ระบบพิกัดสุริยวิถี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ระบบพิกัดสุริยวิถีซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่โลกเมื่อมองจากด้านนอกของทรงกลมท้องฟ้า มุมสีแดงคือลองจิจูดสุริยวิถี ซึ่งวัดจากจุดวสันตวิษุวัต และมุมสีเหลืองคือละติจูดสุริยวิถี วัดจากระนาบสุริยวิถี เส้นสีเหลืองคือสุริยวิถี ส่วนเส้นสีแดงคือเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า

ระบบพิกัดสุริยวิถี (ecliptic coordinate system) เป็นระบบพิกัดทรงกลมท้องฟ้ารูปแบบหนึ่งสำหรับแสดงตำแหน่งของวัตถุทางดาราศาสตร์บนทรงกลมท้องฟ้า โดยยืนพื้นตามแนวสุริยวิถี

ภาพรวม[แก้]

ระบบพิกัดสุริยวิถีใช้ ละติจูดสุริยวิถี (β) และลองจิจูดสุริยวิถี (λ) บนทรงกลมท้องฟ้า ในทำนองเดียวกันกับที่ใช้ละติจูดและลองจิจูดแสดงตำแหน่งพิกัดบนพื้นโลก

ละติจูดสุริยวิถีจะมีค่าเป็น 0 องศาที่ระนาบสุริยวิถี (หรือก็คือระนาบการโคจรของโลก) และจะมีค่าเป็น 90 องศาเมื่ออยู่ในทิศทางตั้งฉากกับสุริยวิถี ค่าจะเป็น + ในด้านที่มองเห็นการโคจรของโลกปรากฏเป็นทวนเข็มนาฬิกา และจะเป็น - ถ้าเห็นเป็นตามเข็มนาฬิกา ตำแหน่งที่ละติจูดสุริยวิถีอยู่ที่ +90 องศาเรียกว่า ขั้วสุริยวิถีเหนือ และตำแหน่งที่ละติจูดสุริยวิถีอยู่ที่ -90 องศาเรียกว่า ขั้วสุริยวิถีใต้ ขั้วสุริยวิถีเหนืออยู่ในกลุ่มดาวมังกร (ใกล้กับเนบิวลาตาแมว) และขั้วสุริยวิถีใต้อยู่ในกลุ่มดาวปลากระโทงแทง

การเคลื่อนที่ของขั้วท้องฟ้าเหนือ และขั้วท้องฟ้าใต้เนื่องจากการหมุนควงของโลกบนทรงกลมท้องฟ้าสามารถมองได้ว่าเป็นการเคลื่อนที่วงกลมโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ขั้วสุริยวิถีเหนือและขั้วสุริยวิถีใต้[1][2]

ลองจิจูดสุริยวิถีเริ่มต้นที่ 0 องศาที่จุดวสันตวิษุวัต และค่าเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับการเคลื่อนที่ปรากฏของดวงอาทิตย์บนสุริยวิถี โดยนับถึง 360 องศาเมื่อกลับเข้าสู่จุดวสันตวิษุวัตอีกครั้ง ดังนั้นจุดครีษมายันอยู่ที่ลองจิจูดสุริยวิถี 90 องศา ส่วนจุดศารทวิษุวัตอยู่ที่ 180 องศา และจุดเหมายันคือ 270 องศา เมื่อการหมุนควงของโลกทำให้ตำแหน่งของจุดวสันตวิษุวัตเคลื่อนไปตามสุริยวิถี ค่าของลองจิจูดสุริยวิถีจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

ระบบพิกัดสุริยวิถีเป็นพิกัดสัมพัทธ์กับระนาบการหมุนรอบดวงอาทิตย์ของโลก ดังนั้นจึงมักใช้เพื่อแสดงการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้าในระบบสุริยะ

ศูนย์กลางของระบบพิกัด[แก้]

ศูนย์กลางของระบบพิกัดสุริยวิถีอาจอยู่ที่โลกหรือที่ดวงอาทิตย์ก็ได้[3] ระบบพิกัดสุริยวิถีเมื่อมองจากบนโลกเรียกว่าระบบพิกัดสุริยวิถีแบบโลกเป็นศูนย์กลาง (geocentric) และพิกัดสุริยวิถีเมื่อมองจากดวงอาทิตย์เรียกว่า ระบบพิกัดสุริยวิถีแบบดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง (heliocentric)

พิกัดสุริยวิถีของวัตถุท้องฟ้าที่เห็นจากพื้นโลกและพิกัดสุริยวิถีของวัตถุท้องฟ้าที่เห็นจากดวงอาทิตย์จะมีความต่างกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่นในกรณีของจันทร์แรม ดวงจันทร์ในข้างแรมนั้นจะอยู่ในตำแหน่งระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ แต่ตำแหน่งที่ของดวงจันทร์บนทรงกลมท้องฟ้าเมื่อมองจากโลกและตำแหน่งของดวงจันทร์บนทรงกลมท้องฟ้าเมื่อมองจากดวงอาทิตย์นั้นจะอยู่ตรงข้ามกัน 180 องศา

ดังนั้นแล้ว เมื่อแสดงวัตถุท้องฟ้าในระบบสุริยะด้วยพิกัดสุริยวิถี จึงจำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนว่าพิกัดสุริยวิถีมองจากโลกหรือดวงอาทิตย์ ระบบพิกัดสุริยวิถีแบบโลกเป็นศูนย์กลางมักใช้เพื่ออธิบายตำแหน่งของดาวเทียมที่โคจรรอบโลก ในขณะที่พิกัดสุริยวิถีแบบดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางมักใช้เพื่ออธิบายตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้าเช่นดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง รวมถึงดาวเคราะห์เทียม ที่หมุนรอบดวงอาทิตย์

อ้างอิง[แก้]

  1. Explanatory Supplement (1961), pp. 20, 28
  2. U.S. Naval Observatory, Nautical Almanac Office (1992). P. Kenneth Seidelmann (บ.ก.). Explanatory Supplement to the Astronomical Almanac. University Science Books, Mill Valley, CA (reprint 2005). pp. 11–13. ISBN 1-891389-45-9.
  3. Nautical Almanac Office, U.S. Naval Observatory; H.M. Nautical Almanac Office, Royal Greenwich Observatory (1961). Explanatory Supplement to the Astronomical Ephemeris and the American Ephemeris and Nautical Almanac. H.M. Stationery Office, London (reprint 1974). pp. 24–27.