ขัฏวางคะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขัฏวางคะศิลปะจีน แกสลักจากงาช้าง อายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 สมบัติของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน

ขัฏวางคะ (สันสกฤต: खट्वाङ्ग; khaṭvāṅga; ขฏฺวางฺค) คือตะบองยาวปลายแหลมที่ในอดีตใช้เป็นอาวุธ และต่อมากลายมาเป็นสัญลักษณ์ในทางศาสนาของศาสนาอินเดียโดยเฉพาะในลัทธิไศวะและต่อมาพุทธศาสนาแบบวัชรยานได้รับไว้เป็นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรม

ผู้นับถือลัทธิไศวะมักถือขัฏวางคะในฐานะอาวุธประเภทไม้ บางครั้งจึงเรียกคนเหล่านี้ว่า "ขัฏวางคี" นักวิชาการรอเบิร์ท เบียร์ (Robert Beer) ระบุว่า "ในศาสนาฮินดู ขัฏวางคะเป็นสัญลักษณ์และอาวุธของพระศิวะ และมีการบรรยายไว้หลายแบบ ทั้งว่าเป็นตะบองหรือเป็นตรีศูลที่ยอดเป็นรูปกะโหลกหรือมีกะโหลกปักอยู่ข้างบน"[1]

ขัฏวางคะในพุทธศาสนามีที่มาจากตะบองที่ใช้ในกลุ่มกปาลิกา หรือพวกนักพรตในลัทธิไศวะ กปาลิกาเดิมทีหมายถึงคนต้องโทษจากการสังหารพราหมณ์โดยไม่ได้ตั้งใจ และต้องถูกลงโทษเป็นเวลา 12 ปี ให้ถือคฑาที่มีกะโหลกของพราหมณ์ที่ตนสังหารปักอยู่ ("ขัฏวางคะ") และให้มีกะโหลกมนุษย์ใช้เป็นบาตร รวมถึงต้องถูกเนรเทศไปอาศัยในกระท่อมกลางป่า, "ทางแพร่งที่ห่างไกล" (desolate crossroads), ในป่าช้า (charnel ground) และต้องดำรงชีพด้วยการเป็นขอทาน ปฏิบัติตนเยี่ยงสมณะ[2] ในพุทธศาสนาสายวัชรยาน โดยเฉพาะในสายญิงมาของคุรุปัทมสมภพ ลักษณะเหล่านี้ของกปาลิกาในฐานะผู้ที่มีขัฏวางคะปักกะโหลกของพราหมณ์ที่ตนสังหารพกติดตัวไปด้วย และต้องบำเพ็ญพรตอยู่ตามป่าช้าหรือ "ทางแพร่ง" (ในทางสัญลักษณ์อาจสื่อถึงทางแยกระหว่างโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณ) ถูกนำมาใช้ในฐานะสัญลักษณ์ของตันตระฝ่ายซ้าย ("left-handed path" หรือ วามาจาร)[2]

นอกจากนี้ ในการตีความอีกแบบหนึ่ง กะโหลกสามกะโหลกที่ปักบนขัฏวางคะ เป็นสัญลักษณ์แทนโมกษะหรือการหลุดพ้นจากโลกทั้งสาม (ไตรโลกยะ) ส่วนผ้าหลากสีที่มัดบนขัฏวางคะเป็นสัญลักษณ์ถึงแสงบริสุทธิ์ทั้งห้าของมหาภูตะ

อ้างอิง[แก้]

  1. Robert Beer (1999). The Encyclopedia of Tibetan Symbols and Motifs. Serindia Publications. p. 250. ISBN 9780906026489.
  2. 2.0 2.1 Beer, Robert (2003). The handbook of Tibetan Buddhist symbols. Serindia Publications. p. 102. ISBN 1-932476-03-2. สืบค้นเมื่อ February 3, 2010.