้นโดยอิสระจากกัน