คฤหาสน์แฟรีแยร์
คฤหาสน์แฟรีแยร์ Château de Ferrières | |
---|---|
คฤหาสน์แฟรีแยร์ | |
พิกัด | 48°49′11″N 2°42′43″E / 48.81972°N 2.71194°E |
ประเภท | ฟื้นฟูเรอเนซองส์ |
พื้นที่ | แฟรีแยร็องบรี, แซเนมาร์น ฝรั่งเศส |
ข้อมูล | |
เจ้าของ | เจมส์ เมเยอร์ เดอ รอทไชลด์ |
ประวัติศาสตร์ | |
สร้าง | ค.ศ. 1855 - ค.ศ. 1859 |
สถาปนิก | โจเซฟ แพกซ์ตัน |
คฤหาสน์แฟรีแยร์ (ฝรั่งเศส: Château de Ferrières) เป็นคฤหาสน์ที่ตั้งอยู่ที่เมืองแฟรีแยร็องบรีในจังหวัดแซเนมาร์นของฝรั่งเศส คฤหาสน์แฟรีแยร์ก่อสร้างระหว่างปี ค.ศ. 1855 ถึงปี ค.ศ. 1859 ให้แก่บารอนเจมส์ เมเยอร์ เดอ รอทไชลด์ โดยมีโจเซฟ แพกซ์ตันชาวอังกฤษเป็นสถาปนิกเป็นสถาปัตยกรรมฟื้นฟูเรอเนซองส์ และถือกันว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญที่สุดของฝรั่งเศสของคริสต์ศตวรรษที่ 19
ตัวคฤหาสน์ที่ตั้งเด่นอยู่บนเนินสุดตรงสุดถนนทางเข้ามีอิทธิพลมาจากคฤหาสน์เมนท์มอร์เทาเออร์สในบัคคิงแฮมเชอร์ในอังกฤษ ซึ่งเป็นคฤหาสน์ที่แพกซ์ตันออกแบบให้กับเมเยอร์ อัมเชล เดอ รอทไชลด์ ผู้เป็นหลานของบารอนเจมส์ หลังจากที่ได้รับคำสั่งว่า “สร้างเมนท์มอร์เทาเออร์สให้ผมหน่อย แต่ให้ใหญ่กว่าสักสองเท่า”[1]
คฤหาสน์แฟรีแยร์สร้างเป็นแบบเรอเนซองส์อิตาลีโดยแต่ละมุมบ้านมีหอประดับ รอบบ้านเป็นลานลดหลั่นที่กว้างออกไปเป็นอุทยานภูมิทัศน์และสวนขนาด 1.25 ตารางกิโลเมตร ที่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาบริเวณป่าที่มีเนื้อที่ด้วยกันทั้งหมดราว 30 ตารางกิโลเมตรของบริเวณที่ตั้งคฤหาสน์ ภายในมีรูปสลักคนแบกเสา (แอตลัสหรือแคริอาทิด) ที่แกะสลักโดยชาร์ล อ็องรี โฌแซ็ฟ กอร์ดีเย และภาพเขียนตกแต่งที่ควบคุมโดยเออแฌน ลามี โถงกลางที่เป็นจุดที่เด่นที่สุดในอาคารมีขนาด 37 x 60 เมตร และสูง 18 เมตร เพดานเป็นหลังคากระจกที่ให้แสงส่องเข้ามาภายในตัวอาคารได้ ห้องสมุดมีหนังสือกว่า 8,000 เล่ม เพราะความสำคัญของการเลี้ยงรับรองจึงทำให้นอกจากจะเป็นห้องพักส่วนตัวของสมาชิกในตระกูลรอทไชลด์แล้วก็ยังมีห้องชุดสำหรับแขกอีก 80 ชุด
บารอนเจมส์สรรหางานศิลปะและประติมากรรมจากที่ต่างมาเป็นจำนวนมากที่ใช้ในการตกแต่งห้องต่างๆ ในคฤหาสน์ งานประติมากรรมหลายชิ้นสร้างโดยอาแล็กซ็องดร์ ฟาลกีแยร์ และอันโตนีโอ กอร์ราดีนี และต่อมาก็มาเพิ่มงานของเรอเน เดอ แซ็ง-มาร์โซ
ระหว่างสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียระหว่างปี ค.ศ. 1870 ถึงปี ค.ศ. 1871 คฤหาสน์แฟรีแยร์ถูกยึดโดยเยอรมันและใช้เป็นสถานที่ในการเจรจาต่อรองระหว่างออทโท ฟอน บิสมาร์คนายกรัฐมนตรีแห่งปรัสเซียของสมาพันธ์รัฐเยอรมันเหนือ และฌูล ฟาฟวร์รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส ต่อมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองฝ่ายเยอรมันก็ยึดคฤหาสน์แฟรีแยร์อีก แต่ครั้งนี้ได้ทำการขโมยงานศิลปะต่าง ๆ ที่สะสมไว้ไปเป็นจำนวนมาก คฤหาสน์ถูกทิ้งร้างมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1959 เมื่อกี เดอ รอทไชลด์และภรรยาคนใหม่มารี-เอแลน เดอ ซุยเลน ฟาน นีเอฟกลับมาทำการบูรณปฏิสังขรณ์ จนคฤหาสน์กลับกลายมาเป็นสถานที่รับรองขุนนางยุโรปและทำการสังสรรค์กับดาราฮอลลีวูดในงานเลี้ยงอันหรูหราอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1975 กี เดอ รอทไชลด์และภรรยาก็อุทิศคฤหาสน์ให้แก่อธิการของมหาวิทยาลัยปารีส ในปัจจุบันคฤหาสน์แฟรีแยร์เปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้พร้อมกับมัคคุเทศน์ และ ในโอกาสพิเศษ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Cowles, Virginia. The Rothschilds, a Family of Fortune.