คดีลูกฆ่าพ่อในโทจิงิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คดีระหว่างไอซาวะ
กับพนักงานอัยการ
Aizawa v. Japan
สาระแห่งคดี
ข้อกล่าวหา จำเลยฆ่าบุพการี
คำขอ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200
คู่ความ
โจทก์ คณะพนักงานอัยการ:
• ทาอิโซะ โยโกอิ (Taizo Yokoi)
• จุนโนซูเกะ โยโกมิโซะ (Junnosuke Yokomizo)
• อากิระ ยามามูระ (Akira Yamamura)
จำเลย ชิโยะ ไอซาวะ (Chiyo Aizawa)
บุคคลอื่น ไดฮาจิ โอนูกิ (Daihachi Onuki), ทนายจำเลย
ศาล
ศาล ศาลสูงสุดแห่งญี่ปุ่น
องค์คณะ ที่ประชุมใหญ่ศาลสูงสุดแห่งญี่ปุ่น:
• คาซูโตะ อิชิดะ (Kazuto Ishida), ประธาน

• เค็งอิจิโระ โอซูมิ (Kenichiro Osumi)
• โทโมกาซุ มูรากามิ (Tomokazu Murakami)
• โคซาโตะ เซกิเนะ (Kosato Sekine)
• เอกิโซะ ฟูจิบายาชิ (Ekizo Fujibayashi)
• มาซาโอะ โอกาฮาระ (Masao Okahara)
• โนบูโอะ โองาวะ (Nobuo Ogawa)
• ทาเกโซะ ชิโมดะ (Takeso Shimoda)
• เซอิจิ คิชิ (Seiichi Kishi)
• บูอิจิ อามาโนะ (Buichi Amano)
• โยชิกัตสึ ซากาโมโตะ (Yoshikatsu Sakamoto)
• จิโร ทานากะ (Jiro Tanaka)
• มาโกโตะ อิวาตะ (Makoto Iwata)
• คาซูโอะ ชิโมมูระ (Kazuo Shimomura)
• โคตาโร อิโรกาวะ (Kotaro Irokawa)

คำพิพากษา
คำพิพากษา คำพิพากษาในคดีหมายเลข 1970 (ก) ที่ 1310
พิพากษา
" กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ให้ลงโทษจำคุกสองปีกับหกเดือน พร้อมทำงานโยธา แต่ให้รอการลงโทษไว้สามปี "
เรื่อง ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 ซึ่งบัญญัติการฆ่าบุพการี (Constitutionality of Article 200 of the PENAL CODE providing killing an Ascendant)
ลงวันที่ 4 เมษายน 1973
มติ 14 ต่อ 1
กฎหมาย รัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น มาตรา 14
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200
เว็บไซต์
คำพิพากษาศาลสูงสุด ในคดีหมายเลข 1970 (ก) ที่ 1310ฯ (อังกฤษ)

คดีลูกฆ่าพ่อในโทจิงิ หรือ คดีปิตุฆาตในโทจิงิ (ญี่ปุ่น: 栃木実父殺し事件โรมาจิTochigi Jippugoroshi Jiken; อังกฤษ: Tochigi patricide case)[1], หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า คดีระหว่างไอซาวะกับพนักงานอัยการ (Aizawa v. Japan)[2][3][4], เป็นคดีสมสู่ระหว่างบิดากับบุตรสาวและปิตุฆาต อันเกิดขึ้นในยาอิตะ จังหวัดโทจิงิ ประเทศญี่ปุ่น โดย ชิโยะ ไอซาวะ (相沢 チヨ)[5][6] จำเลยถูกบิดาข่มขืนกระทำชำเรามาสิบห้าปี จนฆ่าบิดาเสียเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1968 พนักงานอัยการฟ้องว่าเธอฆ่าบุพการี และศาลพิพากษาว่าเธอมีความผิดฐานดังกล่าว แต่ให้รอการลงโทษ[5][7]

คดีนี้ยังให้มีการยกเลิกความผิดฐานฆ่าบุพการีในประมวลกฎหมายอาญาญี่ปุ่นในกาลต่อมาด้วย[8]

ภูมิหลัง[แก้]

ชิโยะ ไอซาวะ จำเลย เป็นบุตรหัวปีในจำนวนบุตรทั้งหมดหกคนของ ทาเกโอะ ไอซาวะ (相沢 武雄; 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1915–5 ตุลาคม ค.ศ. 1968) กับ ริกะ ไอซาวะ (相沢 リカ) ชิโยะถือกำเนิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1939 ณ จังหวัดโทจิงินั้น[9] ทากาโอะติดสุรายาเมาและข่มขืนกระทำชำเราชิโยะตั้งแต่เธออายุสิบสี่ปีเรื่อยมา ริกะ มารดาของชิโยะ เมื่อทราบก็รับไม่ได้ และทิ้งครอบครัวหนีไปจังหวัดฮกไกโดในไม่ช้า หลายปีต่อมา ริกะหวนคืนเพื่อร้องขอให้ทาเกโอะเลิกล่วงเกินบุตรสาว แต่เธอพบว่าทาเกโอะบังคับให้ชิโยะอยู่กินกับตนฉันสามีภริยา กับทั้งชิโยะยังตั้งครรภ์กับทาเกโอะถึงสิบเอ็ดครั้ง ให้กำเนิดบุตรสาวห้าคน โดยสองคนในจำนวนนี้ตายแต่แรกเกิด[10]

ใน ค.ศ. 1967 ชิโยะในวัยยี่สิบแปดจึงทำหมันหลังถูกบังคับทำแท้งมาแล้วหกครั้ง ครั้นปีถัดมา ชิโยะพบรักกับหนุ่มวัยยี่สิบสองคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นในมหาวิทยาลัย และต้องการวิวาห์กับเขา ทาเกโอะได้ทราบก็โกรธเป็นอันมาก เขาพันธนาการเธอไว้ที่บ้าน และขู่ฆ่าบุตรทั้งสามของเธอเสีย ชิโยะถูกจองจำอยู่กับความสิ้นหวังของชีวิต กระทั่งคืนวันที่ 5 ตุลาคม ปีนั้น ทาเกโอะเข้าราวีเธออีก เธอจึงบีบคอเขาถึงแก่ความตาย[10]

เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงคิดกันมาตลอดว่าชิโยะเป็นภริยาของทาเกโอะ จนกระทั่งเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมเธอ และแถลงว่า ชิโยะตั้งครรภ์บุตรทั้งสามกับบิดาของตนเอง อนึ่ง เนื่องด้วยกฎหมายญี่ปุ่นลักษณะครอบครัวห้ามพหุสามีภริยา (polygamy) และห้ามญาติสนิทสมรสกัน นายทะเบียนครอบครัวจึงขึ้นทะเบียนว่า บุตรทั้งสามของชิโยะเป็นบุตรมิชอบด้วยกฎหมายของทาเกโอะ[7]

กฎหมาย[แก้]

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 ของญี่ปุ่น ฆ่าบุพการีของตนเอง ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตพร้อมทำงานโยธา ซึ่งหนักกว่าฆ่าคนทั่วไปตามมาตรา 199 ที่ระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกไม่เกินสามปีพร้อมทำงานโยธา นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 19 ว่า ศาลจะรอการลงโทษก็ได้แต่เฉพาะเมื่อโทษที่ลงนั้นเป็นจำคุกไม่เกินสามปี โดยให้รอไว้ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี แต่ไม่เกินสามปี[10]

ขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น มาตรา 14 ว่า "คนทั้งปวงย่อมเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย และการเลือกปฏิบัติในด้านความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม เพราะเหตุแห่งเชื้อชาติ ความเชื่อ เพศ สถานะทางสังคม หรือเหล่ากำเนิดนั้น หากระทำได้ไม่" ("All people are equal under the law and there shall be no discrimination in political, economic or social relations because of race, creed, sex, social status or family origin.")[10]

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 จึงมีลักษณะเป็นการพรากไปซึ่งโอกาสที่จะได้รอการลงโทษ เว้นแต่ศาลเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดเพื่อป้องกันตนเอง หรือวิกลจริต (ตามความหมายทางกฎหมาย) ซึ่งตุลาการญี่ปุ่นรับฟังเหตุบรรเทาโทษในคดีฆ่าบุพการีเสมอ เพื่อในกรณีมีเหตุสมควร จำเลยก็อาจได้รับการลดโทษและมีโอกาสรอการลงโทษบ้าง[11]

การดำเนินคดี[แก้]

พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า ชิโยะกระทำความผิดฐานฆ่าบุพการี และขอให้ลงโทษ ทนายความของชิโยะต่อสู้ว่า จำเลยป้องกันตนเอง และวิกลจริต เพราะถูกข่มขืนกระทำชำเรานับครั้งไม่ถ้วน[5]

ศาลแขวงอุตสึโนมิยะ (Utsunomiya District Court) พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งสถานะทางครอบครัว ขัดต่อหลักความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย (equality before the law) ที่รัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่นรับรองไว้ในมาตรา 14 ข้างต้น โดยศาลกล่าวว่า แม้ในมาตรา 14 นี้ไม่ปรากฏถ้อยคำว่า "สถานะทางครอบครัว" (family status) อย่างแจ้งชัด แต่รัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายกว้าง ต้องตีความตามเจตนารมณ์ มิใช่ตามตัวอักษร หลักห้ามเลือกปฏิบัติเพราะสถานะทางครอบครัวจึงมีอยู่ "ในบริบท" แห่งมาตรา 14 นั้น และเน้นย้ำว่า "การปฏิบัติต่อจำเลยให้แตกต่างออกไป โดยอ้างสถานะที่จำเลยมีอยู่ในครอบครัวตนเองนั้น ย่อมเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่ต้องสงสัย"[10] นอกจากนี้ ศาลยังเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 14 อีกประการหนึ่ง ตรงที่กำหนดโทษอันมิได้สัดส่วน (disproportionality) คือ สูงกว่าการฆ่าบุคคลทั่วไปเป็นอันมาก[10] อนึ่ง ศาลฟังว่า ชิโยะกระทำความผิดเพื่อป้องกันตนเองด้วย วันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1969 ศาลจึงพิพากษาปล่อยเธอไป[5]

ในเวลานั้น พนักงานอัยการพิจารณาว่า ที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 กำหนดโทษฐานฆ่าบุพการีไว้สูงกว่าฐานฆ่าบุคคลทั่วไป ก็เพื่อธำรงคุณธรรมเรื่องความกตัญญู จึงอุทธรณ์[10] และศาลสูงโตเกียว (Tokyo High Court) เห็นพ้องกับพนักงานอัยการ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ปีถัดมา จึงพิพากษาว่า ชิโยะมีความผิดฐานฆ่าบุพการี และให้จำคุกสามปีกับหกเดือน พร้อมทำงานโยธา[5] ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 19 แล้วจะมิอาจรอการลงโทษได้ ฝ่ายจำเลยจึงอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุดแห่งญี่ปุ่น (Supreme Court of Japan)[5]

ที่ประชุมใหญ่ศาลสูงสุดตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า โทษที่ศาลอุทธรณ์ลงนั้นรุนแรงเกินไป และเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และใช้บังคับมิได้ ในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1973 จึงลงมติด้วยคะแนนเสียง 14 ต่อ 1 แก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า ชิโยะมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น (เปลี่ยนฆ่าบุพการีเป็นฆ่าบุคคลทั่วไป) โดยให้ลงโทษจำคุกสองปีกับหกเดือน พร้อมทำงานโยธา แต่ให้รอการลงโทษไว้สามปี[5]

หลังคดีนี้แล้ว ชิโยะประกอบอาชีพอยู่ที่อุตสึโนมิยะ จังหวัดบ้านเกิด ต่อไป

ผลพวง[แก้]

กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นแถลงเมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1973 ว่า จะพิจารณาอภัยโทษให้แก่จำเลยคดีฆ่าบุพการีเป็นรายบุคคลไป และได้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 จริง ๆ ในอีกยี่สิบสองปีให้หลัง[8] เหลือเพียงมาตรา 199 ที่ปัจจุบันบัญญัติว่า "ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตพร้อมทำงานโยธา หรือจำคุกมีกำหนดไม่ต่ำกว่าห้าปี" ("A person who kills another shall be punished by the death penalty or imprisonment with work for life or for a definite term of not less than 5 years.") ทั้งนี้ เป็นโทษที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่[12]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Itoh, Hiroshi (2010), The Supreme Court and benign elite democracy in Japan. Ashgate Publishing, Ltd. via Google Books. p. 283
  2. Franklin, Daniel P.; Baun, Michael J. (1995). Political culture and constitutionalism: a comparative approach. M. E. Sharpe via Google Books. p. 114
  3. Itoh, Hiroshi (1989), The Japanese Supreme Court: constitutional policies. Markus Wiener Publishers via Google Books. p. 195
  4. Goodman, Carl F. (2008). The rule of law in Japan: a comparative analysis เก็บถาวร 2012-10-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Kluwer Law International via Google Books. p. 178
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 "1970(A)No.1310". Supreme Court of Japan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-23. สืบค้นเมื่อ June 24, 2008.
  6. Satoh, Jun-ichi (2008). "Judicial Review in Japan: An Overview of the Case Law and an Examination of Trends in the Japanese Supreme Court's Constitutional Oversight" (PDF). Loyola of Los Angeles Law Review. Loyola Law School. 41 (2): 603–627. สืบค้นเมื่อ August 28, 2011.
  7. 7.0 7.1 "栃木実父殺し事件" (ภาษาญี่ปุ่น). 無限回廊. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-28. สืบค้นเมื่อ December 27, 2007.
  8. 8.0 8.1 "The Japanese Constitution gets a provocative look". The Japan Times. July 8, 2001. สืบค้นเมื่อ October 15, 2010.
  9. "Seminar Constitutional Law 2005" (PDF). Keio University SFC (ภาษาญี่ปุ่น). Komazawa University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-08-27. สืบค้นเมื่อ August 28, 2011.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 10.6 Charles Qu (June 2001). "Parricide, Equality and Proportionality: Japanese Courts' Attitudes Towards the Equality Principle as Reflected in Aizawa v Japan". สืบค้นเมื่อ 28 October 2011.
  11. "矢板市・尊属殺人事件" (ภาษาญี่ปุ่น). 事件史探求. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-19. สืบค้นเมื่อ December 27, 2007.
  12. "Penal Code". Ministry of Justice. April 1, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-03. สืบค้นเมื่อ October 28, 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

หนังสือ[แก้]

  • Hideo Tanaka and Malcolm D.H. Smith. (1976). The Japanese legal system : introductory cases and materials. Tokyo: University of Tokyo Press. ISBN 0860081613.
  • Meryll Dean (2002). Japanese Legal System. London: Cavendish Publishing. ISBN 1843143224.

เว็บไซต์[แก้]