ความผิดทางพินัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความผิดทางพินัย (อังกฤษ: regulatory offence (แบบบริติช)/offense (แบบอเมริกัน) หรือ regulatory crime)[1] หรือ ความผิดกึ่งอาญา (อังกฤษ: quasi-criminal offence/offense)[2] คือ ความผิดต่อกฎหมาย ซึ่งไม่ถือเป็นความผิดอาญา มักมีโทษเพียงปรับหรือจำคุก[1] และจะไม่บันทึกไว้ในประวัติอาชญากรรม[3]

ความผิดทางพินัยมักกำหนดสำหรับการกระทำทั่วไปในชีวิตประจำวันที่ไม่ต้องการจัดการอย่างรุนแรงเหมือนความผิดอาญา และต้องการเพียงลดความเสี่ยงหรืออันตรายที่จะเกิดแก่สาธารณชน ในขณะที่กฎหมายอาญามุ่งประสงค์จะลดทอนกิจกรรมทางอาญาให้น้อยลงที่สุดทีเดียว[2] ความผิดทางพินัยมักปรากฏในกฎหมายเกี่ยวกับการจราจร การขนส่ง สุขภาพอนามัย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ การจับสัตว์หรือล่าสัตว์ การควบคุมเพลิง[2] การผังเมือง การเข้าเมือง ภาษี การพนัน การคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ[4]

โดยทั่วไป ความผิดทางพินัยมักไม่ต้องพิสูจน์เจตนาเหมือนความผิดทางอาญา เพียงพิสูจน์ว่า ได้กระทำ จะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม ก็เพียงพอจะลงโทษทางพินัยได้แล้ว[3] ในบางกรณี มีการใช้เจ้าหน้าที่ประเภทอื่นนอกเหนือไปจากตำรวจในการสืบสวนและดำเนินคดีทางพินัย เช่น ในสหราชอาณาจักร อำนาจดำเนินคดีทางพินัยตามกฎหมายเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยเป็นของสำนักบริหารสุขภาพและความปลอดภัย (Health and Safety Executive)[4]

ถึงแม้ความผิดทางพินัยอาจมาจากการกระทำทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่ผลลัพธ์อาจร้ายแรงได้ เช่น อาจนำไปสู่โทษปรับที่สูงมาก หรือการคุมประพฤติ หรือกระทั่งการจำคุก หรือโทษในรูปแบบอื่นที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือดำเนินธุรกิจประจำวัน เป็นต้นว่า ในสหรัฐ ความผิดทางพินัยตามกฎหมายเกี่ยวกับการจราจรนั้น มีการลงโทษด้วยการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ และความผิดทางพินัยตามกฎหมายเกี่ยวกับสุรา มีการลงโทษด้วยการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตของสถานบริการ[3]

ในประเทศไทย มีการนำความผิดทางพินัยมาใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2565 ด้วยแนวคิดว่า โทษทางอาญาที่มีอยู่นั้นเฟ้อเกิน (overcriminalisation)[5] คำว่า "พินัย" นั้นนำมาจากกฎหมายตราสามดวงที่กำหนดโทษปรับ 2 แบบ คือ ปรับเป็นพินัย ซึ่งเป็นการปรับเงินเข้ารัฐ และปรับเป็นสินไหม ซึ่งเป็นการปรับเงินเป็นค่าชดเชยแก่ผู้เสียหาย[6][7] อย่างไรก็ดี ความผิดทางพินัยที่นำมาใช้ใหม่นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า "ไปไม่สุด" เพราะชื่อ "พินัย" นั้นเป็นศัพท์เก่าเกิน และไม่นิยามไว้ ทำให้คนทั่วไปสงสัย ทั้งยังไม่กำหนดให้คดีจบที่ศาลชั้นต้น และกำหนดให้การพิจารณาคดีต้องอิงอยู่กับข้อบังคับของประธานศาลฎีกา นอกจากนี้ เหตุผลหนึ่งที่นำความผิดทางพินัยมาใช้ คือ ต้องการทำลายภาพจำของกระบวนการยุติธรรมไทยที่ว่า "คุกมีไว้ขังคนจน" แต่กลับไม่นำระบบการปรับรายวัน (day-fine) มาใช้ อันเป็นการปรับให้สอดคล้องกับฐานะทางเศรษฐกิจ ทำให้ที่สุดแล้วคนรวยก็จะไม่เกรงกลัวความผิดทางพินัย เพราะมีเงินจ่ายค่าปรับได้โดยไม่เดือดร้อน[5][8]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Regulatory offense". Merriam-Webster.com Legal Dictionary. Merriam-Webster. n.d. สืบค้นเมื่อ 2022-10-26.
  2. 2.0 2.1 2.2 "Regulatory Offences". SharmaSharma Law. 2021. สืบค้นเมื่อ 2022-10-26.
  3. 3.0 3.1 3.2 "Experienced Toronto Trial Lawyers Defending Against Regulatory Offences". Hicks Adams Criminal Trials & Appeals. n.d. สืบค้นเมื่อ 2022-10-26.
  4. 4.0 4.1 "Regulatory Offences". Chattertons. Chattertons Group Ltd Company. 2022. สืบค้นเมื่อ 2022-10-26.
  5. 5.0 5.1 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล (2022-03-23). "เพราะจนจึงเจ็บกว่า 'โทษพินัย' ที่ไปไม่สุดทาง". ประชาไท. ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 2022-10-26.
  6. คณะกรรมการกฤษฎีกา (n.d.). "หลักเกณฑ์การกำหนดโทษทางอาญาที่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 21 (8) แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562" (PDF). สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. สืบค้นเมื่อ 2022-10-26.
  7. ธำรงลักษณ์ ลาพินี (n.d.). "ทำไมต้องปรับเป็นพินัย?". สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-26. สืบค้นเมื่อ 2022-10-26.
  8. คำนูณ สิทธิสมาน (2022-03-09). ""ความผิดทางพินัย" เหตุผล(ของผู้ร่างฯ)ที่ไม่นิยามศัพท์ !". ผู้จัดการ ออนไลน์. ผู้จัดการ. สืบค้นเมื่อ 2022-10-26.