สภาวิศวกร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สภาวิศวกร จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 มีสถานะเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม รวมทั้งพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม รับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม รวมทั้งเสนอแนะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการกำหนดและการเลิกสาขาวิศวกรรมควบคุมและออกข้อบังคับสภาวิศวกร โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะสภานายกพิเศษ ดร.กมล ตรรกบุตร เป็นนายกสภาตั้งแต่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555 ถึง 10 เมษายน พ.ศ. 2562 นายกสภาวิศวกร คนปัจจุบัน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์

สภาวิศวกร เป็นหนึ่งในสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ร่วมกับ แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาสถาปนิก สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด

จาก ก.ว.มาเป็นสภาวิศวกร[แก้]

พระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505[แก้]

การประกอบวิชาชีพวิศวกรรมมีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยมีพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505 เป็นแนวทางการควบคุมบังคับการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งหมายความถึงวิชาชีพการช่างในสาขา วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม โดย คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (ก.ว.) ทำหน้าที่ดำเนินกิจการตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุณสมบัติผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ผู้ที่ประสงค์จะประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระราชบัญญัติ โดยต้องมีคุณวุฒิจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ในสาขาที่ขอรับใบอนุญาต จากสถาบันที่ ก.ว. รับรองหลักสูตร

ใบอนุญาต[แก้]

ใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของแต่ละสาขา แบ่งประเภทดังนี้

  • ใบอนุญาตฯ ประเภทภาคีวิศวกร (Associate Engineer)
  • ใบอนุญาตฯ ประเภทสามัญวิศวกร (Professional Engineer)
  • ใบอนุญาตฯ ประเภทวุฒิวิศวกร (Senior Professional Engineer)
  • ใบอนุญาตฯพิเศษ

พระราชบัญญัติ วิศวกร พ.ศ. 2542[แก้]

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนที่ 120 ก. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 สภาวิศวกร ทำหน้าที่ทุกรายการแทน ก.ว. สมาชิกสภาวิศวกร สมาชิกสภาประกอบด้วยประเภทของสมาชิกดังนี้

  • สมาชิกสามัญ มีสิทธิในการกำหนดทิศทางและอนาคตของสภาฯ โดยสามารถสมัครเป็นกรรมการสภาฯ มีสิทธิ์เลือกตั้ง รับเลือกตั้งหรือ แต่งตั้งเป็นกรรมการสภาฯ
  • สมาชิกวิสามัญ ไม่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสภาฯ

ใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม[แก้]

  • วุฒิวิศวกร ( Fellow Engineer )
  • สามัญวิศวกร ( CharterEngineer )
  • ภาคีวิศวกร ( Associate Engineer )
  • ภาคีวิศวกรพิเศษ ( Corporate Engineer )

ประวัติ[แก้]

ในอดีตวิศวกรไทยได้รวมตัวกันภายใต้สถาบันวิชาชีพ คือ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2486 ต่อมา รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505 ขึ้น เมื่อสภาพเศรษฐกิจ สังคมมีการเปลี่ยนแปลง มีความต้องการวิศวกรมากขึ้น จึงมีการเร่งผลิตวิศวกร เป็นผลให้งานวิศวกรรมมีปัญหาเรื่องคุณภาพงาน จำเป็นต้องมีการปลูกฝังจิตสำนึกทางด้านจรรยาบรรณและมีการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ครั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงหลายครั้งจนมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของวิชาชีพวิศวกรรม อาทิ เหตุการณ์จากรถบรรทุกแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2532 ไฟไหม้โรงงาน อาคารถล่มที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ทบวงมหาวิทยาลัย และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ จึงได้มีการจัดสัมมนาระดมความคิดและได้ข้อสรุปในการจัดตั้ง “ สภาวิศวกร ” รวม 4 ประการคือ

  1. ให้มีสภาวิชาชีพที่สามารถปกครอง ควบคุมและกำกับดูแลกันเอง สภาวิศวกรจึงต้องมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก
  2. ให้มีความคล่องตัวในการบริหารงานโดยอิสระจึงต้องมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล
  3. ให้สภาวิศวกรมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลควบคุม ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการประกอบวิชาชีพอย่างต่อเนื่องทันต่อวิทยาการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
  4. ให้มีการประกอบวิชาชีพด้วยมาตรฐานหนึ่งเดียวไม่ว่าจะเป็นราชการหรือเอกชน และจะไม่มีการยกเว้นสำหรับคนต่างชาติ

ต่อมาได้มีการร่างพระราชบัญญัติวิศวกรเมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยคณะบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิทางวิศวกรรม จนในที่สุดพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 จึงได้เกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542

องค์ประกอบของสภาวิศวกร[แก้]

  1. สมาชิกสภาวิศวกรแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญและสมาชิกกิตติมศักดิ์ซึ่งสมาชิกเหล่านี้จะเป็นผู้อนุมัตินโยบายการบริหารงานของคณะกรรมการสภาวิศวกรในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี
  2. คณะกรรมการสภาวิศวกร จำนวน 20 คน มาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิกสภาวิศวกร15 คน (เป็นผู้ประกอบวิชาชีพ 10 คน เป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษา 5 คน) กรรมการสภาวิศวกรอีก 5 คน มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีจากการเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรรมการสภาวิศวกรมีหน้าที่ออกใบอนุญาตฯ รับรองปริญญาฯ รับรองความรู้ความชำนาญพิเศษ และออกข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ
  3. คณะกรรมการจรรยาบรรณ มาจากการแต่งตั้งตามมติของที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกรมีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่มีการกล่าวหา ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
  4. คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และผู้ชำนาญพิเศษมาจากการแต่งตั้งของที่ประชุมกรรมการสภาวิศวกรมีหน้าที่ตามที่กรรมการสภาวิศวกรกำหนด
  5. ผู้ตรวจสภาวิศวกร ที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกรแต่งตั้งจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอกวิศวกร มีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการสภาวิศวกรแล้วทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สภาวิศวกร
  6. สำนักงานสภาวิศวกร ประกอบด้วยงาน 6 ฝ่าย คือ
    1. ฝ่ายทะเบียนและใบอนุญาต
    2. ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพวิศวกรรม
    3. ฝ่ายบริหาร ประชาสัมพันธ์
    4. ฝ่ายการเงิน บัญชี งบประมาณและการพัสดุ
    5. ฝ่ายกฎหมายและจรรยาบรรณ
    6. ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ

สำนักงานสภาวิศวกรมีหัวหน้าสำนักงานสภาวิศวกรบริหารงานภายใต้การกำกับดูแลของเลขาธิการสภาวิศวกร

ที่ตั้ง[แก้]

ที่ทำการสำนักงาน สภาวิศวกร 1616/1 ถนนลาดพร้าว แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10310

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

สภาวิศวกร